โฆษก ศบค. ชี้แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ

22 ก.ค. 63 เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้รายงานการตรวจตัวอย่าง COVID-19 ในกรณีสอบสวนโรคเพิ่มเติม จังหวัดระยองและกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,207 ราย ทุกรายตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสองจังหวัดนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้และต้องมีมาตรการอย่างละเอียดเพื่อที่จะดูแลกันต่อไป
สถานการณ์ประจำวันในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 6 ราย อยู่ที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้มีผู้ป่วยรวม 3,261 ราย หายป่วยแล้ว 3,105 ราย เสียชีวิตคงเดิมที่ 58 ราย พักรักษาตัวในโรงพยาบาล 98 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่ 15,093,712 ราย สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 4,028,569 ราย ซึ่งแตะ 4 ล้านรายเป็นวันแรก ผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลก 619,467 ราย โดยไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่อันดับที่ 103 ของโลก
ด้านความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีน ในการร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนให้โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์พัฒนาต่อยอดการผลิตวัคซีน โดยที่ประชุมได้อนุมัติหลักการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนโดยเร็ว เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขต่อไป
โฆษก ศบค. รายงานว่า ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีการระบาดที่รุนแรง อีกทั้งมีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีการอนุญาตชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม


นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายภายในประเทศที่ดำเนินการอยู่ เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ โดย
1. จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3) มาตรการการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง
2. จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
3. อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต
กรณีการเดินทางภายใต้ข้อตกลงพิเศษ (Special Arrestment) และมาตรการสำหรับบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูต ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะต้องกักตัว 14 วัน
การพิจารณาแนวทางมาตรการหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ สำหรับการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาในประเทศ โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอให้มี Organizational Quarantine ที่หน่วยงานจัดพื้นที่เพื่อให้แรงงานได้ทำการกักตัว 14 วัน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนต่าง ๆ อาจจะให้ทำการกักตัวอย่างน้อยห้องละสองคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการตรวจตามมาตรฐาน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายมั่นคง
การพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ซึ่งจะมี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร ได้มีการเสนอถึงแนวปฏิบัติในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำหรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ก่อนเข้ามาในราชอาณาจักร การกำกับดูแลเมื่อเข้ามาแล้ว โดยมีการหารือในรายละเอียด ซึ่งที่ประชุมได้รับในหลักการ รับฟังข้อเสนอและมีการพิจารณาร่วมกันเป็นอย่างดีให้เห็นภาพของการควบคุมดูแล โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจะเป็นผู้ให้ข่าวในรายละเอียดต่อไป
ด้านการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ ในแต่ละปีมีภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำมากมาย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงเรื่อง Medical and Wellness โปรแกรมแพ็คเกจทัวร์ที่เชื่อมโยงเข้าไป เพื่อให้ผู้มีศักยภาพได้เข้ามาทำการรักษาได้เที่ยวต่อหลังจากอยู่ รพ. แล้ว 14 วัน และเรื่องผู้ถือบัตร Thailand Elite Card มีสมาชิก 10,363 ราย อยู่ในไทย 3,108 ราย นอกราชอาณาจักร 7,255 ราย
โดยมีกลุ่มที่จะนำร่องให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรอยู่จำนวน 200 ราย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอในข้อปฏิบัติต่าง ๆ และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ได้รับทราบและอนุมัติในหลักการให้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดทำรายละเอียดต่อไป

Written By
More from pp
“อีโต้อีสาน” ตะเพิด “แรมโบ้” ไปถาม “ประยุทธ์” ก่อน รู้จักประชาธิปไตยไหม? เหิมป้ายสี “ทักษิณ” แต่ลืมส่องกระจกดูลูกพี่เผด็จการ
“อีโต้อีสาน” ตะเพิด “แรมโบ้” ไปถาม “ประยุทธ์” ก่อน รู้จักประชาธิปไตยไหม? เหิมป้ายสี “ทักษิณ” แต่ลืมส่องกระจกดูลูกพี่เผด็จการ ชี้ “ประยุทธ์”...
Read More
0 replies on “โฆษก ศบค. ชี้แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ”