มช. สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนพื้นที่ห่างไกล  เป็นครูรุ่นใหม่ หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น  

ด้วยปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการโยกย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น ปัญหาครูไม่ครบชั้นและไม่เพียงพอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาคุณภาพครูรุ่นใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนในชุมชนพื้นที่ห่างไกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขานรับนโยบายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สนับสนุนให้นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษา ช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท

โดยการให้ทุนเรียนครูกับเด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาในโรงเรียนชุมชนบ้านเกิดอย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะศึกษาศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้าสู่ปีที่ ประจำปีการศึกษา 2564 ด้วยเป้าหมายการผลิตครูที่มีอัตลักษณ์ เป็นต้นแบบที่ดี ผ่านกระบวนการคัดกรองเชิงคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าได้เด็กนักเรียนที่ดี มีความมุ่งมั่น มีคุณธรรมและมีจิตวิญญาณความเป็นครู ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนบนแนวคิดบูรณาการข้ามศาสตร์ และส่งเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ตลอดจนมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะสำคัญเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนรักถิ่นฐานบ้านเกิด ร่วมแก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่น เพราะหน้าที่ของครูในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ครูต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้านและชุมชนด้วย

โดยทางคณะจะดูแลตั้งแต่การเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการและสังคมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย สนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พัก ค่าครองชีพ และค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนตามความจำเป็น จนจบการศึกษา ซึ่งในปีแรกมีนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 31 คน ในสาขาวิชาประถมศึกษา และมาจากหลากหลายจังหวัด เช่น ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ รวมถึงเชียงใหม่ ด้วย

 ความสำเร็จที่ได้รับผ่านตัวแทนว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น

นส.ดวงแก้ว กานต์มณีกุล

เนื่องจากหนูชื่นชอบและอยากเป็นครู ที่สำคัญคือ หนูมีความฝันที่อยากกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองอยู่แล้ว บวกกับฐานะทางครอบครัว โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ตอบโจทย์ทุกอย่าง หนูจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ และรู้สึกดีใจ ภูมิใจในตัวเองที่สามารถเข้าเรียน มช. ได้ รวมถึงได้ทุนการศึกษาส่งหนูเรียนจนจบ มีที่ทำงานรองรับ ช่วยลดภาระทางบ้าน เป้าหมายที่หนูตั้งใจไว้คือเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนและชุมชน หนูเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยนำพาชุมชนของหนูไปในทางที่ดีได้เท่ากับคนในพื้นที่ราบค่ะ”       

นายชนสิษฎ์ วชิรพงษ์พันธุ์

ผมมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากรับราชการครู อยากสอนหนังสือให้กับน้องๆในชุมชน แต่เนื่องจากด้วยฐานะทางบ้าน พ่อแม่ไม่สามารถส่งเรียนต่อได้ จนได้มาเจอกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำให้ความฝันของผมเป็นจริงได้ ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจมากๆ ที่ได้เข้ามาศึกษาในมช. และผมมีเป้าหมายว่าหากจบการศึกษาแล้วผมจะกลับไปสอนหนังสือให้กับเด็กๆในชุมชนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และจะพัฒนาหมู่บ้านของผมให้ดีขึ้น

นางสาวสุทธิกานต์ เชอมือ

หนูมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูจึงเลือกสมัครโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อสานฝันตัวเองให้เป็นจริง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่หนูได้เรียนมชและจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด อีกทั้งยังได้อยู่กับพ่อแม่ได้ดูแลท่าน ไปจนถึงเด็กๆและคนในชุมชน หนูจะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ในตลอดระยะเวลา ปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะนำกลับไปพัฒนาโรงเรียนให้นักเรียนและคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นค่ะ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนองรับนโยบายทางการศึกษา มุ่งสร้างชุมชนแห่งวิชาชีพครูในวิถีใหม่เพื่อตอบสนองการศึกษาแห่งอนาคต สู่การเป็นบัณฑิตครูที่มีคุณภาพตามเป้าหมาย สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญคืออยู่บนถิ่นฐานได้อย่างมีความสุขและเกิดความยั่งยืนในที่สุด



Written By
More from pp
รมต.อนุชา ถวายเครื่องสักการะเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2564 พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตสัมพันธวงศ์ หรือ Community Isolation (CI)
18 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน พลเอก ประยุทธ์...
Read More
0 replies on “มช. สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนพื้นที่ห่างไกล  เป็นครูรุ่นใหม่ หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น  ”