บอร์ดวัคซีนชาติไฟเขียว แนวทางการจัดหาวัคซีนโควิดล่วงหน้า

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีน โควิด 19 โดยดำเนินการผ่านการออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พร้อมเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกโครงการ “COVAX facility”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีน โควิด 19  โดยดำเนินการผ่านการออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พร้อมเข้าร่วมองค์การอนามัยโลกโครงการ “COVAX facility” และเจรจาทวิภาคีเพื่อทำความตกลงการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า

5 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ว่า วันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม

โดยที่ประชุม คณะกรรมการวัคซีนฯ เห็นชอบนโยบายในการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ซึ่งมีโอกาสทั้งได้วัคซีนหรือไม่ได้วัคซีนดังกล่าว แต่เพื่อให้การจัดหาวัคซีนมีความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีน จึงมีการยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)

ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ตามมาตรา 18 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการทำข้อตกลงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของ COVAX facility และการทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีน ที่กำลังทำการทดสอบในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับ COVAX facility คือ ต้องลงนามทำสัญญาสำหรับการร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนเพื่อจัดหาวัคซีนและมีการจ่ายเงินในการร่วมพัฒนาล่วงหน้าก่อนที่จะมีวัคซีน


นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนไทย  ในโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ และเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคโควิด 19 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรจากงบกลางปี 2563 โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่

การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 365 ล้านบาท การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท และการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 35 ล้านบาท

Written By
More from pp
กรม สบส.เตือนแพทย์ และสถานพยาบาลเอกชนต้องตรวจสอบที่มาของยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมารับบริการทุกครั้ง
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนแพทย์ประจำ รพ.เอกชน/คลินิก ตรวจสอบที่มาของยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมาขอรับบริการทุกครั้ง หากไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องห้ามให้บริการโดยเด็ดขาด ป้องกันผลกระทบที่เกิดจากยาหรือวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมขอความร่วมมือจาก รพ.เอกชน/คลินิกทุกแห่ง ให้สอดส่อง ดูแล ให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
Read More
0 replies on “บอร์ดวัคซีนชาติไฟเขียว แนวทางการจัดหาวัคซีนโควิดล่วงหน้า”