ใช้กฎหมาย “สื่อความ” ครึ่งเดียว

วันเสาร์ที่ปลายซอย

ใช้กฎหมาย”สื่อความ”ครึ่งเดียว”

เก่งใหญ่แล้วนะ..ปิยบุตร!
พูดจาแต่ละคำ ใหญ่เกินตัวขึ้นทุกวัน
อายุ-อานามก็เพิ่งจะ ๔๐ ไม่ใช่หรือ?
เรียกว่าไม่หนุ่ม-ไม่แก่ พอดีๆ “กำลังแกง” ฉะนั้น อย่าเพิ่งห้าวให้มันเกินลิมิตไปนัก
ไม่ได้รัก-ไม่ได้เกลียดอะไรคุณหรอก ก็เข้าใจในความที่คุณเป็น “ตัวที่ถูกเลือก” ของขบวนการ ที่เขาให้ออกเล่นบทนี้ ในเกมโยกคลอนสถาบัน
ปูทาง “ถอน” หรือพูดอีกที “โค่นล้ม” ในวันข้างหน้า!
แต่ด้วยมีมหา’ลัยและแก๊งเป็นกระดอง ยิ่งตอนนี้มีสภาคุ้มกระลาหัวอีกใบ จึงหลงว่าตัวเอง
ทึกทักโลกจินตนาการเด็กวานซืน เป็นโลกและสังคมจริงที่กำลังจะเป็น
อุปโลกน์ตัวเองเป็นพระเอก ……..
ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาถีบหลังออกมาตายแทน ยังไปหลงหอมกลิ่นเกือก
ไม่ลองเหลียวหลังไปมองบ้างล่ะ
ทั้งตายซาก กำลังตายซาก และเซซัดเป็นผีไม่มีญาติกราดเกลื่อนอยู่ตอนนี้
พระเอกประชาธิปไตย “แดงทั้งแผ่นดิน” ทักษิณสถาปนาทั้งนั้น
เจ้าจะเป็น “ไอ้ตี๋หน้าอ่อน” ตายซากตัวต่อไป
ถ้ายังขืนผยองว่า…..
ข้า…”รองศาสตราจารย์” ทางกฎหมาย สาวกแซ็ง-ฌุสต์ แล้วตีโวหารรานรุกทุกสถาบัน ตะบัน-ตะแบงกฎหมายแบบครึ่งๆกลางๆ ชนิดไม่เห็นหัวใคร
ดูเจ้าพูดเมื่อวาน (๓๐ สค.๖๒) นี้ซิ….
“….กรณีวันนี้ ที่นายโกวิทถูกเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเรียกตัวไป ผมก็นั่งสงสัยอยู่ว่า หนังสือเรียกตัวนายโกวิทนั้น สถานะทางกฎหมายคืออะไร
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อไหนเรียกคนไปชี้แจง
เราอยู่ในหลักนิติรัฐ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐจะมีอำนาจรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจ
เรียกเราไป ก็ต้องมีหมายเรียก กกต.ก็ปฏิบัติตามกฎหมายของ กกต.
ปัญหาคือ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ทำจดหมายเรียกนายโกวิทไปชี้แจงวันนี้ อาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไร
ผมดูกฎหมายฉบับนั้น ก็ไม่เห็นอ้างกฎหมายอะไรเลย
ส่วนอีกคดีที่กำลังจะเปิดกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ ๙ กันยายน คือ
กรณีของนางสฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการ เป็นการดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยใช้เรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิฯ แพ่ง
แต่ใช้มาตรา ๓๒ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่จบ แต่กรณีนางสฤณีเป็นวิจารณ์คำพิพากษาที่จบไปแล้ว
ดังนั้น จึงอยากฝากว่า ศาลเป็นองค์กรตุลาการ เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเคียงคู่ไปกับรัฐสภา
และรัฐมนตรี ทั้ง ๓ องค์กรนี้ อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร
เมื่อคุณใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการตุลาการ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสตรวจสอบ
การตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันท่านต้องระวังเรื่องการใช้กรณีละเมิดอำนาจศาลมาดำเนินคดี
เพราะต่อไปในอนาคต จะทำให้เข้าใจว่า ศาลเป็นองค์กรที่แตะต้องไม่ได้เลยหรือเปล่า”
การวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันตามข้อฎหมายและวิชาการ ไม่มีใครว่า และศาลก็ไม่ได้ห้าม
แต่การวิพากษ์วิจารณ์หรือทำไปในทางดูหมิ่น จ้วงจาบหยาบช้า ไม่ต้องมีการศึกษาหรอก แค่คนที่มีความเป็นคน ก็ต้องรู้ว่า ศาลนั้นตัดสินในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
กรณี “นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์” ทวิตเกี่ยวการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง ๓๒ ส.ส. ปมหุ้นสื่อ แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการใช้คำว่า
น่าจะเกินคำว่า “ด้าน” เสียแล้ว อย่างนั้น
มันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยแง่กฎหมายทางวิชาการ หรือว่าเป็นการใช้ “อารมณ์ดิบ” บ่งบอกถึงการดูหมิ่นศาล?
