อิหร่าน…ประสบการณ์ที่แตกต่าง แต่ประทับใจและอยากบอกต่อ

แม่มะลิ

การเดินทางไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านทริปนี้ พวกเราต้องเตรียมตัวอย่างดี นอกเหนือไปจากการหาความรู้เกี่ยวกับดินแดนที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมเปอร์เซีย และเป็นประเทศมุสลิมชีอะห์ ที่ยังคงความสงบสุขอยู่ ยังต้องวุ่นวายกับการตระเตรียมเสื้อผ้าสำหรับอากาศเย็น 12-18 องศา ในปลายฤดูหนาว และเสื้อผ้าจะใช้สวมใส่ในที่สาธารณะ ต้องให้ถูกระเบียบตามกฎมุสลิม นั่นก็คือ ผู้หญิงต้องสวมเสื้อแขนยาว มิดชิด ปิดคอ ปิดสะโพกแบบหลวม และกางเกงขายาว ห้ามเน้นทรวดทรง รวมถึงผ้าโพกศีรษะที่ผู้หญิงไม่ว่าเด็ก สาว หรือแก่ ต้องคลุมผมให้มิดชิด เพราะในอิหร่านนั้น หากผ้าคลุมผมหลุดในที่สาธารณะก็ไม่ต่างอะไรกับการเปลือยกายเลยทีเดียว ผู้ชายก็ใช่ย่อย ห้ามใส่เสื้อแขนกุด สวมกางเกงขาสั้นก็ไม่ได้ สวมรองเท้าแตะก็ไม่ได้ ตามกฎระเบียบอันเคร่งครัดของรัฐอิสลาม

ถึงสุวรรณภูมิปุ๊บ ประกาศปั๊บ ไฟลท์ดีเลย์ค่ะ มิใช่แป๊บๆ นะคะ 2 ชั่วโมง ทีนี้จะทำมาหากินอะไรล่ะเนี่ย เครื่องจะออก 2 ทุ่ม นัดกัน 6 โมงเย็น กลัวเพื่อนจะคอยรีบมาซะ 5 โมงเย็น ไฟลท์ดีเลย์เป็น 4 ทุ่มซะงั้น เฮ้อ นี่แหละน้าไม่เชื่อเค้า ไม่ว่าใครต่อใครที่เคยไปอิหร่านมา เตือนแล้วเตือนอีก ไม่ดีเลย์ ไม่ใช่อิหร่าน เจอเข้ากับตัวเองก็ อืมมมม เช็กอินเข้ามาแล้วจะนั่งอยู่เฉยๆ ก็ใช่ที่ เวลาที่เหลือก็เลยเอาผ้าคลุมผมที่ยืมเพื่อนไทยมุสลิมมาคลุมเล่นกัน เข้าท่าดีเหมือนกันแฮะ หมวยๆ แขกๆ แปลกตาดี ถ่ายรูปเล่นกันเอง สักพักสาวอิหร่านรอขึ้นเครื่องกลับประเทศ เดินไปเดินมา แอบเมียงมอง แน่ะ สนใจเราแฮะ เข้ามาเลียบๆ เคียงๆ ขอดูผ้าคลุมผมและชวนคุยว่า ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อนเลย สีสันสวยงาม แบบเป็นแฟชั่นเก๋ไก๋ สีแดงแปร๊ด ของเค้ามีแต่ทึมๆ ไม่ดำ ก็ขาว และเทา เราเลยให้เค้ายืมสวมเล่น สาวอิหร่านหัวเราะชอบอกชอบใจกันใหญ่

