บ้านมั่นคงเฮ ! ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พม.แจง พอช.ยืดพักชำระหนี้เพิ่มอีก 3 เดือน ช่วยชาวบ้านสู้พิษเศรษฐกิจ

จุติ ไกรฤกษ์  รมว.พม. แจง พอช.ยืดพักชำระหนี้สมาชิกโครงการบ้านมั่งคงออกไปอีก 3 เดือนจากช่วงแรกเมษายน-มิถุนายน  ไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 รวม 6 เดือน  เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนโครงการบ้านมั่นคงที่ใช้สินเชื่อสร้างบ้านจาก พอช.ทั่วประเทศ  395 องค์กร  รวม 119,956  ครัวเรือน

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้ต่อประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.  ที่ทำงานกับชุมชนและเครือข่ายชาวบ้าน ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน  โดยผ่อนผันให้สหกรณ์และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศที่ใช้สินเชื่อจาก พอช.  ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ พอช.เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงแรกเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ได้บรรเทาความเดือดร้อนในช่วง 3 เดือนนี้แก่ขบวนองค์กรชุมชนเกือบ 1.2 แสนครัวเรือน

“ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.63 พอช.รายงานว่า  ที่ประชุมบอร์ด พอช. ได้มีการลงมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มอีก 3 เดือนให้แก่สหกรณ์และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ  จากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายนนี้  ขยายออกไปเป็นเดือนกันยายน  เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย  ให้ได้มีโอกาสฟื้นฟูเรื่องอาชีพและรายได้  โดยไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้กว่า 1 แสนครัวเรือน ร่วม 5 แสนคน”  รัฐมนตรี พม.กล่าว

โดยที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ได้พิจารณาว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะเข้าใกล้ภาวะปกติตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยังคงมีต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2 ปี  โดยนอกจากมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งกำลังดำเนินการอยู่

รัฐยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยออก พ.ร.ก.เงินกู้  วงเงิน 1.0 ล้านล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาการกู้เงินที่รัฐสามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมจนถึง 30 กันยายน 2564

นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวง พม. ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เช่น โครงการ ‘สำรวจให้พบ  จบที่ชุมชน’ นำร่อง 286 ชุมชนใน กทม. ตั้งครัวกลาง 38 ครัว จัดทำอาหารปรุงสุก จำนวน 88,025 กล่อง/ราย    พร้อมทั้งมีการมอบถุงยังชีพ  เป็นต้น

ส่วนการพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคงช่วงแรก  ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563  สถาบันฯ ได้อนุมัติพักชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 395 องค์กร  รวม  119,956 ครัวเรือน  ต้นเงินคงเหลือ 4,009.77 ล้านบาท  ประมาณการดอกเบี้ยที่สถาบันฯ จะไม่ได้รับในปี 2563 รวม 37.25 ล้านบาท   และหากขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 3 เดือน  ดอกเบี้ยที่สถาบันฯ จะไม่ได้รับจะเพิ่มเป็น  74.50 ล้านบาท  หรือช่วยให้กลุ่มและองค์กรที่ใช้สินเชื่อทั่วประเทศไม่ต้องชำระดอกเบี้ยรวม 74.50 ล้านบาท

องค์กรที่ขอพักชำระหนี้ 395 องค์กร  คิดเป็นร้อยละ 79.48 ขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์พักชำระหนี้ได้ (497 องค์กร) โดยมีองค์กรที่ไม่ขอพักชำระหนี้ทั้งสิ้น 102 องค์กร ซึ่งเป็นสินเชื่อในโครงการบ้านมั่นคงทั้งหมด ส่วนใหญ่ใกล้ครบกำหนดสัญญาแล้วและมีเงินทุนภายในเพียงพอในการรับภาระการชำระคืนต่อสถาบันฯ  จึงไม่ขอพักชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือ และมีบางองค์กรซึ่งไม่ขอพักชำระหนี้เนื่องจากไม่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการภายใน

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะสินเชื่อ ‘โครงการบ้านมั่นคง’  ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2546 โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทําให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท  โดยการใช้สินเชื่อที่สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาตามแผนของชุมชน  นําไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง

โดยให้ประชาชนที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในลักษณะต่างๆ  เช่น  การซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่   การปรับปรุงบนที่ดินเดิม ซึ่งอาจเป็นที่ดินเช่าหรือที่ดินสาธารณะที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น  โดยให้สินเชื่อระยะยาว  ดอกเบี้ยต่ำ  เป็นต้น

“ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศ รวม  1,231 โครงการ  จำนวน  112,777 ครัวเรือน  ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมอาชีพ  ปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย   มีกิจกรรมเด็กและเยาวชน  การจัดการขยะ  บำบัดน้ำเสีย  การดูแลสิ่งแวดล้อม”   ผอ.พอช.กล่าว



Written By
More from pp
แนวทางการสร้างเกษตรอินทรีย์ คือการหยุดทำลายพื้นที่ธรรมชาติสมบูรณ์เดิม
ในสัปดาห์ที่ผ่านม าผมได้มีโอกาสไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับเพื่อน ๆ นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายท่าน ที่ออกมาช่วยชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นกระแสต่อต้านว่าเป็นโครงการที่จะทำลายพื้นที่เกษตรและพื้นที่ต้นน้ำ...
Read More
0 replies on “บ้านมั่นคงเฮ ! ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พม.แจง พอช.ยืดพักชำระหนี้เพิ่มอีก 3 เดือน ช่วยชาวบ้านสู้พิษเศรษฐกิจ”