ปิยบุตรพูดว่า……
“สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามกฎหมายข้อไหนเรียกคนไปชี้แจง”
ศาลไม่ได้เรียกไปชี้แจง ควรพูดให้ตรง เพื่อสื่อความให้คนฟังเข้าใจตรงตามเป็นจริง
เลขาธิการศาลเพียง “เชิญตัว” นายโกวิทไปพบ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเจตนาตามที่โพสต์ด้วยคำว่า “ด้าน” กับศาลเท่านั้น
ย้ำ…แค่เชิญไปสอบถามเยี่ยงวิญญูชน
ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดี และยังไม่มีข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น ในตอนนี้
การที่ปิยบุตรถือหลัก “ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร” แล้วออกมาเบ่งกล้ามนั้น ทางที่ดี ปิยบุตรน่าสอบถามนายโกวิทย์ก่อนว่า
คุยกับเลขาฯ ศาลเป็นที่สรุปด้วยทัศนคติไหน?
ได้ความแล้วค่อยออกมาพูด บางที “ทัศนคติปฏิปักษ์” ในการแสดงออกของปิยบุตร เมื่อเข้าใจ อาจคลายสู่ความเป็นผู้เป็นคนได้มากว่านี้ก็ได้
นายโกวิทย์ ศึกษาสูง เป็นอาจารย์ เป็นสมาชิกบัณฑิตยสภา และวัยก็ไม่ใช่เด็ก
ดังนั้น ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี คำไหนควร-ไม่ควรใช้กับศาล ต้องรู้ “ด้วยภาวะแห่งวิญญูชน” อยู่แล้ว
แต่ถ้าไม่รู้ ก็อย่าตำหนิ “โกวิท-วิญญูชน” เลย
ต้องตำหนิ ข้าวและน้ำข้าวไทย ที่ยางไม่สามารถสร้างสำนึกให้ “ไทย” คนหนึ่งได้!
สำหรับกรณีนางสาวสฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอะไรนั่น ปิยบุตรสำแดงบทพระเอกปกป้องเฟอะฟะ กว้างขวาง ผิดวิสัยคนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ควรรู้ ควรเข้าใจ
ก็นางสาวคนนั้น เธอเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่่อง “อันตรายนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัครสส.” มีข้อความที่ศาลเห็นแล้วเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล
เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา จึงเป็นผู้กล่าวหา มีหมายเรียกบรรณาธิการและผู้เขียน ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ไปให้การเท่านั้นเอง
เข้าใจหรือเปล่าท่านรองศาสตราจารย์ทางกฎหมาย? ระหว่างคำว่า “ผู้กล่าวหา” กับ “ผู้ถูกกล่าวหา” และคำว่า “โจทย์-จำเลย” ว่าอยู่ในขั้นไหน
ยังไม่ต้องรีบตีโพย-ตีพายเป็นนางเอกอ้อนแฟนคลับหรอก แค่โดนเรียกไปให้การก่อนเท่านั้น
ทำคนไขว้เขวว่าทำไมใช้มาตราเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เพราะเขียนลงหนังสือพิมพ์ เขาจึงใช้มาตรานี้
และไม่ใช่นางสาวสฤณีคนเดียว บก.เขาก็โดนด้วย ทำไมไม่พูดถึงบ้างล่ะ ชงแต่บทส่ง “นางเอก” คนเดียว?