ประเทศสาธารณรัฐอิสลาม แห่งอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran) ประเทศที่ปกครองโดยยึดหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปยาวนาน ตั้งแต่ยุค 2500 ปีก่อนคริสตกาล โดยที่อิหร่านกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในศตวรรษที่ 15 ปกครองประเทศโดยกษัตริย์ราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid) และมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ราชวงศ์อัฟชาริด (Afsharid) ราชวงศ์ซาน (Zand) ราชวงศ์การ์จา (Qajar) จนถึงราชวงศ์สุดท้าย ราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi) ก่อนโดนโค่นล้มในปี ค.ศ.1979 โดย อยาตอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบกษัตริย์ จากราชอาณาจักรอิหร่าน มาเป็น สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ปัจจุบันมีประธานาธิบดีคนที่ 6  คือ มะห์มุด อะห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad)

อิหร่านมีประชากรราว 65 ล้านคน อาศัยอยู่ในกรุงเตหะรานประมาณ 13 ล้านคน ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม 99% นอกนั้นเป็นผู้นับถือคริสต์ 0.7% ชาวยิว 0.2% และอื่นๆ 0.1% ช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา หน้าหนาวมีหิมะตก อุณหภูมิต่ำสุด -10 องศา ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและทะเลทราย

ณ กรุงเตหะราน เมืองหลวงของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เราจะได้เห็นสถาปัตยกรรม  อาซาดี (Azadi Tower) สัญลักษณ์แห่งความเรืองอำนาจแห่งยุคของกษัตริย์ปาห์ลาวี ที่สูงเด่นเป็นสง่าใจกลางเมือง รถบัสนำพวกเราผ่านย่านธุรกิจการค้า ตลาดสด ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน มองเห็นแต่สีดำเต็มพรืดไปหมด เนื่องจากการแต่งกายมิดชิดแบบอิสลามนั่นเอง  กรุงเตหะรานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ พระราชวังหลายแห่งของพระมหากษัตริย์ที่อดีตเคยปกครองอิหร่าน  อย่างตำหนัก SA’AD ABAD  PALACE ที่ประกอบด้วยพระที่นั่งหลายองค์ ส่วนที่พวกเราเข้าชม คือ พระราชวังขาว (White Palace) ซึ่งมีสีขาวทั้งหลัง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าชาร์ ที่ถูกทำลายลงในครั้งปฏิวัติอิหร่าน เหลือเพียงเฉพาะส่วนขาสองข้าง ยืนสวมรองเท้าบู๊ท ดูจากสายตากะได้ว่าสูงประมาณ 2 เมตร ไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังดูเป็นอนุสรณ์

พระราชวังเนียวาราน (NIAVARAN PALACE) สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์กาจาร์ ซึ่งใช้เป็นที่ประทับช่วงฤดูร้อน ภายหลังจากการปฏิวัติได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม ด้านในตกแต่งหรูหราแบบยุโรป  ส่วนพระราชวังเก่าแก่อย่าง พระราชวังโกเลสตาน (GOLESTAN) ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด จะตกแต่งงดงามด้วยศิลปะแบบเปอร์เซีย ซึ่งจะใช้เป็นที่ประทับ และรับรองแขกสำคัญของประเทศ และในยุคของราชวงศ์ปาห์ลาวี พระราชวังแห่งนี้ใช้เป็นที่ต้อนรับอาคันตุกะ และเป็นที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์พระราชวงศ์ปาห์ลาวีทั้งสองพระองค์

ไม่พลาดแน่นอนกับการเข้าชมกรุสมบัติล้ำค่าจากอดีตกาลที่ พิพิธภัณฑ์อัญมณี (JEWELRY MUSEUM) ตื่นตะลึง กับเพชรสีชมพูที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนัก 182 กะรัต ได้ยลโฉมพระราชบัลลังก์นกยูงที่กษัตริย์ทุกพระองค์เคยประทับเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ ราชบังลังก์นี้ถูกตกแต่งประดับประดาด้วยเพชรนิลจินดามากกว่า 26,000 ชิ้น ดูละลานตา ล้วนแต่งดงามทั้งสิ้น (ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายภาพ)

ชาวอิหร่านมีน้ำใจไมตรีงดงามไม่แพ้กัน และยังรู้สึกได้ว่าจะชอบชาวไทยเป็นพิเศษ ถามใครก็รู้จักไทยแลนด์กันทั้งนั้น โดยเฉพาะพัทยา จะมากมายเป็นพิเศษ ยามเมื่อหนุ่มอิหร่านเอ่ยคำว่าพัทยา แววตานั้นวิบวับราวกับเอ่ยถึงสรวงสวรรค์ก็มิปาน จนสาวไทยอย่างเราจินตนาการได้และคงไม่ต้องลงลึกถึงรายละเอียด ว่าหนุ่มๆ จากอิหร่านไปทำอะไร หรือได้ยินอะไรมาบ้างเกี่ยวกับเมืองพัทยา รู้แต่ว่าเกิดมาชาตินี้หากมีโอกาสต้องไปพัทยาให้ได้สักครั้ง

แม้จะต่างกันทั้งเชื้อชาติ และศาสนา แต่ทุกคนที่พบเจอ ไม่ว่าจะผู้หญิงผู้ชาย นักเรียน คนขับรถเมล์ คนขายของ คุณป้าที่เดินข้างทาง ไม่เว้นแม้กระทั่งกำลังหนุ่มๆ กำลังขับรถอยู่บนถนน อยู่ดีๆ ก็จอดทักทายอย่างกับเห็นซุปเปอร์สตาร์ซะงั้น ทุกคนให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี เห็นได้จากแววตาและรอยยิ้มที่จริงใจ ช่างพูดช่างเจรจา เข้าหาพูดคุย เข้ามาทักทายนักท่องเที่ยว ซักนู่นถามนี่ ช่วยเหลือทุกอย่างไม่เว้นกระทั่งพาข้ามถนน แม้จะพูดกันไม่รู้เรื่องก็มีความพยายามมาก ชาวอิหร่านใช้ภาษาฟาร์ซี พวกเราใช้ภาษาอังกฤษ สรุปว่ารู้เรื่องจากการใช้ภาษามือกันอย่างสนุกสนาน

อิหร่านใช้เงินสกุล เรียล (Rial) 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะเท่ากับ 10,000 เรียลโดยประมาณ เงินใหญ่ที่สุดของอิหร่านเป็นเช็คใบละ 500,000 เรียล เวลาซื้อของกันทีสาวไทยจ่ายกันเป็นเศรษฐี ทีละแสนสองแสน สนุกสนาน ของใช้ของกินไม่แพง ราคาเท่าๆ กันกับบ้านเรา ซื้อน้ำดื่มขวดละประมาณ 10 บาท น้ำอัดลมกระป๋องละ 15 บาท

อาหารการกินคล้ายกัน เพียงแต่รสชาติจืดชืดกว่าของไทย มีไก่ ปลา และแกะ เป็นแบบปิ้งย่าง ชาวอิหร่านไม่นิยมกินเนื้อวัวเนื่องจากราคาสูง ชาวอิหร่านกินข้าว และแป้งนาน ทุกมื้อ ผักผลไม้ อุดมสมบูรณ์

กรุงเตหะรานการจราจรน้องๆ กรุงเทพนะคะ รถติดมาก ถึงมากที่สุด จอแจ อยากไปก็ไป อยากจอดก็จอด ไม่ค่อยเคารพกฎจรากจร บีบแตรกันสนั่นกรุงไปหมด มีเปิดกระจกรถเถียงกันเป็นระยะระยะ

จากกรุงเตหะราน ใช้เวลาบินชั่วโมงกว่าๆ  แต่… เห็นมั้ยคะว่ามีแต่…. แต่อย่างไรละค่ะ ดีเลย์อีกแล้วค่ะท่าน ดีเลย์แบบเด็กๆ อีกชั่วโมงกว่าๆ ไม่ดีเลย์ไม่ใช่อิหร่านค่ะ รวมเวลากว่า 3 ชั่วโมง ถึงจะได้เหยียบสนามบินเมืองชีราส

