ดีอีเอส ผนึก กสทช.-ไอเอสพี สั่งลุยเว็บผิด กม. เปิดช่องทางให้ ปชช. แจ้งเบาะแส

กระทรวงดิจิทัลฯ แถลงผลการดำเนินงานร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทำงานเชิงรุกเดินหน้านโยบายเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางออนไลน์ เปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” และสายด่วน 02-141 6747  รับแจ้งข้อมูลเว็บไซต์ผิดกฎหมายจากประชาชน เผยรอบ 7 เดือนแรกปีนี้ ลุยปิดเว็บตามคำสั่งศาลไปแล้ว 7,164 ยูอาร์แอล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 เป็นการแถลงผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ถึงมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่อง “การกระทำความผิดทางออนไลน์ ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” โดยในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล (ขัอมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.2563) จากจำนวนที่กระทรวงฯ ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล

สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับบก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

“ผมในฐานะ รมว.ดิจิทัลฯ ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีขั้นตอน เริ่มจากรับแจ้งเว็บไซต์จากประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานพยานที่ครบถ้วน และมีขั้นตอนของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหรือลบข้อมูลต่อไป จากนั้นขั้นตอนสำคัญคือ หากได้คำสั่งศาลก็จะมีการส่งให้กับผู้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และส่งคำสั่งศาลให้กับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก /ยูทูบ /ทวิตเตอร์) เพื่อดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อไป โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับไอเอสพี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ลดลง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

พร้อมกันนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เห็นความสำคัญว่าต้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ที่มีการกระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์ หรือผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ล่าสุดจึงได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก “อาสา จับตา ออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชม. และพิจารณาตามข้อกฎหมายและตอบกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-6747

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือทางออนไลน์ คือ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560” ซึ่งมีบทบัญญัติที่มีการกำหนดความผิดและกำหนดโทษทางอาญา สำหรับการเผยแพร่ หรือสร้างข่าวปลอมในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในมาตรา 14 มาตร 15 และมาตรา 16  ที่บัญญัติถึงการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา 14


มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

โดยที่ผ่านมา ได้มีการใช้มาตรา 14 และมาตรา 15  และมาตรา 16 จัดการกับปัญหา ผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาแล้วหลายคดี เช่น การกดแชร์ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเจตนาทำให้ผู้อื่นนั้นเสียหายก็มีความผิดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีข้อสังเกตบางประการว่ากฎหมายไทยก็ยังไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการลบหรือสั่งให้ลบ หรือจัดการกับข้อมูลอันเป็นเท็จนั้นๆ เหมือนกฎหมายในต่างประเทศ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14 และ 15 กับความผิดในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดลักษณะหมิ่นประมาท มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็บังคับใช้กับกรณีที่ต่างกัน โดยความผิดใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จะครอบคลุมถึงเพียงการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ไม่รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นจริง แต่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายบุคคลอื่นแต่อย่างใด ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นจะรวมถึงการใช้ข้อมูลที่เป็นความจริงและเท็จอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

และที่สำคัญเมื่อส่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามมาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่น และความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งเรื่องของข่าวปลอมโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อธำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของประชาชนทุกคน โดยเราจะมุ่งเน้นไปยังข่าวปลอม เฉพาะที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนในวงกว้าง แต่จะไม่เข้าไปจัดการกับข่าวที่เพียงกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ รมว.ดิจิทัลฯ ยังกล่าวฝากข้อห่วงใยเรื่องที่ห้ามทำ ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่ 1. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ชอบ 2. แก้ไข ดัดแปลง หรือทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหาย 3.  ส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น หรือส่งอีเมล์สแปม 4. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลทางด้านความมั่นคงโดยมิชอบ

5. จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด 6. ข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 7. ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจกับผู้ร่วมกระทำความผิด 8. ตัดต่อเติม หรือดัดแปลงภาพ 9. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชน ต้องกระทำโดยปกปิดไม่ให้ทราบตัวตน 10. เผยแพร่เนื้อหาลามก อนาจาร 11. กด Like & Share ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล 12. แสดงความคิดเห็นที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  และ 13. ละเมิดลิขสิทธิ์ นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

Written By
More from pp
OAKLEY WELCOMES YEAR OF THE RABBIT 2023
OAKLEY ต้อนรับปีกระต่าย 2023 ด้วยแว่นตาคอลเลกชั่นพิเศษสำหรับเทศกาลตรุษจีน
Read More
0 replies on “ดีอีเอส ผนึก กสทช.-ไอเอสพี สั่งลุยเว็บผิด กม. เปิดช่องทางให้ ปชช. แจ้งเบาะแส”