ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช พัฒนายารักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงเพื่อผู้ป่วยโควิด-19

“การวิจัยทางคลินิก” เป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในคนว่า ยา วัคซีน หรือวิธีการรักษา ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น มีผลในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย และต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพียงใด โดยมีเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาผู้ป่วย

ศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการวิจัยทางคลินิกโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยยาและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานการรักษาของประเทศ เช่น การวิจัยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยารักษาโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ยาขับเหล็ก ยารักษาโรคมะเร็ง
ล่าสุด ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช เตรียมทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งทั้ง 3 งานวิจัยได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในคนเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ
  1. งานวิจัยเพื่อศึกษาการใช้ยาคลอโรควิน (chloroquine) ในสมาชิกที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยให้รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์
  2. การศึกษาวิจัยการปฏิบัติตัวและใช้ PPE ของบุคลากรทางการแพทย์ว่า สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ อาสาสมัครคือบุคลากรในโรงพยาบาลศิริราชจำนวน 360 คน   นอกจากตรวจภูมิคุ้มกันอาสาสมัคร 4 ครั้งแล้ว ยังศึกษาถึงระดับเซลล์อย่างลึกซึ้ง ดูว่าร่างกายคนเราตอบสนองต่อไวรัสอย่างไร เพื่อศึกษาหากลไกในการต่อต้านไวรัส ผลการศึกษาอาจนำไปสู่การป้องกันและรักษา รวมทั้งใช้ในการศึกษาวัคซีนต่อไป
  3. งานวิจัยระดับนานาชาติ ด้วยความร่วมมือกับญี่ปุ่น (NCGM) ในการใช้ยา ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รักษาคนไข้ ในช่วงที่ผ่านมามีการนำยา ฟาวิพิราเวียร์ ใช้รักษาคนไข้แล้ว แต่ข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิกยังมีจำกัด แม้จะมีการตีพิมพ์ลงวารสารทางวิชาการบ้างแล้ว แต่การทดลองยังอยู่ในขอบข่ายที่เล็ก ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะมั่นใจทั้งในแง่ขนาดของยา และประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยในระยะต่าง ๆ หลายประเทศกำลังทำการทดลองอยู่ แต่ศูนย์วิจัยคลินิกทำการทดลองที่แตกต่างออกไป เป็นการให้ยาเร็ว เพื่อรักษา ไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง และหายป่วยเร็วขึ้น

ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ จะใช้ในคนไข้อาการหนัก และมีอาการปอดบวมร่วมด้วย งานวิจัยที่กำลังศึกษา จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่อาการยังไม่มาก เป็นการชะลออาการผู้ป่วยไม่ให้เข้าสู่ภาวะอาการหนัก

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยทั้ง 3 โครงการของ SICRES  มีความสำคัญมาก เพราะผลลัพธ์จากการศึกษาวิจัยจะสามารถนำไปใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคได้อย่างดี อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของงานวิจัยทางคลินิก และขอให้ร่วมภาคภูมิใจกับการเป็นอาสาสมัครงานวิจัยทางคลินิก ที่ได้สร้างคุณงามความดีต่อสังคมส่วนรวม งานวิจัยที่ดีต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์จากงานวิจัยมีผลโดยตรงต่อการรักษาที่ดีขึ้นของคนไข้นับร้อยนับพันล้านคน โดยเป้าหมายสูงสุดของงานวิจัยก็เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและผู้ป่วยทุกชาติภาษา พร้อมขอแรงสนับสนุนจากคนไทยร่วมบริจาคเพื่อเอาชนะโควิด-19 ให้ได้

“บุคลากรและอาจารย์หมอศิริราชหลายท่านเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก อาทิ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ, รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์, รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ ผช.คณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ เป็นต้น”

สำหรับผู้สนใจ สามารถร่วมสมทบทุนต่อยอดงานวิจัยต้านภัยโควิด ได้ที่ “กองทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วยสำหรับสนับสนุนงานวิจัยเพื่อลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ศิริราช” ธนาคารกรุงเทพ สาขา รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 901-7-06257-2 ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ ทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย D004015 สอบถามรายละเอียด โทร. 02-419-7658-60 ต่อ 101-104  หรือ [email protected]

Written By
More from pp
“ทิพานัน” ย้อนแสบเพื่อไทย  “ทักษิณ” อดีตหลอกคนไทยจนปังปัจจุบันพังพินาศ ทั้งหลบหนีคดี-โกงชาติ-คอร์รัปชัน-ขโมยประโยชน์ชาติเข้าตระกูลตัวเอง เป็นพฤติกรรมที่สังคมโลกรังเกียจ  
“ทิพานัน” ย้อนแสบเพื่อไทย  “ทักษิณ” อดีตหลอกคนไทยจนปังปัจจุบันพังพินาศ ทั้งหลบหนีคดี-โกงชาติ-คอร์รัปชัน-ขโมยประโยชน์ชาติเข้าตระกูลตัวเอง เป็นพฤติกรรมที่สังคมโลกรังเกียจ
Read More
0 replies on “ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช พัฒนายารักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงเพื่อผู้ป่วยโควิด-19”