ชีราส (SHIRAZ) เมืองหลวงเก่า พวกเราได้ย้อนอดีตชมความยิ่งใหญ่งดงามของเมืองโบราณเปอร์เซโปลิส (PERSEPOLIS) ที่เคยเป็นเมืองหลวงและเป็นมหานครอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เซียตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ สร้างโดยกษัตริย์ดาริอุมหาราช ก่อนคริสตกาลประมาณ 500 ปี และถูกกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกเข้าทำลายและเผาผลาญจนพินาศ ในปัจจุบันเราจะเห็นแต่ซากเสาโบราณ รูปแกะสลักที่ไม่สมบูรณ์ แตกหักไปบ้าง  แต่โครงสร้างที่หลงเหลืออยู่ เราก็ยังสามารถจินตนาการได้ถึงความยิ่งใหญ่และสวยงามครั้งอดีต  รูปปั้น รูปแกะสลักบางส่วนยังคงบันทึกเรื่องราวบอกเล่าให้คนรุ่นหลังรับรู้ได้

นอกเหนือจากความมีน้ำใจของชาวอิหร่าน เป็นที่สังเกตได้ว่า ผู้คนล้วนหน้าตาดี ผู้หญิงสวย ตาคม หน้าผ่อง ยิ้มแย้ม ผู้ชายรูปหล่อ สูง ผิวขาว ตาโต ขนาดว่าถ้าอยู่เมืองไทยเป็นพระเอก นางเอกได้ทุกคน สาวอิหร่านเป็นที่อิจฉาของสาวไทย ส่วนหนุ่มอิหร่าน ก็เป็นที่ตื่นเต้น ตกตะลึง ของสาวไทยเหมือนกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งตำรวจ ทหาร ดูดีไปหมด

บินข้ามเมืองจากชีราสใช้เวลาประมาณ 50 นาที มุ่งสู่เมืองเอสฟาฮาน แต่…แต่อีกแล้วจริงๆ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ดีเลย์ค่ะ ไม่ดีเลย์ไม่ใช่อิหร่าน รวมบินกับดีเลย์ 2 ชั่วโมงกว่า

ถึงแล้ว เอสฟาฮาน (ESFAHAN) เมืองสำคัญตั้งแต่ครั้งอดีตถึงปัจจุบัน ศิลปะแบบเปอร์เซียมากมายเห็นได้จากเมืองหลวงเก่าแห่งนี้ อิหม่าม สแควร์ (IMAM SQUARE)  ศูนย์กลางแห่งความเจริญในยุคปกครองระบบกษัตริย์  ประกอบด้วยร้านค้า  มัสยิด อิหม่าม (IMAM MOSQUE) สัญลักษณ์ของเอสฟาฮานแห่งนี้ สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 26 ปี เป็นสุดยอดศิลปะแบบอิสลามเปอร์เซีย หนึ่งในศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของโลก ด้านในประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ พระราชวังอาลี-คาปู  (ALI QAPU PALACE) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 เช่นกัน พระราชวังนี้เป็นอาคาร 6 ชั้น แต่ละชั้นตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมหลากหลาย สวยงามตื่นตาตื่นใจ  ชั้นที่ 4 ใช้ชมการแสดงและกีฬา ห้องดนตรีอยู่ชั้นที่ 6 มีระบบเสียงอะคูสติกที่ยอดเยี่ยม เพดานห้องที่สองนับเป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน ด้วยความงามตระการตาของพระราชวัง จึงถูกเลือกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 1979

เอสฟาฮาน มีความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีแม่น้ำซายันเดห์ไหลผ่าน  มีสวนสาธารณะขนานไปกับแม่น้ำ มองเห็นสะพานซิโอเซโปล (SI-O-SE POL) และสะพานคาจู (KHAJU) อยู่ไม่ไกล   สะพานทั้งสองแห่งนี้ เป็นสะพานที่สร้างตามแบบโบราณอย่างวิจิตรบรรจง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1650 เพื่อใช้สำหรับข้ามแม่น้ำ และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเขื่อนด้วย สะพานคาจูยังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 10 ของสะพานที่สวยที่สุดในโลก ซึ่งจุดนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สวยงามของเอสฟาฮาน ชาวอิหร่านนิยมมาพักผ่อน ปิกนิก  เล่นกีฬา  และสวนสาธารณะแห่งนี้ก็เป็นแหล่งนัดพบของหนุ่มสาวอีกด้วย

