ปวดเกาต์อย่าซื้อยาเอง เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต

ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับการรักษาจากแพทย์ หากซื้อยารับประทานเองอาจเกิดผลข้างเคียงหรือมีโรคแทรกซ้อน จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้แพทย์หญิงบุษกร ดาราวรรณกุล อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซึม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า เกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาเป็นเวลานาน จนเกิดการตกตะกอนสะสมเป็นผลึกเกลือยูเรตตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ โดยเฉพาะในข้อและบริเวณรอบข้อ เมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นจะทำให้ข้ออักเสบเฉียบพลันรุนแรง 

ซึ่งสาเหตุสําคัญที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาจากกรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้นและไตทำงานลดลง หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิดและดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ยอดผัก สัตว์ปีก เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล จึงไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคเกาต์กําเริบหรือเกิดข้ออักเสบได้

“อาการของโรคเกาต์จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1. ระยะข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อร่วมกับข้ออักเสบอย่างรุนแรงบริเวณนิ้วเท้า หลังเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า มักกำเริบจากการรับประทานอาหารที่มียูริกสูง เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ยอดผักบางชนิด รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์หรือถูกกระแทกที่บริเวณข้อ ซึ่งจะมีอาการประมาณ 3 – 7 วัน และหายไปเอง แต่ถ้ารับประทานยาโคลชิซีน (Colchicine) หรือยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะแรกอาการข้ออับเสบแต่ละครั้งจะเกิดห่างกันค่อนข้างนาน หากไมได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการจะกำเริบถี่ขึ้นและจำนวนข้อที่อักเสบจะมากขึ้นเรื่อย ๆ 

2. ระยะมีปุ่มก้อนโทฟัส (Chronic Tophaceous Gout) ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีผลึกยูเรตสะสมมากขึ้นจนเกิดเป็นปุ่มก้อนโทฟัส โดยมีลักษณะเป็นก้อนแข็งใต้ผิวหนัง ผิวขรุขระบริเวณรอบ ๆ ข้อ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือใบหู ข้อศอก ตาตุ่ม เอ็นร้อยหวาย นิ้วมือและนิ้วเท้า ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบติดต่อกันจนเหมือนเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ในบางรายที่เป็นมากจะมีข้อพิการผิดรูปร่วมด้วยซึ่งเป็นระยะท้ายของโรค การตอบสนองต่อยา NSAIDs หรือโคลชิซีนลดลง และมีอาการปวดเกือบตลอดเวลา” แพทย์หญิงบุษกรกล่าว

สำหรับการรักษาโรคเกาต์ แพทย์จะให้ยารักษาอาการข้ออักเสบและลดระดับยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 5 – มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดข้ออักเสบกำเริบซ้ำ ปุ่มและก้อนโทฟัสจะค่อย ๆ มีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยเกือบทุกรายที่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะไม่มีอาการปวดข้ออีก แต่ผู้ป่วยโรคเกาต์จำนวนมากมักเลือกที่จะซื้อยารับประทานเองทำให้การรักษาไม่ถูกวิธี จึงยังมีอาการกำเริบอยู่เรื่อย ๆ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น กระเพาะอาหารเป็นแผลหรือทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ ไตวาย รวมถึงการแพ้ยาที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นการใช้ยารักษาโรคเกาต์จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และลดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยา รวมไปถึงผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจหาโรคร่วมต่าง ๆ ที่อาจซ่อนอยู่เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Written By
More from pp
เครื่องดื่มเป๊ปซี่ ประกาศเริ่มใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล 100% เจ้าแรกในตลาดน้ำอัดลมไทย จับมือพันธมิตร ออกสตาร์ทแคมเปญ “สำนึกซ่า กล้าเปลี่ยนเพื่อโลก”
เครื่องดื่มเป๊ปซี่ โดยบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าปลุกพลังสำนึกรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการจับมือพันธมิตร สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)...
Read More
0 replies on “ปวดเกาต์อย่าซื้อยาเอง เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต”