ว่าด้วยเรื่อง “โรงครัวพระทำ”

“น้ำท่วม” ปีนี้
นอกจาก……
ทหาร จิตอาสา อาสากู้ภัย หน่วยบรรเทาฯ แต่ละจังหวัดและโรงครัวพระราชทาน แล้ว
ยังมีอีกหนึ่งแห่ง คือ “โรงครัวพระทำ”!
พระก็คือ “พระคุณเจ้า” ตามวัด-ตามวานั่นแหละ ตอนนี้ เรื่องราวข่าวภาพ พระตั้งโรงครัวทำอาหาร แล้วพระอีกนั่นแหละ ………
ลุยน้ำท่วมอก-ท่วมเอว นำอาหารไปแจกชาวบ้าน เป็นเรื่องราวข่าวภาพที่สนใจกันมาก
บ้างอนุโมทนาสาธุ บ้างตั้งคำถาม พอดีได้อ่านเว็บพลังจิต “พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.” อรรถาธิบายไว้ครอบคลุมทุกด้าน ขออนุญาตนำเผยแพร่ต่อ ดังนี้
——————————-
“เว็บพลังจิต”
พระอาจารย์กล่าวว่า………
“ช่วงนี้มีน้ำท่วมหลายพื้นที่ คราวนี้พระสงฆ์ก็ออกไปช่วยชาวบ้านกันมาก โดยเฉพาะการทำอาหารไปแจก นำอาหารแห้งไปแจก
แต่ปรากฏว่าเป็นข้อถกเถียงกันในสื่อโซเชียลมีเดียว่า ใช่กิจของสงฆ์หรือเปล่า?


ทำแบบนี้ศีลขาดหรือไม่?
เรามาดู ๒ ประเด็นที่เขาว่าไว้ ประเด็นแรกคือ ใช่กิจของสงฆ์หรือเปล่า ?
อาตมาเองยืนยันว่าใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าวาระแรกที่พระพุทธเจ้าส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ออกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ตั้ง ๖๐ รูป
มีใครบ้าง…ก็มีพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พระยสกุลบุตรกับสหายรวมแล้วอีก ๕๕
พระองค์สั่งว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป พหุชน หิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย


“เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เพื่อความสุขของคนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก”
พระท่านไปช่วยคนน้ำท่วม เป็นประโยชน์ของคนหมู่มาก คือส่วนรวมหรือเปล่า?
เพื่อความสุขของคนหมู่มาก คือเพื่อส่วนรวมหรือเปล่า? เป็นการอนุเคราะห์แก่ชาวโลกหรือเปล่า ?
เราจะเห็นว่าใช่ทุกข้อ
เพราะฉะนั้น…ประเด็นนี้ชัดเจนว่า สิ่งที่พระท่านทำเป็นกิจของสงฆ์อย่างแน่นอน”
“อีกส่วนหนึ่งก็คือ หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ทุกคนมีพรหมวิหาร ๔ คือ
เมตตา รักผู้อื่นเสมอตัวเอง กรุณา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข และอุเบกขา ถ้ายากเกินความสามารถ ก็ปล่อยวาง
คราวนี้ การช่วยคนน้ำท่วมไม่เกินความสามารถ พอที่จะทำได้ ทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น หลาย ๆ รูป หลาย ๆ แห่งรวม ๆ กันทำ ก็บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปได้ส่วนหนึ่ง
จะมัวแต่ไปรอรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลมัวแต่หาทางว่า ทำอย่างไรตัวเองจะอยู่ให้ได้นานที่สุด แม้กระทั่งเรื่องการช่วยชาวบ้านก็ลืมไปชั่วคราว พระจึงต้องไปช่วย
ประเด็นที่สองคือ ผิดศีลหรือไม่ ?
พระพุทธเจ้าเองบัญญัติว่า ห้ามภิกษุหุงต้มอาหารด้วยตัวเอง ห้ามภิกษุเก็บอาหารเอาไว้เอง ห้ามภิกษุเก็บอาหารไว้ในที่อยู่
คราวนี้ห้ามหุงต้มด้วยตัวเองเพราะอะไร?
เพราะว่า ถ้าหุงต้มด้วยตัวเอง ก็จะทำแต่อาหารที่ตัวเองชอบ แทนที่จะเป็นการละกิเลสก็เป็นการเพิ่มกิเลสไป
ห้ามเก็บอาหารไว้เอง เพราะว่า พระไม่ควรเป็นผู้สะสม แต่เราจะเห็นว่าหลายวัดมีโรงครัว มีคลังพัสดุ มีการเก็บข้าวสารอาหารแห้งไว้
ถามว่าผิดหรือไม่?