ในอิหร่าน หนุ่มสาว ยังห้ามมีความรักกันอย่างเสรี มีกฎหมายห้ามจับมือถือแขนกันในที่สาธารณะ ยกเว้นสามีภรรยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิดเพศ ชายรักชาย หญิงรักหญิง ห้ามให้เห็นในที่สาธารณะโดยเด็ดขาด แต่ในหลักความเป็นจริงแล้ว พวกเราก็ยังมองเห็นหนุ่มสาวนั่งพลอดรักกันอยู่ในสวนสาธารณะหลายต่อหลายคู่ หนุ่มอิหร่านบางคนที่เข้ามาคุยด้วยก็แต๋วแตกเยอะแยะไป

วิหารแว้งค์ (VANK CAHEDRAL) โบสถ์ของชาวคริสต์อาร์เมเนียน (ARMENIAN) ก่อสร้างในปี ค.ศ.1655 ในรูปแบบผสมผสานระหว่างยุโรปและเปอร์เซีย ข้างนอกดูเป็นโบสถ์คริสต์แต่ข้างในมีเสาโค้งๆ คล้ายกับมัสยิด  ภายในโบสถ์มีภาพเขียนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์  ใกล้กันเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอาร์เมเนียน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรงพิมพ์มาก่อน จึงมีหนังสือเก่าเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์  และบันทึกประวัติเรื่องราวความเป็นมาของผู้นำอาร์เมเนียน อาทิ จดหมาย  ข้าวของเครื่องใช้  เครื่องแต่งกายประจำชาติ ฯลฯ

เนื่องจากประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ปกครองด้วยผู้นำทางศาสนา กฎระเบียบเคร่งครัดมาก สุรา เบียร์ เครื่องดื่มใดๆ ที่มีแอลกอฮอล์ ยา หรือสารเสพติดทุกรูปแบบ รูปภาพสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม ห้ามเด็ดขาด ไม่มีการดื่มเครื่องดองของเมา ดังนั้น การจำหน่ายเบียร์ ที่เห็นอยู่ในร้านขายของชำทั่วไป จะมีแอลกอฮอล์ 0% หนังสือ ซีดี ที่เห็นก็จะไม่มีแบบล่อแหลม ภาพยนตร์ที่ฉายในโรง ล้วนแล้วแต่อิหร่านทั้งสิ้น กฎหมายที่อิหร่านรุนแรงมาก ประชาชนทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนดูอึดอัดเหมือนถูกกดดัน ประเทศอิหร่านไม่มีร้านค้าที่เป็นแฟรนด์ไชส์ของต่างชาติแม้แต่ร้านเดียว นี่เองที่เป็นสาเหตุให้หนุ่มๆ อิหร่านใฝ่ฝันที่จะมาเมืองพัทยากันให้ได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ความที่อยากรู้อยากลอง พวกเราไปซื้อเบียร์มาแบ่งกันชิมๆ 1 กระป๋อง เย็นเจี๊ยบ เปิดกระป๋องเทออกมาฟองขาวตรึมลอยฟ่อง จิบค่ะ อย่างฮา น้ำแอปเปิลอัดแก๊สดีๆ นี่เอง ได้รสชาติไปอีกแบบค่ะ

ประสบการณ์ระทึกขวัญสุดๆ ในทริปนี้ ไม่เล่าเห็นจะไม่ได้ ตำรวจจับค่ะ ข้อหาเปลื้องผ้าในที่สาธารณะ ขณะเดินอยู่ริมถนนมัวแต่วุ่นวายถ่ายรูปเล่นอย่างเพลิดเพลิน ตำรวจขับรถเข้ามาจอดเทียบฟุตบาท ได้ยินเสียงเรียก YOU YOU เราก็หันซ้ายหันขวา มีแต่เรา 2 คนนี่นา เวรกรรมทำอะไรลงไปเนี่ย กินข้าวแดงอิหร่านสงสัยจะผอมตายแหงๆ ตำรวจหน้าหงิกมาก คอนเฟิร์ม หงิกมาก สงสัยเกิดมาไม่เคยยิ้มเลย ลงมาจากรถแล้วก็พล่าม พล่าม พล่าม เราก็หน้าตาเหรอหรา what what อยู่นี่แหละ ก็มันไม่รู้ภาษาฟาร์ซีจะให้ทำไง มองหน้าตำรวจเค้าชักจะหงุดหงิด ด่าแทบตายทำไมมันไม่กลัว เรียกตำรวจอีกคนลงมาจากรถ อ้อ ค่อยยังชั่ว พูดภาษาอังกฤษ ได้ความว่าห้ามแก้ผ้าโพกศีรษะในที่สาธารณะ รู้มั้ยประเทศนี้เป็นมุสลิม ต้องเคารพกฎของประเทศเค้า เราก็บอกรู้ รู้ ก็ลมมันพัดจะให้ทำไง ไม่ได้ตั้งใจนี่นา มัวแต่ถ่ายรูป ก็หยิบขึ้นมาคลุมใหม่ นึกว่าจะจบเรื่องที่ไหนได้ โดนไล่กลับโรงแรมไปเปลี่ยนเสื้อซะอีก หาว่าใส่เสื้อสั้นไม่ปิดสะโพก เฮ้อ เสื้อก็ยาวแล้วนะ ตำรวจบอกว่ามันปิดได้แค่ครึ่งเดียวต้องปิดให้หมด เห็นมั้ยว่าผู้ชายข้างหลังหันมามองยูเดินบิดไปก็บิดมา มันยั่วยวน อ้าวก็ไม่เห็นนี่นาคนไม่มีตาหลังนี่ ไม่ได้ตั้งใจ เกือบไป เกือบได้ประสบการณ์ใหม่ โดนขังลืมซะแล้ว

ร่ำลาจากเมืองเอสฟาฮาน เดินทางโดยรถบัส ใช้เวลาเกือบครึ่งวัน มุ่งสู่หมู่บ้านอาบียาเนห์ ระหว่างทางนั่งจู๋จี๋กับไกด์หนุ่มสุดหล่อมานาน 2-3 ชั่วโมง มองทิวทัศน์รอบๆ กี่ครั้งกี่ครั้งก็เห็นวิวเดิม คือ ไม่เห็นอะไรเลย มีแต่สีน้ำตาล กับสีน้ำตาล ไกด์บอกว่าทะเลทรายล้วนๆ ค่ะ ผ่านพื้นที่ราบเป็นบริเวณกว้างใหญ่สุดลูกตา  มีสีเขียวแซมประปราย  เนื่องจากปริมาณฝนน้อยมาก  จึงต้องใช้ระบบคลองชลประทานในการเพาะปลูก  ผ่านภูมิประเทศภูเขาสูง   แห้งแล้ง เลยถึงบางอ้อว่าทำไมชาวอิหร่านนิยมใช้เครื่องบินในการเดินทาง ประเทศของเค้ากว้างใหญ่มาก แต่ละเมืองอยู่ห่างกันมาก ระหว่างทางก็ไม่มีอะไรเลยจริงๆ ถ้ารถเสียหรือเป็นอะไรกลางทางนี่คงลำบากสุดๆ  อีกอย่างไกด์บอกว่าน้ำมันราคาไม่แพง ค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศก็ราคาถูก

