เส้นทางจากเกษตรกร ‘ต้นน้ำ’ ถึง ลูกค้า ‘ปลายน้ำ’ สู่การสร้างธุรกิจอาหารให้ยั่งยืน

ในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย ต้องยอมรับว่าเรามีความรู้เรื่องอาหารต่าง ๆ มากขึ้น เราเริ่มรู้แล้วว่าผักผลไม้ที่ดูน่าทานก็อาจจะปนเปื้อนด้วยสารเคมี เนื้อสัตว์สีแดงสดใสก็อาจจะไม่ปลอดภัยต่อร่างกายหรือแม้แต่เรื่องการดัดแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า GMO ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ 100% ว่าในอนาคตมันจะดีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

นั่นจึงทำให้ผู้บริโภค หรือ “คนปลายน้ำ” เริ่มมองหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีปลอดภัยจากผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่รู้จักกันในนามของ “คนต้นน้ำ” ด้วยตัวเองมากขึ้น

มีความพยายามเดินทางไปเสาะแสวงหาอาหารดี ๆ ปลอดภัยเพราะต้องการจะดูแลร่างกายให้ปลอดจากสารเคมีและดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีมากที่สุดนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งคนต้นน้ำเองก็ต้องการที่จะเข้าถึง “คนปลายน้ำ” มากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่ต้องการแรงสนับสนุนอย่างมากจากผู้บริโภค

ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่มีการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ผลิตอาหารปลอดภัย ปราศจากสารเคมี แต่ก็ยังมีคนรับรู้และให้การสนับสนุนไม่มากนัก แรงสนับสนุนที่ต้องการนั้น ก็เพื่อช่วยผลักดันให้การทำการเกษตรกแบบยั่งยืนปลอดสารเคมีเติบโตและขยายวงกว้างมากขึ้น เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะนอกจากจะต้องใช้ความอดทนวิริยะอุตสาหะแล้วก็ยังต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมายกว่าจะทำให้เป้าหมายของการทำเกษตรกอินทรีย์สำเร็จได้

ดังนั้น เมื่อเกิดความต้องการจากคนทั้งสองฝ่ายที่ต้องการการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผู้ประกอบการที่เปรียบเสมือนเป็น “คนกลางน้ำ” เริ่มมีความเข้าใจและเห็นปัญหาตรงนี้มากขึ้น จึงตั้งใจดีที่จะทำให้เกิดการพบกันระหว่าง “คนต้นน้ำ” และ “คนปลายน้ำ” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้สนับสนุนซึ่งกันและกันและเกิดการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เกิดเป็นการยกระดับวงจรของห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น

ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้เราเห็นความตั้งใจดีจากแบรนด์ไทยหลายเจ้าในปัจจุบันมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหาร ยกตัวอย่างเช่น “กาแฟดอยช้าง” กาแฟคนไทยที่ไปไกลระดับโลก ซึ่งนอกจากจะใช้ชื่อแหล่งผลิตกาแฟต้นกำเนิดเป็นชื่อแบรนด์แล้ว

กาแฟดอยช้างยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นของการใช้ภาพชาวเขา ผู้ปลูกกาแฟตัวจริงนำมาปรากฏทั้งในโลโก้แล้วยังติดอยู่บนแพ็กเกจจิ้งอีกด้วย ตรงจุดนี้คือการสื่อสารอย่างหนึ่งที่นอกจากจะทำให้คนปลายน้ำได้รู้จักทั้งแหล่งผลิตและตัวตนของผู้ผลิตแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกที่พร้อมจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาวเขาเกษตรกรไทยบนแผ่นดินไทยอีกด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างจากร้านอาหารใจกลางกรุงเทพฯ ได้แก่ “ร้านฌานา” ร้านอาหารสุขภาพที่มีความเชื่อเรื่องของ Happy Supply Chain การสร้างวงจรอาหารแห่งความสุข โดยการส่งมอบความสุขผ่านมื้ออาหารที่เกิดจากแหล่งผลิตที่ดีสะอาดปลอดภัยให้ถึงมือผู้บริโภค

เมื่อผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจที่ได้รับอาหารที่ดีมีคุณค่าแล้วท้ายที่สุดก็จะกลับมาส่งเสริมเพื่อนเกษตรกร จนเกิดเป็นวงจรแห่งความสุขที่ส่งต่อถึงกัน

ดังนั้น “ฌานา” จึงจับมือกับเกษตรกรที่มีความตั้งใจดีผลิตวัตถุดิบปลอดสารและมีการขยายเครือข่ายความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ในวงกว้างเพื่อทำให้คนไทยได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น

ดังนั้น ภาพของฌานาจึงสะท้อมุมมองของร้านอาหารที่ร่วมมือกับเกษตรกรวิถีเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ เพื่อให้คนปลายน้ำสามารถสบายใจได้กับการรับประทานอาหารในทุกจานและทุกมื้อ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้ปรากฏออกมาให้เห็นชัดเจนผ่านทั้งการตกแต่งมุมต่างๆ ภายในร้าน

และแม้แต่ในเมนูอาหารก็ยังเป็นเครื่องมือการสื่อสารถึงความตั้งใจของเกษตรกรไทยและร้านฌานาที่อยากให้คนไทยได้เข้าถึงอาหารที่ดีปลอดภัยสำหรับการบริโภคแบบยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมี “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ห้างท้องถิ่นที่อยู่คู่ชาวเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน แต่มีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

จึงได้คิดโครงการ “Green Grocery Project” เพื่อบอกลักษณะการเพาะปลูกสินค้าต่าง ๆ ผ่านสติกเกอร์ “รหัส 5 สี” โดยเรียงจากสินค้าอินทรีย์ 100% เป็น “สีเขียว” ไปจนถึงสินค้าผลิตแบบส่งตลาดทั่วไปเป็น “สีแดง” เทคนิคนี้ช่วยให้ลูกค้ามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างดี

รวมไปถึงการช่วยหาตลาดให้กับสินค้าท้องถิ่นเพื่อช่วยชุมชน ผ่านโครงการ “Rimping Select” อาทิ ลำไยอบแห้งบ้านแควแคบหมูกรอบแม่แจ่มข้าวแต๋นป้าเล็ก และถั่วงอกสดจากฟาร์มงอกเงย ฯลฯ ซึ่งเป็นการช่วยชุมชนให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจของห้างอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้คือความพยายามของ “คนกลางน้ำ” ที่จะทำให้คน 2 ฝ่ายที่เมื่อก่อนแทบจะไม่มีทางได้เจอกัน ก็ได้มาทำความรู้จักกันและเกิดการสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ลองคิดดูว่าหากวันนี้เราปล่อยให้คนต้นน้ำทำงานลำพังโดยไร้การสนับสนุนใด ๆ ไม่ช้าแหล่งอาหารที่ดีมีคุณภาพก็อาจจะหมดไปในที่สุด แต่ถ้าหากพวกเราทุกฝ่ายช่วยกันอุ้มชูให้ความตั้งใจอันดีของผู้ผลิตวัตถุดิบเหล่านี้เติบโต สามารถเลี้ยงตัวเองได้ นอกจากจะทำให้เรามีแหล่งอาหารที่ดีแล้ว ธุรกิจอาหารที่มุ่งประโยชน์เพื่อผู้บริโภคเป็นสำคัญก็จะยั่งยืน รวมไปถึงเราจะมีโลกที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

Written By
More from pp
พก. นำทัพขบวนคนพิการ อพม.จิตอาสา ร่วมกิจกรรมทำหน้ากากผ้า แจกจ่ายประชาชน สู้ไวรัสโควิด-19
วันนี้ (12 มี.ค. 63) เวลา 09.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกิจกรรม...
Read More
0 replies on “เส้นทางจากเกษตรกร ‘ต้นน้ำ’ ถึง ลูกค้า ‘ปลายน้ำ’ สู่การสร้างธุรกิจอาหารให้ยั่งยืน”