ขอยืนยันว่าไม่ผิด เพราะว่าผู้เก็บไม่ใช่พระ แต่เป็นเด็กวัดหรือแม่ชี
ห้ามเก็บอาหารไว้ภายในที่อยู่ของตน เพราะกลัวว่าจะแอบไปฉันนอกเวลา
หรือว่าเลือกอาหารที่ตัวเองชอบเก็บเอาไว้ แล้วฉันสนองกิเลสของตัวเอง
คราวนี้ สิ่งนี้ที่พระองค์ท่านห้าม ก็ยังมีการอนุญาตให้ในบางวาระ อย่างเช่นว่าเกิดทุพภิกขภัย เวลาข้าวยากหมากแพง หาอาหารได้ยาก
ถ้าหากว่าไม่มีเก็บเอาไว้บ้าง ถึงเวลาไปบิณฑบาตไม่ได้ แล้วจะฉันอะไร แต่พระองค์ท่านก็ยกเลิกข้อห้ามนี้เวลามีความอุดมสมบูรณ์
คราวนี้ เรามาดูว่าเวลาน้ำท่วมถือว่าเป็นวาระที่ไม่ปกติ เหมือนกับเวลาข้าวยากหมากแพงที่ไม่ใช่วาระปกติ
ถ้าดูตามข้ออ้างในมหาปเทส ๔ พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อตีความพระธรรมวินัยว่า
สิ่งที่ไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร
ก็แปลว่า พระไม่ควรทำอาหารด้วยตัวเอง แต่ถ้าในวาระที่ไม่ปกติ อย่างเช่นว่า ข้าวยากหมากแพง น้ำท่วม ไฟไหม้ ถ้ามัวแต่ไปพึ่งญาติโยมก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาหมดเนื้อหมดตัวไปตาม ๆ กัน ก็ต้องทำเอง
สิ่งที่ไม่สมควร เพราะว่าขัดกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร ถ้าอย่างนี้ก็ถือได้ว่าไม่ผิดศีล”
“การตีความพระธรรมวินัยตามหลักที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ ก็ยังสามารถที่จะตีความได้ว่า เป็นการกระทำที่ถูก ศีลไม่ขาด
และประการที่สุดท้าย พระท่านทำอาหารไปแจกโยม ไม่ได้ทำฉันเอง เพราะฉะนั้น…จึงไม่ผิดเลย
ที่พระองค์ท่านห้ามก็ คือ ห้ามทำฉันเอง เพราะกลัวว่าท่านที่มีฝีมือ จะเลือกทำแต่อาหารที่มีรสชาติถูกปากถูกกิเลสตัวเอง
ถ้ามีใครเขาถามปัญหาพวกนี้ ชี้แจงเขาให้ชัดเจนด้วยว่า เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นกิจของสงฆ์ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ผิดอยู่แล้ว
โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าสอนเราให้ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระองค์ท่าน มีพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ
ถ้าเห็นคนเดือดร้อนแล้วไม่ช่วยเหลือ นั่นต่างหากที่ทำไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ก็คือไม่ถูกทั้งทางโลกและไม่ถูกทั้งทางธรรม
สมัยนี้ คนที่คิดว่าตัวเองเก่งกว่าพระมีมาก พอถึงเวลาก็มักจะคิดว่า สิ่งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์
อาตมาขอถามคืนประโยคเดียวว่า….
ในเมื่อไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ ก็แปลว่าเป็นหน้าที่ของคุณ แล้วคุณได้ทำอะไรช่วยเหลือเขาบ้างแล้วหรือยัง?”
—————————————————
พระอาจารย์สนทนากับพระลูกศิษย์
“ปีนี้หนักจริงๆ…….
เมื่อครู่ เพิ่งจะพูดเรื่องที่เขามาเถียงกันว่า พระไปช่วยโยมถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า?
ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?
อธิบายไปชัดเจนแล้วว่า เป็นกิจของสงฆ์เลย พระพุทธเจ้าท่านสั่งเอาไว้ชัดว่า
พหุชน หิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย
ปฏิบัติในพรหมวิหารแล้วมานั่งดูชาวบ้านเขาเดือดร้อนก็ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม
ที่ห้ามทำอาหารด้วยตนเองนั้น พระพุทธเจ้าท่านห้ามพระทำเพื่อฉันเอง ไม่ได้ห้ามทำให้คนอื่น
เรื่องพวกนี้ ส่วนใหญ่แล้วโยมก็ไม่ชัดเจน เขาก็จับมาโยงกันมั่วไปหมด
วันก่อน มีโยมจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย เป็นแผนกสื่อสาร ไปทำบุญด้วย
เอายาสามัญประจำบ้านไปถวายเป็น ๑๐ กล่อง จึงบอกว่า พระไม่ได้ใช้อย่างเดียวนะ
เพราะว่าของเรานอกจากแจกเพื่อนพระวัดต่าง ๆ แล้ว พวกหน่วยทหาร ตำรวจ และหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน หรือหน่วยป่าไม้เราก็แจกเขาด้วย เด็กนักเรียนเราก็แจกด้วย เพราะฉะนั้น…….
สิ่งที่โยมถวายมาได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ
เขาก็สงสัยว่า พระก็ทำบุญด้วยหรือ? อาตมาขอยืนยันว่า…พระนั่นแหละต้องทำบุญ”
“พวกเราถ้ามีใครชี้แจงได้ชัดเจนแล้ว เราต้องเอาไปเผยแพร่ต่อ ไม่อย่างนั้นแล้ว กลายเป็นว่าคนที่ไม่รู้จริงตีเราอยู่ฝ่ายเดียว
แล้วตีผิด ๆ ด้วย แต่คนทั่วไปที่ไม่รู้ความจริงก็คิดว่าใช่
จะตะแคงข้างไปหรือจะไปตรง ไม่ผิดทั้งนั้นแหละ
ตะแคงข้างก็อ้างมหาปเทส ๔ ได้ พระพุทธเจ้าอนุญาตเวลาที่มีทุพภิกขภัย หุงต้มเองได้ เก็บไว้เองได้ เก็บไว้ในที่อยู่ได้
คำว่า ทุพภิกขภัย ก็คือ เหตุการณ์ที่นานๆเกิดที ก็เหมือนกับพวกอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย อะไรพวกนั้น
ก็แปลว่าในวาระที่ไม่ปกติ พระสามารถทำอาหารเองได้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเพราะท่านห้ามเอาไว้ แต่ถ้าหากพิจารณาแล้วว่าสมควรสิ่งนั้นก็สมควร
ถ้าเราจะตะแคงข้าง ก็อ้างมหาปเทส ๔ แต่ถ้าไม่ตะแคงข้างไปก็คือ ท่านห้ามทำฉันเองเพราะกลัวติดรส แล้วที่ทำให้ญาติโยมกินเกี่ยวอะไรกันด้วยเล่า?”
ภาพที่พระไปทำความดีเหล่านี้ เขาไม่ค่อยแชร์กันหรอก แต่ภาพชั่วๆ นี่ แหม…แชร์กันกระจาย แชร์กันเป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง
แต่ทำความดีเป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ไม่รู้ว่าเขาจะแชร์ให้สักครั้งหรือเปล่า?
…………………………
ท่านอาจารย์เปี๊ยก วัดโป่งโก มีหน่วยกู้ภัยอยู่ในวัด เมื่อคราวน้ำท่วมด่านมะขามเตี้ย โยมสองแม่ลูกติดอยู่กลางน้ำ บ้านเป็นทางน้ำไหล พวกกู้ภัยถอดใจกันหมดแล้ว
ท่านอาจารย์เปี๊ยกเอาเชือกผูกเอวว่ายข้ามไปช่วย แล้วให้โยมขี่หลังข้ามมา
คนก็ถามว่า พระแบกผู้หญิงได้ด้วยหรือ? ท่านอาจารย์เปี๊ยกบอกว่า
“คนกำลังจะตายห่…กูไม่คิดหรอกว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย กูช่วยเอาไว้ก่อน”
แบบเดียวกับในนิทานเซ็นที่เล่าว่า พระเดินไปเจอผู้หญิงกำลังยืนลังเลอยู่ เพราะว่าชุดกิโมโนของผู้หญิงยาวลากพื้น จะเดินข้ามแอ่งน้ำก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะเลอะ
พระท่านก็อุ้มเดินข้ามมาเลย พอพ้นแอ่งน้ำก็วางลงแล้วก็ไปต่อ
พระที่ไปด้วยกันทนไม่ได้ กลับถึงวัดแล้วก็บ่นว่า
“ท่านไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร ?”
พระที่ท่านอุ้มผู้หญิงข้ามน้ำตอบว่า
“อ้าว…คุณยังแบกอยู่อีกหรือ ผมวางตั้งแต่ข้ามน้ำเสร็จแล้ว”
โอ้โฮ…แสบมากเลย คุณแบกกลับมายังวัดเลยหรือ?
ผมวางตั้งแต่ข้ามน้ำเสร็จแล้ว!
-พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐
เว็บวัดท่าขนุน
——————————————
ครับ…………
“พระ-ชาวบ้าน” ผลัดกันช่วยก็อวยชัย
แต่ถ้าเจอนักการเมืองประเภทแทรกเข้าไปเอาหน้า-หาเสียงก็…ซวยไป.

Written By
More from plew
“พริบพรี-ราชบุรี-แม่กลอง” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “ตรุษจีน” ปีนี้ มาเร็ว “ไทยโพสต์” ก็เร็ว ย้ายสู่บ้านใหม่ รับสุข รับโชค บริษัท/ห้างร้าน และท่านที่เคารพนับถือ...
Read More
0 replies on “ว่าด้วยเรื่อง “โรงครัวพระทำ””