“เยาวลักษณ์” ชี้กรณีทุนใหญ่เตรียมกว้านซื้อธุรกิจโรงแรมรายย่อย เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือรัฐบาลที่ล้มเหลว-ไม่ทั่วถึง-เอื้อทุนใหญ่ผูกขาด ทำภาคท่องเที่ยงพังระยะยาว

วันที่ 29 ตุลาคม 63-เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวปรากฎในสื่อหลายสำนักว่าเจ้าสัวเจริญตั้งกองทุน 10,000 ล้าน เพื่อลงทุนในธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กว่า นี่คือผลของความล้มเหลวจากมาตราการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ล่าช้า ไม่ตรงจุด และไม่ทั่วถึงของรัฐบาล จนทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยต่างๆ อยู่ไม่ได้ จนต้องล้มหายตายจากไป แต่มาตรการเอื้อทุนใหญ่กลับออกมาอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่ดิฉันเคยแสดงความกังวลไว้ว่านี่จะเป็นการเปิดโอกาสเอื้อให้กลุ่มทุนใหญ่ที่มีเงินทุนและมีสายป่านทางธุรกิจเข้มแข็งมากว้านซื้อกิจการของผู้ประกอบการรายย่อยในราคาต่ำกว่าราคาตลาด จนนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า กีดกันผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นได้เกิดขึ้นแล้ว และลักษณะแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว” เยาวลักษณ์ กล่าว

เยาวลักษณ์ อธิบายว่า แม้ว่าก่อนหน้ารัฐบาลจะออกมาตราช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ด้วยการออกโครงการ “เที่ยวด้วยกัน” แต่กลับพบว่าการช่วยเหลือดังกล่าวไปไม่ถึงกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก เนื่องจากโครงการนี้จะให้เฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงแรมเท่านั้น ในขณะที่โรงแรมขนาดเล็ก การท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งโฮสเทลต่างๆ กว่า 80 % ที่ไม่สามารถยื่นจดทะเบียนไม่สามารถร่วมโครงการนี้ได้ ส่งผลให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้การออกเงินกู้ soft loan ของรัฐก็มีเงื่อนไขประกอบการกู้มากมาย ทำให้เงินกู้ดังกล่าวช่วยเหลือไม่ทั่วถึงอย่างแท้จริง

“จากที่ดิฉันได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม หลายท่านมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกน่าจะกลับมาคลี่คลาย ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติในราวไตรมาสที่ 3 ของปี 65 หลายท่านมองไปถึงปี 67 เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นการต้องแบกรับต้นทุนดำเนินกิจการโรงแรม ที่พักต่อไปโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและทันท่วงที ย่อมทำให้ธุรกิจโรงแรมรายเล็กรายย่อยที่สายป่านไม่ยาวอยู่ไม่ได้” เยาวลักษณ์ กล่าว

เยาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบในระยะต่อไปของภาพรวมธุรกิจโรงแรมจากการเข้ามาช้อนซื้อของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในและนอกประเทศมีประเด็นที่น่าห่วงอยู่ 3 ประเด็น

1.การผูกขาดทางธุรกิจการท่องเที่ยวจากการเข้ามาช้อนซื้อของกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งตอกย้ำการถือครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศด้วยคน เพียง 1% นอกจากช่องห่างของความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งขยายตัวออกแล้ว ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ เพราะการดำเนินธุรกิจต้องกระจายโอกาสและทรัพยากรให้กลุ่มทุนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันและสร้างมิติเชิงคุณค่าต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการให้หลากหลาย


2.การไหลออกของแรงงานภาคธุรกิจโรงแรม จะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านการโรงแรมและการบริการ เพราะหากแรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องออกไปประกอบอาชีพอื่นในช่วงธุรกิจซบเซาหรือปิดตัวลงแล้ว โอกาสที่แรงงานมีทักษะเหล่านี้จะกลับเข้าทำงานในภาคบริการอีกครั้งเมื่อภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาปกติจะลดน้อยลงไปมาก ทำให้ประเทศต้องสูญเสียแรงงานที่มีทักษะและต้องใช้เวลาและต้นทุนสูงในการพัฒนาแรงงาน

3.การเข้ามาซื้อกิจการในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดในระยะต่อไปของทุนนอกประเทศ เช่น จีน หรือยุโรปบางส่วน จะส่งผลต่อการถือครองกรรมสิทธิ์ในธุรกิจภาคบริการของชาวต่างชาติที่จะมีมากขึ้น ทำให้คนไทยยิ่งหมดโอกาส เข้าไม่ถึงทรัพยากรของประเทศตนเองในการประกอบธุรกิจ



Written By
More from pp
ซิกน่า ประกันภัย เปิดตัวเครื่องวัดระดับความเครียด เครื่องแรกของโลก ครั้งแรกในประเทศไทย เชิญชวนคนไทยมาร่วมแคมเปญ ”เผยความเครียดที่มีตัวตน” (SEE STRESS DIFFERENTLY)
บมจ. ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีพันธกิจในการช่วยพัฒนาสุขภาพ ชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น เชิญชวนคนไทยมาค้นพบและเปิดเผยความเครียดที่มีตัวตนกับแคมเปญ “เผยความเครียดที่มีตัวตน” (SEE STRESS DIFFERENTLY) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในตัวตนของความเครียดผ่านเครื่องวัดระดับความเครียดเครื่องแรกของโลก เป็นครั้งแรกในประเทศไทย...
Read More
0 replies on ““เยาวลักษณ์” ชี้กรณีทุนใหญ่เตรียมกว้านซื้อธุรกิจโรงแรมรายย่อย เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือรัฐบาลที่ล้มเหลว-ไม่ทั่วถึง-เอื้อทุนใหญ่ผูกขาด ทำภาคท่องเที่ยงพังระยะยาว”