แล้วดูนะ พ่อแม่พี่น้อง คุณผักกาดหอม เขียนเมื่อวานว่านางสาวสฤณี เรียนสูงระดับฮาร์วาร์ด
และด้วยทัศนคติฮาร์วาร์ด ใช้ถ้อยคำว่า “มักง่ายและตะพึดตะพือ” ต่อศาล ตามมีบันทึกศาล ดังนี้……….
“ตัวอย่างหนึ่งของอันตรายจากทวิภาวะนี้ที่ผู้เขียนยกมาสาธิตในตอนที่แล้ว
คือกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งถอนชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) จ.สกลนคร จากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒
โดยตีความอย่างน่าตกใจว่าลำพังการมีคำที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชน เช่น “กิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์” อยู่ในรายการวัตถุประสงค์ของกิจการ (แบบฟอร์มมาตรฐานในการยื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทซึ่งระบุกิจการหลายสิบประเภทเอาไว้ทั้งที่ไม่ได้ทำจริง ๆ)
แปลว่าผู้สมัครสส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสส.ตามรัฐธรรมนูญ พศ.๒๕๖๐ ผู้เขียนเห็นว่าการตีความเช่นนี้มักง่ายและอันตรายอย่างยิ่ง
เนื่องจากตีขลุมเหมารวมว่า “วัตถุประสงค์” เท่ากับ “การประกอบกิจการจริงๆ” โดยไม่ดูทั้งข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ถ้าตีความมักง่ายเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรเลยที่จะป้องกันไม่ให้เลยเถิดไปตัดสิทธิผู้สมัครที่ซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในบริษัทตลาดหลักทรัพย์หรือลงทุนในทุนรวมที่ซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน
เพราะบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากก็ระบุเรื่องกิจการสื่อไว้ในรายการวัตถุประสงค์ของบริษัทเช่นกัน ทั้งที่บริษัททำแต่ธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสื่อ อาทิ ซุปเปอร์มาเก็ต
ถ้าตีความมักง่ายเช่นนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาก็จะผิดกฎหมายไปโดยอัตโนมัติ
ยกตัวอย่างเช่น เราก็ตีความได้ว่าลำพังการมีมีดทำครัวอยู่ในบ้าน เท่ากับการเอามีดไปจ้วงแทงคนอื่น ดังนั้่นการมีมีดในบ้านจึงผิดกฎหมาย
คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในกรณีข้างต้น จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” คือใช้กฎหมายแบบตะพึดตะพือ
ตีความตัวบทอย่างเกินเลย โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย…
ครับ….
นส.สฤณี เห็นเขาเรียก “ปัญญาชน” แต่การเขียนด้วยทัศนคติอย่างนี้ เป็นปัญญาชน หรือปัญญาสามานย์ชน ก็ช่วยกันพิจารณาดู?
ความจริง ระดับสฤณีต้องรู้ ว่าจริงๆแล้วการจดทะเบียนตั้งบริษัทนั้น ไม่ตีขลุมเหมารวม อย่างที่เขียน
ที่บอกว่า “วัตถุประสงค์” เท่ากับ “การประกอบกิจการจริงๆ” โดยไม่ดูทั้งข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมาย นั่น ไม่จริงหรอก
มีใบจดครอบจักรวาลมันใบหนึ่ง ยังต้องมีใบ “ประกอบกิจการใด” คือที่ทำจริงๆ ต้องเขียนอีกใบ ที่เรียก สสช.๑
แล้วยังมีใบ ว.คือใบระบุวัตถุประสงค์อีกใบ
แล้วยังใบนำส่งงบการเงิน ทีเรียก ส.บช.๓ อีกใบ ที่ต้องระบุว่าเป็นรายได้มาจากประเภทธุรกิจใด
นั่นคือ ที่พูดว่าตีขลุมมักง่ายอะไรนั่น คนเขียนนั่นแหละมักง่าย ที่หยิบหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ สรุปแบบ “ความจริงครึ่งเดียว”
จบดีกว่า…ไม่อยากพูดมาก เจ็บกึ๋น!

Written By
More from plew
รอบ ๒ “วาสนาไม่มาถึง” – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ..⬇️ เปลว สีเงิน วันนี้ “๑๙ กรกฏา.” มีเรื่องให้ลุ้น ๒ เรื่อง เรื่องแรก ลุ้นการโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ รอบ...
Read More
0 replies on “ใช้กฎหมาย “สื่อความ” ครึ่งเดียว”