สบยช. เตือนนักดื่มระวังเสี่ยงทั้งตนเองและคนรอบข้าง ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยนักดื่ม เสี่ยงเกิดผลกระทบทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แนะครอบครัวหรือคนใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรมถ้ามีการดื่มต้องไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะ และหากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดสุรารีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) รัฐบาลได้ประกาศปิดร้านอาหารหรือสถานประกอบการขายสุรามาตั้งแต่ 1 เมษายน และต่อมาได้มีมติผ่อนปรนให้เปิดร้านอาหารหรือจำหน่ายสุราได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 แล้วนั้น ทำให้นักดื่มใช้โอกาสนี้ทั้งซื้อมาดื่มเองหรือตั้งวงสังสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง หลังจากไม่ได้ดื่มมาระยะนึงจะทำให้เกิดอาการอยากอย่างรุนแรงหรือเสี้ยน (craving) เมื่อกลับมาดื่มซ้ำจะทำให้หลังเริ่มดื่มแก้วแรกเข้าไปแล้วจะไม่สามารถควบคุมให้ตัวเองหยุดดื่มได้ ทำให้ดื่มในปริมาณมากกว่าที่เคยดื่ม มีผลให้เกิดพิษสุราแบบเฉียบพลันได้ง่ายกว่าปกติ

กล่าวคือทำให้สมาธิลดลง มึนงง ปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติช้าลง เสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การยับยั้งชั่งใจน้อยลงทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นได้ง่าย กดการหายใจและ การเต้นของหัวใจ ไม่รู้สึกตัว การหายใจช้าลงและอาจเสียชีวิตได้โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ ดื่มเข้าไป

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีประโยชน์ใดๆ และในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่  มีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการติดเชื้อ COVID -19 ด้วย และการสังสรรค์เป็นกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น

ในทางกลับกันหากสามารถหยุดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปได้จะทำให้ตับได้มีการฟื้นตัว ซึ่งตับสามารถฟื้นตัวเองได้ภายใน 3 เดือน เมื่อตับฟื้นตัวจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้มากขึ้น ป้องกันการติดเชื้อ COVID -19ได้ การดื่มสุรานอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มเอง ยังอาจเกิดผลกระทบต่อสังคมและบุคคลรอบข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง และทำร้ายผู้อื่น เกิดการบาดเจ็บ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

แนะครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ดื่มสุรา หากมีการดื่มสุราไม่ควรให้ขับขี่ยานพาหนะเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือหากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดสุรา เช่น มีความอยากดื่มสุราในปริมาณมากขึ้น ไม่ได้ดื่มจะมีอาการมือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ไม่สามารควบคุมการดื่มได้ มีความต้องการเลิกดื่มสุราหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ หมกมุ่นกับการดื่มสุราหรือการหาสุรามาดื่ม เสียหน้าที่การงาน และยังดื่มสุราทั้งๆ ที่มีอาการป่วยซึ่งแสดงว่าหยุดดื่มไม่ได้ ให้รีบพาไปแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา

โดยสามารถขอรับคำปรึกษาหรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์  จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ปัตตานี และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 และ www.pmindat.go.th

 

Written By
More from pp
ครม. แต่งตั้ง “ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร” อดีตรองปลัดฯ ขึ้นปลัดวธ.คนใหม่
ครม. แต่งตั้ง “ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร” อดีตรองปลัดฯ ขึ้นปลัดวธ.คนใหม่ รับทราบวีดิทัศน์มิติวัฒนธรรมกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่ วธ.เสนอ เน้นพัฒนาแหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ยกระดับเทศกาล-ประเพณีท้องถิ่น...
Read More
0 replies on “สบยช. เตือนนักดื่มระวังเสี่ยงทั้งตนเองและคนรอบข้าง ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต”