ยังมีคน (กล้า) แทรกแซง?

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

เจิมศักดิ์ ปิ่นทองผงาดนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

นี่..พาดหัวข่าว “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหา-รายละเอียดก็คงจะได้ผ่านตา-ผ่านหูท่านผู้อ่านไปแล้วก็..ขอแสดงความยินดีกับอีกตำแหน่งการงานของดร.เจิมศักดิ์ นอกเหนือจากอาจารย์พิเศษ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักจัดรายการวิทยุ และคอลัมนิสต์ “นสพ.แนวหน้า”

และหวัง (สูง) ว่า เมื่อคณะกรรมการนโยบายชุดนี้ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ สถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พัฒนาก้าวหน้าแปลกใหม่ให้ได้ปรากฏเห็น

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความคณะกรรมการชุดก่อนไม่มีฝีมือ ความรู้ ความสามารถ หากแต่คณะกรรมการใหม่ควรที่จะได้โชว์ผลงาน ฝีมือ ความรู้ ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์มากไปกว่าที่เป็นอยู่


ซึ่งนอกจาก ดร.เจิมศักดิ์ที่เป็นประธานแล้ว กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสอีก 8 ท่าน ประกอบด้วย นายบุญเลิศ คชายุทธเดช  นางสาวอุษาสินี ริ้วทอง นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

รศ.ดร.ธีรภัทร สงวนกชกร นายชัยรัตน์ แสงอรุณ น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ และ นายจักร์กฤษเพิ่มพูล

ทีนี้..มาดู “หน้าที่” ของคณะกรรมการนโยบายว่ามีอะไรบ้าง ผมค้นจากวิกิพีเดียพบว่า..

1.กำหนดนโยบายโดยทั่วไปขององค์การ

2.คุ้มครองรักษาความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ และพนักงานให้ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ

3.ให้ความเห็นชอบแผนการบริหารกิจการและแผนการจัดทำรายการขององค์การให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์  ตามมาตรา ๗

4.ให้ความเห็นชอบงบประมาณขององค์การ


5. ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย

6.กำหนดให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของรายการ

7.กำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ ผู้บริหารขององค์การ พนักงานและลูกจ้างขององค์การ และบทลงโทษ

8. กำกับดูแลเพื่อให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและคำติชม ตลอดจนข้อร้องเรียนของประชาชนต่อองค์การ ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

ครับ..รู้แค่ 8 ข้อนี้พอ ซึ่งข้อ 2 นั้น ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าดร.เจิมศักดิ์ จะไม่ปล่อยให้พนักงาน ผู้อำนวยการ คณะกรรมการบริหารถูกแทรกแซงอย่างแน่นอน!

แต่..เรื่องการถูกแทรกแซงบางทีก็พูดยาก เพราะหากคณะกรรมการบริหารใช้ความเป็นอิสระ เสรีจนเลยเถิดเกิดประเด็นมีวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความเหมาะ-ไม่เหมาะสมของสถานี..


คณะกรรมการนโยบายจะนิ่งเฉยดูดายได้ไง อย่างน้อยก็ต้องพูดต้องปราม หรือบางครั้งก็ต้อง “ห้าม” เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อช่อง-สถานี..

อย่างนี้ จะเรียกว่า “แทรกแซง” ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่พูดไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำนัก ว่าแต่..ยุคสมัยนี้ สื่ออย่างไทยพีบีเอส..

ยังจะมีคน (กล้า) แทรกแซงอยู่อีกหรือ?


Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีหารือกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมมือกันต่อสู้กับความท้าทายทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63 เวลา 16.40 น. ณ ห้องโดมทอง ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล...
Read More
0 replies on “ยังมีคน (กล้า) แทรกแซง?”