แล้ว “ทอน” จะรู้ว่าผิดอะไร

 ผักกาดหอม

ผมผิดอะไร?………..
ฟัง “ทอน” แถลงข่าวก็ได้ข้อสรุป
ไม่ใช่เรื่อง “อยู่เป็น” หรือ “อยู่ไม่เป็น” แล้วล่ะ
อยู่ไปก็ไลฟ์บอยซะมากกว่า
ถ้าวันนี้ “ทอน” ไม่ใช่นักการเมือง จะเป็นไอ้เบื๊อก สากกะเบืออะไรก็แล้วแต่….ยังพออภัยได้
แต่ “ทอน” เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นบุคคลที่กฎหมายสามารถเข้าไปตรวจสอบโดยอัตโนมัติ กลับไร้สปิริตในความเป็นนักการเมืองอย่างสิ้นเชิง
เอาแต่สำรอกเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ
ในดีเอ็นเอของนายคนนี้ เต็มไปด้วย ความเป็นเผด็จการ
เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูแบบ “ฮ่องเต้ซินโดรม”
“สตรอว์เบอร์รีเจเนอเรชัน”
รักเกินรัก เกลียดเกินเกลียด ทางออกคือทำลาย
มาดูคำแถลงของ “ทอน”
———————–
ประเด็นที่ ๑ : บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นสื่อหรือไม่
การถือหุ้นที่เป็นประเด็นขึ้นมาเริ่มต้นที่สกลนคร ภายหลัง กกต.ส่งเรื่องไปศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่ โดยคดีนั้นศาลฎีกาพิจารณาที่หนังสือบริคณห์สนธิเป็นหลักว่ากิจการใดเป็นกิจการสื่อมวลชน ถ้ามีวัตถุประสงค์ทำเกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชนถือว่าผิดตัดสิทธิ์ทันที
แต่ในคดีอื่นทำนองเดียวกัน เช่น คดีการถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นต่างจากศาลฎีกา โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเพียงหนังสือบริคณห์สนธิกับสําเนาบัญชีรายชื่อไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ ต้องดูเอกสารอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องดูงบการเงินว่าของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกร้องมีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงตัดสินได้ว่าถือหุ้นในสื่อหรือไม่
สำหรับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ผลิตนิตยสาร WHO ฉบับสุดท้ายเดือน ต.ค.๒๕๕๙ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่วนหนังสือจิ๊บๆ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นแค่ผู้ผลิต โดยผู้เป็นเจ้าของหนังสือดังกล่าวคือบริษัทนกแอร์
ส่วนหนังสือ Wealth บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นผู้ผลิต แต่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าของ  และปิดกิจการตั้งแต่วันที่ ๒๕ พ.ย.๒๕๖๑ และยุติการดำเนินการและไม่มีพนักงานและบริษัทไม่มีรายได้ตั้งแต่ ๒๖ พ.ย.๒๕๖๑
ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยุติกิจการไปแล้วและไม่มีผลิตภัณฑ์แล้ว อย่างนี้จะเป็นสื่อมวลชนได้อย่างไร เพราะเป็นบริษัทที่ไม่มีการปฏิบัติการใดๆ แต่เป็นบริษัทที่รอการชำระบัญชีเท่านั้น
๒.ธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่
ในคำร้องของ กกต.ระบุว่า ผมยังเป็นผู้ถือหุ้น ๒๑ มี.ค.๒๕๖๒ โดยอ้างอิงเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ แบบ บอจ.๕ ที่บริษัทที่ได้แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ แต่การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงหุ้นสำเร็จหรือไม่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๒๙ และ ๑๑๔๑
ดังนั้น ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่นหรือมีน้ำหนักพอ ต้องถือว่าธุรกรรมโอนหุ้นสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมไปแล้ว คือ ๘ ม.ค.๒๕๖๒
๓.การถือหุ้นผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๙๘ (๓) เริ่มมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยรายงานการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นมีการอภิปรายว่ามาตรานี้มีขึ้นเพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เข้าแทรกแซงสื่อทางตรงและอ้อม และการที่ไปเป็นเจ้าของสื่อทำให้กลไกการตรวจสอบพิการ และที่สำคัญไปกระทบเสรีภาพของประชาชน
