ท่านพุทธทาสกับการเมือง

ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่าด้วยเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม”

วิพากษ์สภาพการเมือง

“…เราจะมองดูระบบการเมืองในโลกปัจจุบันกันสักสามแง่ คือ ดูที่ต้นเหตุของมัน, ดูที่ความเจริญของมัน, แล้วก็ดูที่มันพัวพันกันอย่างสับสน แง่อย่างแรก ที่ว่าต้นเหตุของปัญหาการเมืองทั้งโลกนี้มันมีอยู่ที่ไหน? อาตมาอยากระบุลงไปว่า โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ไปหลับหูหลับตาหลงใหลในเรื่องความเจริญทางวัตถุมากเกินไป ไม่มีใครรู้สึกตัว ไม่มีใครละอายในการที่จะกอบโกยวัตถุ. เมื่อตกเป็นทาสของกิเลสหรือตกเป็นทาสของวัตถุเสียแล้ว, จิตใจก็ไม่อาจจะรู้สึกละอายได้ ก็ไม่รู้สึกกลัวด้วย… เป็นทาสของเนื้อหนังมันก็ละทิ้งพระเจ้า ; พวกฝรั่ง เขาเคยมีพระเจ้า เขาก็ละทิ้งพระเจ้า เขาจัดให้พระเจ้าตายแล้ว ไม่มีอยู่แล้ว.

ฝ่ายตะวันออกนี้ก็ละทิ้งพระธรรม ซึ่งมีฐานะอย่างเดียวกับพระเจ้า ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระธรรม แม้แต่วัฒนธรรมของบรรพบุรุษฝ่ายตะวันออก อย่างจีน อย่างไทยแท้นี้ มันก็ถูกละทิ้งไป ไปเป็นทาส ของเนื้อหนัง…

ทีนี้ แง่ที่ ๒. มองดูถึงความเจริญ ต้นเหตุอันนั้นได้ทำให้เกิดความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เจริญไปแต่ในทางเกลียดศีลธรรม, เจริญไปแต่ในทางเกลียดศาสนา เห็นแต่ความสุขทางเนื้อหนัง, เห็นแต่ส่วนเกินยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในความสนุกสนานทางเนื้อหนัง…

ทีนี้ ในแง่ที่ ๓. ดูอาการที่มันพัวพันกัน ผูกพันกันในระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างระบบการเมือง ทั้งหลาย. ความพัวพันนี้มันเป็นความพัวพันหลายอย่างหลายทาง ; เช่นประโยชน์มันเกี่ยวเนื่องกัน หรือมันเป็นปัจจัยให้แก่กันและกัน, ต่างฝ่ายต่างต้องอาศัยกัน ; มันก็เป็นเหตุให้ระบบการเมืองในโลก มันเกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งว่า แม้เป็นข้าศึกแก่กันมันก็ยังต้องพัวพันเกี่ยวข้องกัน.

อย่างระบบเสรีประชาธิปไตย กับระบบคอมมูนิสต์โดยตรงนี้ มันด่าก็ด่ากันไป ; อีกทางหนึ่ง ก็ติดต่อกัน สัมพันธ์กัน จะล่อหลอกเอาประโยชน์จากกันและกันนี้. มันพัวพันกันอย่างคดโกงและ ทั้งอย่างซื่อตรง ทั้งอย่างต่อหน้าทั้งอย่างลับหลัง.

แล้วแต่ละพวกก็ต้องการขยายตัว ขยายตัว ขยายตัวเรื่อยไป มันก็เกิดการพัวพันกันยุ่ง : ความรู้ก็แลกเปลี่ยนกัน, การปฏิบัติงานค้นคว้าก็แลกเปลี่ยนกัน, ผลที่ได้มาก็ต้องแลกเปลี่ยนกัน ; เพราะมิฉะนั้น แล้วมันไม่รู้จะเอาไปไหน. นี่มันก็มีทั้งทางสนับสนุนกัน, แล้วก็มีทั้งที่จะทำลายล้างกันพร้อมกันไปในตัวอย่างหน้าไหว้หลังหลอก. นี่ก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการพัวพันที่น่าสังเวช ความจำเป็นบังคับให้ต้องทำอย่างนั้น ธรรมะก็ไม่มีในโลก, ธรรมะก็ไม่มีสำหรับที่จะครองโลก.

นี่เป็นอันว่า เราได้มองดูพอเข้าใจว่า โลกในสภาพปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างไร, ถ้าจะดูว่า ทำไมยิ่งเจริญ ยิ่งไม่มีสันติภาพ? ก็ขอให้ดูให้เป็น เพราะว่า คำว่า “เจริญ ๆ” นี้ มันหมายแต่เพียงว่า มันมากเข้าเท่านั้น มันมากเข้ามันหรูหราขึ้น ; แต่มันไม่ได้หมายความว่า ถูกต้องยิ่งขึ้น.”

สังคมนิยม

“สำหรับคำว่า “สังคมนิยม” คำนี้ ทุกคนก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้ว และรู้จักกันในฐานะที่เป็นชื่อของระบบการเมือง หรืออุดมคติทางการเมืองอย่างหนึ่ง และโดยส่วนใหญ่ก็เล็งถึงระบบที่เป็นข้าศึกต่อเสรี

ประชาธิปไตย พอพูดถึงสังคมนิยม ความคิดของคนสมัยนี้ก็แล่นไปถึงคอมมิวนิสต์หรืออะไรทำนองนั้น แต่ที่เราจะพูดกันในวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกันกับคำนั้น ในความหมายอย่างนั้น คือเป็นสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัดนี้เราจะพูดกันถึงสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งจะเป็นศาสนาไหนก็ได้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ตามหลักของธรรมชาติ ขอให้ทำความรู้สึกสำหรับจะฟังความหมายของคำ ๆ นี้ตามหลักแห่งพระศาสนาโดยตรง ความรู้สึกของผู้ฟังขณะนี้ควรจะเกลี้ยงเกลาไปจากความคิดเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนว่า ขึ้นชื่อว่าสังคมนิยมละก็ ต้องเป็นระบบชนกรรมาชีพที่ยื้อแย่งนายทุน หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกันเลย.

ทีนี้ขอให้ทบทวนถึงเรื่องที่เราพูดกันในครั้งที่แล้วมา คือ เรื่องศีลธรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องนี้โดยถูกต้องสมบูรณ์ และโดยง่าย เราต้องนึกถึงคำว่า “ศีลธรรม” ในแง่ที่ว่าศีลธรรมเป็นเหตุให้เกิดความปรกติ และเป็นภาวะแห่งความปรกติ นี่ก็แล้วแต่ว่าจะเล็งกันในฐานะที่เป็นเหตุ หรือเป็นผล ถ้าศีลธรรมถูกมองไปในลักษณะที่ เป็นเหตุ ก็จะเป็นสิ่งหรือเครื่องมือหรืออะไรก็ตามที่จะทำความปรกติ แต่ถ้า เป็นผล ก็คือแสดงออกมาแล้วก็เป็นภาวะแห่งความปรกติ…

เราจะดูกันว่าสังคมนิยมเป็นศีลธรรมระบบหนึ่งอย่างไร? ถ้าพูดอย่างเอาเปรียบกว้าง ๆ ไว้ทีก่อนก็คือว่า การจัดระบบที่ทำให้สังคมเป็นปรกติหรือเป็นปรกติสุขนั่นแหละจึงเรียกว่าสังคมนิยม ถ้ามันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายก็จะเป็นเรื่องความไร้ศีลธรรมในสังคม แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาของสังคมนิยมอยู่นั้นเอง.”

ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา

“ทีนี้มาดูคำว่า ทศพิธราชธรรม… นี่คือสังคมนิยมที่มีประโยชน์ที่สุด พระเจ้าแผ่นดินประกอบด้วย ทศพิธราชธรรม ถ้าท่านทั้งหลายเคยเป็นนักเรียนมาอย่างถูกต้อง ในหลักสูตรชั้นมัธยมปลายหรือว่า ชั้นมหาวิทยาลัย ในแบบเรียนจะมีเรื่องทศพิธราชธรรมให้เรียนบ้างกระมัง คงจะไม่ใคร่สนใจว่า ทศพิธราชธรรมคืออะไร เรื่องนี้มีบัญญัติไว้ชัดเป็นตัวอักษรอยู่ในพระคัมภีร์โดยเฉพาะทางพุทธศาสนา นี้เรียกว่า ธรรม ๑๐ ประการ สำหรับความเป็นพระราชา…

๑. ทานํ คือ ให้ทาน มีแต่การที่จะให้ ไม่รับ

๒. สีลํ นี้คือ ความหมายของ ศีลธรรม จะเป็นผู้มีศีลธรรมมีความเป็นปรกติ ไม่ถูกกิเลสบีบบังคับนี่คือมีศีล

๓. ปริจฺจาคํ มาบริจาคอีกที คือ บริจาคเรื่องภายในที่เลวออกไปเสีย เช่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

๔. อาชฺชวํ คือ ความตรง ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

๕. มทฺทวํ ความอ่อนโยน นิ่มนวล แม้แก่ราษฎร

๖. ตปํ คือ ตบะ นี้ตรงกับคำว่า บังคับตัวเองอยู่ self-control นั่นแหละ ตรงกับคำว่า ตบะ พระราชาจะต้องมีตบะ บังคับตัวอย่างยิ่งเสมอ

๗. อโกธํ นี้โกรธไม่ได้ โกรธไม่เป็น

๘. อวิหึสํ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ได้ แม้โดยมีเจตนา เช่น เผลอ เป็นต้น

๙. ขนฺตึ คือ ขันติ อดทน อดกลั้น ยอมรับไว้เป็นภาระส่วนตัวที่อดกลั้น

๑๐. อวิโรธนํ คำสุดท้าย คือ ไม่มีอะไรพิรุธ ไม่มีความพิรุธอุตริในแง่ใดก็ตาม

ทศพิธราชธรรมคืออย่างนี้ พระราชาองค์ไหนที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมอย่างนี้จะมีปัญหาอะไรอีก ที่จะไม่เรียกว่ามีวิญญาณแห่งสังคมนิยมเหลือประมาณ แล้วทำไมจะต้องเลิกระบบ พระราชาระบบนี้ ถ้าพระราชาระบบนี้เผด็จการ** ก็จะเป็นอย่างที่พระเจ้าอโศกเผด็จการ เผด็จการไม่ยอมให้ทำผิดทำชั่ว เผด็จการให้ทำดีก็ไปได้เร็วเท่านั้นเอง…

พระราชาที่ดีนั้นไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่เอาไปตำหนิกันอยู่ แล้วพอไปเข้าใจคำนี้ผิด ก็เลยถือว่าระบบพระราชาผิดทั้งนั้น นี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจถูกจะมองเห็นว่า พระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมอย่างพระเจ้าสมมติราชองค์แรกในโลกก็ตาม กระทั่ง พระเจ้าอโศกมหาราช กระทั่งพ่อเมืองยุคกรุงสุโขทัย แม้กระทั่งยุคกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมจะต้องมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น

ระบบพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมบริสุทธิ์นี้ ไม่ใช่ระบบที่ต้องเลิกและ ไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เขาเกลียดชัง ระบบนี้บางทีจะแก้ปัญหาของโลกได้ดีกว่าระบบใด”

ตัดทอนบางส่วนจากหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ / กลุ่มพุทธทาสศึกษา 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.buddhadasa.org/บทความพุทธทาสภิกขุ/ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ.html 

Written By
More from pp
สำนึก..ผู้มีพระคุณ – สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน ได้ยินว่า กลายเป็นประเด็นร้อน ก็..กรณีของนักร้อง “คุณเอ๊ะ-จิรากร สมพิทักษ์” ที่โดนชกขณะยืนร้องเพลงหน้าเวทีในผับแห่งหนึ่งนั่นแหละ!
Read More
0 replies on “ท่านพุทธทาสกับการเมือง”