นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal

29 มิ.ย.63 เวลา 12.20 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุม  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. เผยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal หรือการทำงานในชีวิตวิถีใหม่  รับฟังผู้ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนโบราณ ศิลปินนักร้อง ห้างสรรพสินค้า ร้านเกม เพื่อนำสู่กระบวนการการพิจารณาตัดสินใจแนวทางต่างๆ
โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ที่เชื่อมโยงกับโควิด-19  นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดัน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. ส่งเสริมอาเซียนให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง 2. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน 3. สร้างภูมิคุ้มกันอาเซียนในระยะยาว ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นแก้ไขปัญหาในกลุ่มเปราะบาง นโยบายในการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการทำวิจัยพัฒนาวัคซีน การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เร่งกลั่นกรองแผนงานและเสริมโอกาส และศักยภาพไทยหลังภาวะวิกฤติโควิด-19  อันได้แก่ Medical Hub การเป็นแหล่งอาหารของโรค และการท่องเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ
โฆษก ศบค. เผยรายละเอียดร่างมาตรการการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ดังนี้
1. การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ให้เปิดดำเนินการได้โดยได้รับอนุญาตจากต้นสังกัด โดยลงทะเบียน ยืนยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดไว้ และให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมถึงให้ส่วนราชการหน่วยงานต้นสังกัด/หน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินความพร้อมของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ก่อนเปิดการศึกษา/ดำเนินการ
2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เวลาเปิด/ปิดการดำเนินกิจการได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยที่ประชุมมีความคิดเห็นว่า ศูนย์การค้าควรปิดเวลา 22.00 น. และร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง
3. สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เช่น โรงเบียร์ โรงเหล้า ลานเบียร์ Pub & Restaurant ให้บริการได้ถึง 24.00 น. ทุกกรณี โดยให้มีระยะนั่ง/ยืน 1 ม. จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม./คน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น ระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 ม. หรือมีฉากกั้นสูงไม่ต่ำกว่า 1.5 ม. โดยให้มีระบบระบายอากาศ และระบบหมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะส่วนบุคคล รวมถึงให้ทุกคนลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณารายละเอียดบทลงโทษ สำหรับกรณีพบสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดการติดเชื้อ
4. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี สามารถใช้บริการได้วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 14.00 – 20.00 น. และวันหยุด เวลา 10.00 น. – 20.00 น. อายุ 15-18 ปี สามารถใช้บริการได้วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 – 22.00 น. และวันหยุด 10.00 – 22.00 น. และอายุ มากกว่า 18 ปี สามารถใช้ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ในเกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม./คน และให้เว้นระยะห่าง นั่ง/ยืน/ทางเดิน ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร รวมถึงจำกัดเวลาให้บริการในระบบ 2 ชม./รอบ เพื่อพักทำความสะอาด 15 นาที
5. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา จะต้องมีใบอนุญาตสถานบริการถูกกฎหมาย โดยทุกคนจะต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือจดบันทึกรายงานแทนได้ และต้องสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย/Face Shield ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ ให้ทำความสะอาดห้อง/อ่างอาบน้ำ ห้องสุขา พื้นผิวสัมผัสร่วมบ่อยๆ ก่อน-หลังบริการแต่ละครั้ง โดยให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรคอื่นด้วย โดยอาจพิจารณาให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้าน
โดยต้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้มีการลงทะเบียนกิจการและกิจกรรม โดยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ก่อนผ่อนคลายกิจการและกิจกรรม เพื่อวางแผน กำกับ ติดตามของหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 2. ทุกกิจการและกิจกรรม จัดลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการตรวจประเมิน 3. มาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ
4. พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. รายงานผลการตรวจประเมิน ติดตาม กำกับ ตามมาตรการควบคุมหลัก ให้ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด  ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานให้ ศบค. ทราบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เพิ่มอีก 1 เดือน โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้  นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเพิ่มจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม 9 แห่ง ดังนี้  จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย จ.หนองคาย  จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อ.ปากขม จ.เลย  การผ่อนปรนเปิดช่องทาง/ท่าข้ามธรรมชาติ ตลอดแนวชายแดนไทย – เมียนมา จ.ตาก
จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน  จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย  จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี กรณีนำเข้ามันสำปะหลัง  จุดผ่านแดนถาวรปาดังเบซาร์และจุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านประกอบ จ.สงขลา  จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์ และจุดผ่านแดนถาวร บ้านพุน้ำร้อน อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี
สำหรับมาตรกรผ่อนคลายสำหรับผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักร ในการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเพิ่มบุคคล 6 กลุ่ม ดังนี้
1. คู่สมรส และบุตรของผู้มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักรไทย 2. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีถิ่นฐานที่อยู่ในราชอาณาจักร 3. คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย 4. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตาม
5. นักเรียน นักศึกษาต่างชาติและผู้ปกครอง 6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย เช่น นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค โดยกำหนดโควตาที่สอดคล้องกับจำนวน ASQ และการเจรจากับประเทศที่ทำความตกลงพิเศษ (ในขั้นตอนอาจกำหนดจำนวนรวม 200 คนต่อวัน)
ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง เกณฑ์พิจารณาคือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย ควบคุมการระบาดได้ดีใกล้เคียงกับไทย มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมและความสนใจทำความตกลง  โดยมี 2 รูปแบบในการเข้ามา ได้แก่ Normal Track ได้แก่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน ให้เข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (ASQ) 14 วัน (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) บุคคลเข้าข่าย ได้แก่ ชาวต่างชาติภายใต้ข้อ 3 (5) ของข้อกำหนดฯ เดิม และชาวต่างชาติในกลุ่มที่มีการตกลงกับประเทศเป้าหมายตามโควตาที่เห็นชอบร่วมกัน
และ Fast Track ได้แก่นักธุรกิจ/ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย  เดินทางมาจากประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) เข้ามาระยะสั้น (ต่ำกว่า 14 วัน) ให้ร่นระยะเวลาการกักตัว และเงื่อนไขบางอย่างเข้มงวดมากกว่าการเข้าประเทศแบบ Normal Track เช่น การตรวจ Double Negative ติดตั้ง Application มีการกำหนดการเดินทางชัดเจน


ทั้งนี้ การเดินทางของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และยังรอการเดินทาง ให้เดินทางพร้อมกับคนไทยในเที่ยวบินที่นำคนไทยกลับจากต่างประเทศ (Repatriation) และกลุ่มที่ 2 ผู้ที่กำลังจะขออนุมัติการเดินทาง ให้ผู้ที่มีใบอนุญาตทำงาน/ตท. 3 จากกระทรวงแรงงาน ใบอนุญาต BOI สามารถขอรับหนังสือรับรองการเดินทางจาก สอท./สกญ. โดยตรง ให้กระทรวงแรงงาน/BOI อนุมัติการออกเอกสารการอนุญาตให้เข้ามาทำงานที่ไทยได้
โดยให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุญาตเที่ยวบิน Cargo หรือ Repatriation รับผู้ที่เข้าข่าย 3 (5) เดินทางเข้าไทยได้ และอนุญาตให้คู่สมรสและบุตรของผู้เข้าข่าย 3 (5) เข้าประเทศได้ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการรองรับการเดินทางของแขกของรัฐบาล ได้แก่
1. เป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน 2. เป็นการเดินทางระยะสั้น 3. มีการตรวจรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย (Double Negative) 4. ให้หน่วยราชการที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูง พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะในลักษณะ Liaison Officer (LO) ติดตาม 5. มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงติดตามประจำคณะด้วย และ 6. ต้องจำกัดการเดินทางเฉพาะกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ห้ามคณะเดินทางไปในที่สวนสาธารณะและห้ามใช้ขนส่งมวลชน
ช่วงท้าย โฆษก ศบค. ยังเผยว่ากระทรวงการคมนาคมขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด การเว้นที่นั่งในบริการขนส่งสาธารณะ โดยให้มีการใส่หน้ากากผ้าหน้า กากอนามัย ตลอดเวลา และให้มีการเว้นระยะห่างในการยืน ซึ่งจะรักษาความหาแน่นสูงสุดที่ร้อยละ 70 ด้วย

Written By
More from pp
“อนุชา” ย้ำ โครงการ “โคล้านครอบครัว” สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
17 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ “โคล้านครอบครัว” ว่า
Read More
0 replies on “นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal”