อภิรวี พิชญเดชะ ฉีกกฎ “โฮมชอปปิ้ง” เมืองไทย ใช้หัวใจ “นักการตลาด” และไอเดีย “กล้าแตกต่าง” ขับเคลื่อน happy shopping

ถึงแม้ happy shopping จะเป็นน้องใหม่ในวงการธุรกิจโฮมชอปปิ้งของไทย แต่กลับเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดอย่างรวดเร็ว การันตีด้วยยอดขายกว่า 185 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือนที่เริ่มทำตลาด และยังเอาชนะใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยได้อยู่หมัด ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้ต้องยกให้ “เอย-อภิรวี พิชญเดชะ” เธอคือหัวเรือใหญ่ของ แฮปปี้ กรุ๊ป เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้ง คิดสร้างสรรค์ร่วมกับทีมงาน พร้อมผลักดันให้แฮปปี้ ชอปปิ้ง ยังคงนำเสนอสินค้าและบริการชั้นยอด อย่าง “ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกลุ่มเป้าหมาย” พร้อมก้าวสู่แบรนด์ในดวงใจนักชอปทุกกลุ่ม

การเดินทางของแบรนด์ happy shopping เริ่มต้นจากไอเดียสุดบรรเจิดของ “เอย-อภิรวี พิชญเดชะ” และทีมผู้บริหารคนเก่งที่มีความสนใจและต้องการจะกระโจนเข้ามาสู่ธุรกิจโฮมชอปปิ้ง ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอหลงใหลในธุรกิจนี้ ล้วนมาจากการปลูกฝังตั้งแต่วัยเรียนให้ฝึกคิดแบบนักการตลาด บวกกับโชคชะตาที่พัดพาเธอให้ทำงานหลากหลาย ช่วยบ่มเพาะประสบการณ์สุดท้าทาย กลายเป็นความเชี่ยวชาญการค้าผ่านทีวีและสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน

MD ของ happy shopping วัย 37 ปี เล่าถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กว่า เธอเป็นลูกสาวคนโตของบ้านคนไทยเชื้อสายจีน จึงถูกสอนมารยาทแบบคนไทย แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบจีนจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคาร โดยสามารถนำตรรกะและกระบวนการคิดของท่านมาปรับใช้ทำงานได้ตลอด บวกกับการเป็นคนชอบคิด ชอบสังเกต ช่างสงสัย สนใจความคิดคนอื่น ตั้งคำถาม และมีความขบถในตัวเองสูง จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะพิสูจน์หรือลงมือทำด้วยตนเอง

“เรียกว่าเป็นเด็กหลังห้องก็ได้ เพราะเราสนุกกับการเป็นนักกิจกรรม ได้เป็นประธานรุ่น เป็นหัวหน้าทีม  แต่เมื่อต้องจริงจังว่าจะเรียนอะไรต่อในระดับมหาวิทยาลัย เวลานั้นก็ตัดสินใจเรียนกฎหมายธุรกิจตามคำแนะนำของคุณพ่อ แต่ด้วยความเป็นนักกิจกรรมตัวยง จนได้รับใบประกาศนักกิจกรรมดีเด่น ทำให้เรารู้ตัวเองว่า เรามีนิสัยชอบแก้ปัญหา ชอบการทำงานสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้คนรู้จัก ชอบวางแผนวิเคราะห์ นั่นคือทักษะของมาร์เก็ตติ้ง และประสบการณ์เป็นนักกิจกรรมนี้เองที่มีส่วนอย่างมากทำให้เราได้ทำงานบริษัทใหญ่ ๆ”

“วิชาทำงาน” เทียบปริญญาตรี โท เอก

เอย-อภิรวี เผยว่าชีวิตการทำงานเริ่มต้นครั้งแรกที่บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย สอนให้รู้จักหลักการคิดธุรกิจอย่างเป็นระบบทั้งหมด และรู้จักคำว่า Database ในยุคที่คำนี้ยังไม่แพร่หลาย ซึ่งเปรียบเสมือนการเรียนปริญญาตรีด้านมาร์เก็ตติ้งที่แท้จริง และมีส่วนผลักดันให้เธอเชื่อมั่นว่า ชีวิตการทำงานคือห้องเรียนและการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