ในประเด็นนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่านิตยสารที่ผลิตโดยบริษัทวี-ลัค ไม่เคยให้คุณให้โทษในทางการเมืองแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ วันที่นิตยสารได้ปิดตัวลงและไม่มีรายได้แล้ว เกิดขึ้นก่อนที่จะมีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๖๒ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ ม.ค.๒๕๖๒ แต่บริษัทปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว
ดังนั้นผมเองไม่มีเจตนาจะคงบริษัทอยู่ และบริษัทได้ปิดกิจการก่อนจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งด้วยซ้ำ
๔.กระบวนการพิจารณาคดีเป็นธรรมหรือไม่
ประเด็นนี้ คณะกรรมการสืบสวนของ กกต.กำลังดำเนินการและเรียกพยานมาในวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๖๒ แต่ปรากฏว่า กกต.ชุดใหญ่ได้ส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๖ พ.ค.๒๕๖๒ ทั้งที่คณะกรรมการสอบสวน กกต.ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลชั้นเดียว แค่เรื่องนี้ก็มีน้ำหนักพอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องแล้ว
จากทั้ง ๔ ข้อถ้าถามว่าผมเองผิดอะไร?
คำตอบคือ มันไม่ใช่เรื่องการถือหุ้นสื่อ แต่ความผิดของผมคือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผมฝันเห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกัน มีนิติรัฐ นิติธรรม ฝันเห็นประเทศไทยที่มีความก้าวหน้า และประเทศไทยที่ไม่มีรัฐประหาร ความฝันเช่นนี้มันเป็นผิดบาปมากนักหรือในประเทศนี้
เพื่อให้ได้ความฝันนี้เราจึงตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อมาต่อสู้เรียกร้องความฝันของเราตามระบบ  รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตามกฎหมาย ฝันอะไรก็บอกประชาชนอย่างนั้น
เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งออกมา เราก็ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เราสู้ในสภาอย่างภาคภูมิใจ เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของพรรคในการต่อสู้ในสภา เราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รณรงค์อย่างสันติ การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างความฝันของเราให้เป็นจริง มันเป็นความผิดบาปมากขนาดนั้นเลยเหรอในประเทศนี้
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอายุเกิน ๗๐ ปีหลายคนผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ผมเกิดปี ๒๕๒๑ ผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร ๔ ครั้ง เราจะอยู่ในสังคมอย่างนี้ต่อไปเหรอครับ
ตอนนี้เป็นเวลาที่ควรจะมาทบทวนประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรมาบ้างในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา บุคคลต่างๆ มีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงจุดนี้ ถึงเวลาที่เราต้องส่งเสียงกันและพาสังคมออกจากจุดนี้
วันนี้สังคมมีความแตกต่างทางความคิดสองส่วน ระหว่างการพาประเทศเดินหน้าไปด้วยประชาธิปไตย กับการพาประเทศเดินหน้าไปด้วยระบบอำนาจนิยม คนที่จะตัดสินได้ดีที่สุดควรจะเป็นประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพในการเลือกอนาคตของประเทศไทยด้วยตัวเอง
ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็พร้อมยอมรับ และไม่มีแผนสำรองใดๆ การลงเล่นการเมืองของผมถือว่าไม่มีจุดที่จะกลับตัวแล้ว
ที่ผ่านมาผมยอมเล่นตามกติกามาโดยตลอดทั้งรณรงค์หาเสียง การเลือกตั้ง หากจะแพ้ก็ขอแพ้ตามกติกา
คดีนี้ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องของผมคนเดียว ส่วนคนที่กำลังโยงไปสู่การยุบพรรคหมายความว่าไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน
——————————–
ครับ…แยกเป็นหลายประเด็น
คำแถลงของ “ทอน” ผมผิดอะไร? ไม่ใช่เรื่องหุ้นสื่อ แต่เพราะต่อต้าน คสช.
ปัญหาใหญ่ของ “ธนาธร” คือ วุฒิภาวะ
คนแบบนี้ไม่ควรมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเลย
ตลบตะแลง
ไม่ผิดเรื่องหุ้นแล้วนั่งรถเสี่ยงเป็นศพที่ความเร็ว ๑๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาเซ็นหุ้นทำไม
ระวังนะ….ใช้เอกสารเท็จกับศาล ความผิดมันทวีขึ้นไปอีก
โกหกครั้งแรก ก็โกหกไปเรื่อยๆ
เพื่อปิดบังโกหกครั้งแรก
มันแสดงออกมาทางสีหน้า ท่าทาง และคำพูด มาตลอด ทำให้เห็นว่า “ธนาธร” ไม่สามารถหยุดโกหกได้แล้ว
คนโกหกมันจับไม่ยาก
ในศาลรัฐธรรมนูญ “ธนาธร” สมองกลวง
วันนี้มาชิงแถลงตัดหน้าศาลรัฐธรรมนูญ กลับรู้หมดทุกอย่าง ตั้งใจจะปลุกม็อบซิท่า!
ในแง่มารยาท คือ “ทราม”
ไม่มีใครเขาทำกัน
ในแง่กฎหมาย หมิ่นศาลหรือไม่ อีกไม่นานคงมีคนมาเฉลย
แต่มันช่างน่าประหลาดใจก่อนขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ๑๘ ตุลาคม “ธนาธร” มีเวลาเตรียมตัวนานนับเดือน เพื่อทำความเข้าใจในหลักฐานของตนเอง
อยู่ในศาลแทนที่จะแก้ข้อกล่าวหาให้ชัดเจน บอกกับศาลว่าตัวเองไม่มีความผิด กลับพูดแค่ว่า….
ผมไม่ทราบ
ผมไม่รู้
ผมจำไม่ได้
วันนี้ยังมีหน้ามาถาม “ผมผิดอะไร”
ในการวินิจฉัยคดีศาลจะให้น้ำหนัก พยาน หลักฐานที่นำไปแสดงในศาล
มิได้นำสิ่งที่ “ธนาธร” ประชดประชันตัดหน้าศาลไปประกอบคดี
เตือนไปถึง “คนรักทอน”
คำพูดของ “ทอน” ไม่ใช่คำวินิจฉัยในคดีนี้
แต่หากหน้ามืดตามัว “ทอน” ตดก็หอม ให้นึกถึงคำพูดของ “ทอน” ในศาลรัฐธรรมนูญให้เยอะๆ
คนที่ไม่รู้แม้กระทั่งเรื่องตัวเอง แล้วมาถามว่าผมผิดอะไร คนแบบนี้สมควรเดินตาม หรือถอยห่าง
เอาล่ะ…การไปพูดพาดพิงถึง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอายุเกิน ๗๐ ทำนองผ่านรัฐประหารมาหลายครั้ง จะอยู่กันแบบนี้หรือ
และประเด็นสำคัญ…..ให้ทบทวนประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรมาบ้างในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา
หมายความว่าความจำของ “ทอน” เริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนรัฐประหารทักษิณ กระมัง
“ทอน” ครับ…ช่วงก่อนที่นักโกงเมืองบริหารประเทศ จนทหารใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหาร ไม่นับรวมด้วยหรือ
หรือคิดว่า โกงเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตยแบบที่ “ทอน” คิด
“ทอน” กลับไปทบทวนดูนะ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระเคยถูก “ทักษิณ” แทรกแซงอย่างไร
เปิดหูเปิดตาให้กว้างในช่วง “ทักษิณ” โกงเมือง
แล้ว “ทอน” จะรู้ว่า ไม่ต้องมีแผนสอง
ยังพอมีจุดให้กลับตัวอยู่ แม้แทบไม่เหลืออะไรติดมือเลยก็ตาม

Written By
More from pp
เปิดมุมมองผลทางกฎหมาย กรณีบริษัทประกันภัยยอมถอยถอนฟ้องเลขาธิการ คปภ.
ตามที่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ...
Read More
0 replies on “แล้ว “ทอน” จะรู้ว่าผิดอะไร”