ดีอีเอส ชี้สรุป “ข่าวบิดเบือน” ค่าตอบแทน อสม. ยึดตามผลตรวจสอบของหน่วยงานเจ้าของเรื่องทุกประการ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยันข้อสรุป “ข่าวบิดเบือน” กรณี อสม. พิษณุโลกไม่ได้รับค่าตอบแทนการคัดกรองโควิด-19 ตามที่กำหนดไว้ ยึดตามที่ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก กรมอนามัย ระบุไว้ในเอกสารการรายงานการตรวจสอบข่าวปลอม

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า กรณีมีข้อทักท้วงเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เกี่ยวกับข่าวที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์เรื่อง “ลือ!!  อสม.ใน จ.พิษณุโลก ไม่ได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวน 240 บาท ตามที่กำหนดไว้” ว่าเป็น “ข่าวบิดเบือน” ขอย้ำว่า ข้อสรุปดังกล่าวเป็นการยืนยันให้ข้อเท็จจริง และประสงค์จะให้เผยแพร่หรือไม่นั้นหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้แจ้งข้อเท็จจริงและความประสงค์กลับมาให้ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็จะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

โดยหลังจากศูนย์ฯ ได้รับแจ้งเบาะแสข่าวจากประชาชนในประเด็นดังกล่าว จึงได้ประสานงานไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตามกระบวนการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวนี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 พ.ค. 63 และได้รับข้อมูลคำชี้แจงตอบกลับมาเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เวลา 11.08 น. โดยอ้างอิงตามเอกสารแบบฟอร์มการรายงานการตรวจสอบข่าวปลอม จากศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก กรมอนามัย หัวข้อประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง  : จ.พิษณุโลก ทุจริตเงินค่าตอบแทนการคัดกรองโควิด-19 ของอสม. โดยมีข้อสรุปว่า

“ข่าวบิดเบือน”

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว เป็นแบบฟอร์มรายงานข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบว่า “ผลการตรวจสอบกับ อสม. ในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลค่อนข้างสอดคล้องว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงตามที่แจ้ง อสม.ไว้ตอนแรกได้ ทำให้ อสม. ไม่เข้าใจว่าเหตุใดไม่ได้เต็มตามจำนวน วันก่อนมีการประชุมที่ สสจ. มีการแจ้งเหตุผลว่าจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานใน 1 วันไม่ถึงตามระเบียบจึงเบิกจ่ายได้แค่ครึ่งวัน ที่เป็นเหตุเนื่องจาก อสม. ระบุว่าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการออกปฏิบัติหน้าที่เอง แต่เมื่อพบว่าเบิกจ่ายให้ได้เบี้ยเลี้ยงเพียงครึ่งเดียว จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ตามข่าวด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 พ.ค.63 ผวจ.พล. แจ้งในเพจส่วนตัวว่า สามารถเบิกจ่ายให้ได้แล้วโดยอาศัยตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค.0402.4/19207 ลว. 30 เม.ย.2563 และจากการประสานไปยังกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) การจะขอเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่กำหนดจ่ายให้ อปพร. หรือ อสม. โดยจังหวัดสามารถเบิกจ่ายได้แต่ต้องขอยกเว้นการปฏิบัตินอกเหนือระเบียบกระทรวงการคลังฯ ไปยัง ปภ. เพื่อให้การขออนุมัติเป็นไปด้วยความถูกต้อง และให้มีการจัดส่งเอกสารสำคัญของผู้ที่จะขอเบิกให้ครบถ้วนและมีการลงนามรับรองผลการปฏิบัติงานประกอบการขอเบิกจ่าย ตามความเป็นจริง ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายของทางราชการ” และมีความชัดเจนในการแจ้งสรุปเป็น “ข่าวบิดเบือน” และแจ้งความประสงค์ “ต้องการเผยแพร่” พร้อมลงชื่อผู้รายงานจากศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก กรมอนามัย ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและข้อสรุป ตามที่หน่วยงานแจ้งมา ตามช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 พ.ค.63 เวลา 17.43 น.

ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับการติดต่อ/ประสานงานจากต้นสังกัด ขอให้งดเผยแพร่ข่าวบิดเบือนเรื่องดังกล่าวออกจากเพจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก่อน และแจ้งว่าทางศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก จะเป็นผู้ชี้แจงข่าวกรณีมีการนำเสนอข่าว อสม. ไม่ได้รับค่าตอบแทนในพื้นที่ เพื่อให้สาธารณะรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป

นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ขอให้มีความมั่นใจการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเรายึดหลักการเป็นสำคัญ มีการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามบทบาทและภารกิจ โดยข้อเท็จจริงที่เผยแพร่ไปนั้นได้ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการจากหน่วยงานเครือข่ายที่เป็นผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น และเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินงานทุกประการ โดยไม่มีเจตนาทำให้หน่วยงานใดได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และขอยืนยันอีกครั้งว่า ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการด้วยความละเอียด รอบคอบ และคำนึงถึงมาตรฐานหลักการของกระบวนการตรวจสอบความจริงต่อไป

Written By
More from pp
ถอดรหัส “DITTO” รุกธุรกิจ “Carbon Credit”
โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปิดให้เอกชน ขออนุญาตดูแลรักษาป่าเป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
Read More
0 replies on “ดีอีเอส ชี้สรุป “ข่าวบิดเบือน” ค่าตอบแทน อสม. ยึดตามผลตรวจสอบของหน่วยงานเจ้าของเรื่องทุกประการ”