สำหรับการทำงานที่เปรียบได้กับปริญญาโทนั้น นอกจากการศึกษาในระบบจนสำเร็จปริญญาโท ด้านการจัดการและวางแผนกลยุทธ์ ที่ College of Management, Mahidol University (CMMU)และเพิ่มพูนทักษะกับ Specialist Course และ E-Commerce ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนซึ่งประสบการณ์ที่จีนคือตัวจุดประกายให้ผู้บริหารสาวคนนี้สนใจธุรกิจโฮมชอปปิ้งนั่นเอง  และที่ต้องยกให้เป็นปริญญาโทอีกใบก็คือการทำงานที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีโปรเจคสุดภาคภูมิใจ อย่างการพัฒนาโปรแกรม CRM เช่น ทุกวันเกิดลูกค้าทรูวิชั่นจะได้อัพเกรดขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น  และการใช้ชื่อเรียกกำหนดตำแหน่งลูกค้า เป็นต้น

ส่วนการทำงานที่บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เหมือนกับการจบปริญญาเอก ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้บริหารแห่ง happy shopping เคยร่วมทำงานกลุ่มธุรกิจเพลงในยุคดิจิทัลดาวน์โหลด ทำให้รู้จักวงการพีอาร์เอเจนซี่ งานอีเวนต์และการประสานงานหลายส่วน จากนั้นก็กลับมาที่อาร์เอสอีกครั้ง โดยเข้ามาอยู่ในธุรกิจบรอร์ดแคสและทีวีดาวเทียม โดยได้รับโจทย์ ต้องทำให้ช่องทีวีทั้ง 5-6 ช่องของอาร์เอสอยู่ในกล่องเคเบิ้ลทั่วให้ได้  ทำให้เธอต้องเรียนรู้เรื่องเรตติ้งและวิธีการเข้าหาลูกค้าและช่องทางต่าง ๆ

เมื่อสร้างผลงานเป็นที่พอใจก็ได้รับโจทย์หินต่อเนื่อง โดยต้องทำให้ช่องอาร์เอสออกอากาศในพื้นที่สาธารณะมากที่สุด ซึ่งวิธีการจัดการต้องคิดจาก “การเดินทางและคมนาคม” ของผู้คน จึงปิ๊งไอเดียนำช่องอาร์เอสเข้าไปอยู่ในสนามบินทั่วประเทศภายใต้การดูแลของท่าอากาศยาน โดยเสนอไอเดียเช่าพื้นที่ตั้งจอทีวีเปิดเฉพาะช่องอาร์เอส เมื่อครบ 3 ปีตามสัญญาจะมอบทีวีให้กับสนามบินโดยไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งสถานีขนส่งด้วยเช่นกัน ทำให้ยอดโฆษณาของช่องทีวีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เป็น 1 ในทีมงาน ที่ได้ร่วมทำโปรเจคลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ซึ่งอาร์เอส ถือลิขสิทธิ์ในขณะนั้น และทำให้เธอสนุกกับความท้าทายมาตลอด

“แต่จุดที่ทำให้เอยแทบจะลาออกจากอาร์เอส วันหนึ่งผู้บริหารระดับสูง เรียกเข้าไปคุยว่าจะทำบิซิเนสใหม่และจะมอบหมายให้เราร่วมทำโฮมชอปปิ้ง ตอนนั้นไม่มีความรู้แถมยังไม่เชื่อในธุรกิจนี้ด้วยซ้ำ แต่ได้นึกถึงคำพูดของ CEO (เฮียฮ้อ หรือคุณสุรชัย) ว่า“คนเราถ้าไม่ลองอะไรใหม่ๆ ถ้าขวางหรือฝืนการเปลี่ยนแปลงของโลก เราจะอยู่ไม่ได้” เลยลองดูสักตั้ง และพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ให้ดีที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราเริ่มจากศูนย์มาตลอด เราเรียนนอกหลักสูตร การทำงานเป็น Case Study และนี่คือจุดเริ่มต้นสู่การเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในวันนี้”