หมู่บ้านอาบียาเนห์ (ABYANEH VILLAGE) อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,890 เมตร  เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ยังคงมีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ แต่งกายแบบพื้นเมืองเดิม และใช้ชีวิตแบบเดิมในบ้านแบบดั้งเดิมที่สร้างด้วยอิฐ และดินดิบ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-18 ทั้งหมู่บ้านมีสีเดียวคือสีน้ำตาลแดงของดินที่ใช้สร้างบ้าน บ้านแต่ละหลังเรียงสูงต่ำไปมาตามแนวลาดของภูเขา เท่าที่ได้สัมผัสเห็นแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งผู้หญิงสวมชุดพื้นเมืองจะมีผ้าคลุมศีรษะเป็นลายดอกไม้ทุกคน สิ่งนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน มีแห่งเดียวในประเทศ ถามไกด์ว่าทำไมมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ได้ความว่า หนุ่มสาวจากบ้านเข้าเมืองไปหางานทำ บางคนไปเรียนหนังสือที่เมืองอื่น เหมือนกับชาวต่างจังหวัดบ้านเรานั่นเอง

อิหร่านไม่มีอะไรให้ช็อป สาวๆ จากเมืองไทยถ้าไปเที่ยวอิหร่านและชอบช็อปิ้งต้องทำใจไว้บ้าง มีที่น่าสนใจและพอซื้อได้ ก็เห็นจะเป็นผ้าปูโต๊ะลวดลายงดงามแบบอิหร่าน ปลอกหมอน หรือผ้าคลุมเตียง พรมเปอร์เชียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไปดูให้รู้จักก็ดี แต่ถ้าให้ซื้อเห็นจะไม่ไหว ราคาเป็นหมื่นเป็นแสนบาทแทบจะทุกผืน ใช้บ้านเราก็คงจะไม่ได้เพราะอากาศร้อนและฝุ่นเยอะ พวกเราพอมีเวลาว่างไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าสองสามแห่ง มองไปแต่ละร้าน โอ้โฮ ทำไมเหมือนเมืองไทยแฮะ เลียบๆ เคียงๆ ถามเจ้าของร้าน ล้วนแฟชั่นจากประตูน้ำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเสื้อผ้าทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ของประดับเก๋ไก๋ กระจุกกระจิก กิ๊บติดผม กิ๊บหนีบผม ผ้าคลุมผม ชุดชั้นใน กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ แทบจะพูดได้ว่าเกือบทุกอย่าง เราก็ได้แต่แอบดีใจอยู่เล็กๆ ลืมบอกไปเสื้อผ้าผู้หญิงสุดเซ็กซี่ แฟชั่นจ๋าก็มีขาย แถมขายดีเสียด้วย สาวอิหร่านใส่ไว้ด้านในก่อนจะสวมชุดแบบถูกกฎทับไว้ด้านนอกอีกที

8 วันในอิหร่าน พวกเราได้ประสบการณ์ใหม่ แตกต่างจากการท่องเที่ยวประเทศเสรีอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะน่าเสียดายที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดมากเกินไป ทั้งการปฏิบัติตัว ทั้งการแต่งกาย อันเนื่องจากแตกต่างด้วยระบอบการปกครอง แต่หากเรามองข้ามสิ่งนี้ไป ก็จะพบผู้คนที่น่ารัก เอื้อเฟื้อ จิตใจอารี ได้เห็น ได้สัมผัส ศิลปะวัฒนธรรม  และสถาปัตยกรรมของชาวเปอร์เซีย ที่มีประวัติศาสตร์สืบทอดมาอย่างยาวนาน อิหร่าน ยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจมาท่องเที่ยวสัมผัสให้ได้สักครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

Written By
More from pp
ปราบ “หมูเถื่อน” อย่ารอให้เกษตรกรต้องร้องขอ
เกษตรกรชี้หมูเถื่อน ขยะข้ามประเทศต้องสาวให้ถึงต้นตอ สารพัดโรคปนเปื้อน หวั่นกระทบความปลอดภัยอาหารคนไทย-ความมั่นคงอาหารของประเทศ
Read More
0 replies on “อิหร่าน…ประสบการณ์ที่แตกต่าง แต่ประทับใจและอยากบอกต่อ”