บริหารองค์กรเหมือนคนในครอบครัว

กรรมการผู้จัดการบริษัท แฮปปี้ กรุ๊ป จำกัด เผยถึงความสนุกที่ได้เข้าไปศึกษาธุรกิจโฮมชอปปิ้งอย่างลึกซึ้ง ทดลองเปลี่ยนตัวเองเป็นคนซื้อสินค้าผ่านทีวี จนพบว่าเสน่ห์ของธุรกิจนี้คือการทำโฆษณาขายสินค้าเพียง 40 นาทีแต่สามารถปิดการขายได้ทันทีเมื่อลูกค้ายกหูโทรศัพท์เข้ามาหาเรา และจากการคิดแบบผู้บริโภค ทำให้เกิดไอเดียนำเสนอสิ่งใหม่ กล้าลองทำสิ่งที่แตกต่าง ด้วยกลยุทธ์ “Customer Centric” วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ “ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกลุ่มเป้าหมาย”

“โจทย์ของผู้บริหารธุรกิจโฮมชอปปิ้งต้องแก้ปัญหาให้ไวที่สุดและรู้ใจลูกค้าให้ได้ ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกเรื่อง รับมือกับความท้าทายตลอดเวลา ที่สำคัญเราต้องกล้าแตกต่าง กล้าจะเสี่ยงส่วนตัวมี Passion อยากทำสินค้าไทยอยู่แล้ว จึงอยากยกระดับสินค้า OTOP ขึ้นมาขายบนทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับและทำรายได้ดี หรือแม้กระทั่งการบริการแพคเกจท่องเที่ยวไม่ซ้ำใครก็มีเช่นกัน”

เมื่อธุรกิจยึดหลัก Customer Centric ส่งผลต่อรูปแบบการบริหารองค์กร ต้องยึดหัวใจผู้ร่วมงานด้วยเช่นกัน ซึ่ง 3 ปัจจัยที่เอย-อภิรวี ให้ความสำคัญ อันดับหนึ่งคือลูกค้า ตามด้วยพนักงาน ซึ่งผู้บริหารสาววัย 37 ปีจะใช้หลัก “อะไรที่เราไม่ชอบจะไม่ทำกับลูกน้อง” อีกทั้งต้องทำงานแบบทีมเวิร์ค เมื่อวาง Direction ของธุรกิจตรงกันทุกฝ่ายแล้ว จึงสามารถอธิบายเหตุและผลให้กันได้ และเมื่อพนักงานกว่า 80 คนอยู่ในช่วงวัยแตกต่างกัน ผู้บริหารจึงต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้ากับคนทำงาน ซึ่งหากเกิดปัญหาจะพบความจริงได้เร็ว และพร้อมให้กำลังใจกันเพื่อเดินหน้าต่อ และส่วนสุดท้ายได้แก่ ผู้ถือหุ้น โดยจับมือกับเนชั่น ซึ่งนอกจากจะเรียนรู้ร่วมกันแล้ว ก็ต้องทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากที่สุด

“ทุกส่วนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด เมื่อทีมงานทำงานอย่างเข้มแข็งและยึดหลักการเดียวกันคือ Customer Centric ส่งผลให้ลูกค้าได้สินค้าที่ดี และได้รับสิ่งที่ต้องการ ก็ย่อมส่งผลดีต่อองค์กรและผู้ถือหุ้นตามมา ส่วนวิธีวัดความสำเร็จของตัวเองนั้นคือความสุข เหมือนชื่อแบรนด์ happy shopping ของเรา ความสุขคือตัวผลักดันให้อยากตื่นมาทำงานทุกวัน”

นอกจากการเดินหน้าธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้าง happy shopping ให้เป็นแบรนด์โฮมชอปปิ้งอันดับต้นๆ ในใจลูกค้าแล้ว เอย-อภิรวี ยังเผยถึงเป้าหมายส่วนตัว ยังคงออกเดินทางตามทวีปต่าง ๆทั่วโลก และในอนาคตจะเดินตามฝันในการเป็นอาจารย์ตอนอายุ 45 – 50 ปีเพราะต้องการนำความรู้และประสบการณ์ในการทำงานไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา ซึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์ธุรกิจที่จะเป็นเฟืองจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปได้นั่นเอง

Written By
More from pp
นายกฯ เอาจริง สั่งการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เด็ดขาด “ลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ ซิมผี บัญชีม้า” ช่วยเหลือประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ สูญเสียทรัพย์สิน
20 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
Read More
0 replies on “อภิรวี พิชญเดชะ ฉีกกฎ “โฮมชอปปิ้ง” เมืองไทย ใช้หัวใจ “นักการตลาด” และไอเดีย “กล้าแตกต่าง” ขับเคลื่อน happy shopping”