นิมิตหมายจาก “ไฟในเมือง”

“ความจริง” อย่างหนึ่ง ที่เราต้อง “ยอมรับ”
ในภาวะ “โลกเปลี่ยนยุค”
มีอิทธิพลต่อชีวิต, จิตใจ, ทัศนคติ, อารมณ์, ความรู้สึก, นึก, คิดของประชาชนทั่วทั้งโลก
รวมทั้ง “ประเทศไทย” เราด้วย!ทุกคนรู้สึก อึดอัด, กดดัน ไม่พอใจสิ่งรอบตัว พยายามดิ้นรน เพื่อออกจากกรงขังความรู้สึกนั้น ไปสู่สิ่งใหม่
โดยไม่สนใจว่า สิ่งนั้น คืออะไร ดีหรือร้าย!?
ขออย่างเดียว……..
ขอไปให้พ้นจากสภาพเดิมๆ ดีหรือร้าย ไปว่ากันข้างหน้า ไปให้พ้นสภาพอันไม่พึงปรารถนาปัจจุบันนี้ก่อน เป็นใช้ได้!

เหตุผลการดิ้นรนเพื่อปลดเปลื้องไปจากสิ่งไม่ปรารถนาของแต่ละคน-แต่ละฝ่าย อาจต่างกัน
และความต่างนั้น…..
นำไปสู่ “อารมณ์” เชิงขัดแย้งในแต่ละฝ่าย ซึ่งมีโอกาสพัฒนาไปสู่ขั้น “ร่างกายอยากปะทะ” โดยไม่ยาก

หลายคนมองความเป็นไปแล้ว “วิตก-หวั่นไหว”
แต่ในมุมมองผม……
การขยับเขยื้อนของสังคมกลุ่มต่างๆ มันเป็นพลังงานทางธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง
ฝืนสังคม เท่ากับ ฝืนธรรมชาติ!
คือธรรมชาตินั้น เป็นทั้งตัวสร้างและตัวทำลาย เมื่อสร้างสิ่งใด-สิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ถึงกาลอันควร ธรรมชาติก็ทำลายสิ่งนั้น แล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแทน หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป

จะเปลี่ยนแบบรักษาโครงสร้างเดิม หรือเปลี่ยนหมดทั้งโครงสร้าง นั่นขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติเดิมเป็นหลัก
เหมือน “ทะเลกับชายหาด” เป็นปัจจัยเกื้อกัน

ธรรมชาติมอบให้ทะเลทำหน้าที่ชำระเศษขยะ ด้วยการให้นำคลื่นเป็นระลอกๆ เข้ามาขยอกหาด
“ปฏิกริยาสังคม” ก็คือ “คลื่นขยอก” เพื่อชำระสิ่งอันเป็นปฏิกูลสังคม เมื่อธรรมชาติกำหนดรู้ว่า ถึงเวลา “ต้องชำระ”

พูดให้เห็นภาพ ปรากฏการณ์นี้ เป็นอย่างภาษาโหรที่บอกว่า ถึงเวลาโลกเปลี่ยน
ถ้าใครไม่เปลี่ยนตัวเอง ก็จะถูกสังคมเปลี่ยน
และถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเจ็บปวด เดียวดาย!

ธรรมชาติ ไม่ได้มีให้ฝืน และไม่ปรากฏฝืนแล้วจะชนะ ดังนั้น ผู้รู้-ผู้ฉลาด จะเข้าใจหลักว่า
ลมจะไม่พัดตามทิศทางใบเรือ มีแต่คนต้องปรับใบเรือให้ต้องตามทิศทางลม
เหมือนไฟป่า ดับทันทีไม่ได้ ต้องปล่อยให้ไหม้ โดยควบคุมให้ไหม้อยู่ในวงจำกัด อย่าปล่อยให้ลามออกไป

มองความจริงตามหลักธรรมชาตินี้แล้ว เหลียวมองการรับรู้ “ปฏิกริยาสังคม” ของผู้นำบ้านเมือง คือ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ผมดีใจ……..
เพราะปฏิกริยาสังคมตอนนี้ นายกฯ สนองตอบเชิงเข้าใจ หันใบตามทิศทางลม สู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมประเทศ เรียกว่า “ทันเหตุ-ทันการณ์”

สังคมต้องการ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่”
นายกฯ ก็สนองตอบ
สังคมต้องการปฏิวัติ “รื้อ-ล้าง” ตำรวจ-อัยการ จัดโครงสร้าง “ระบบยุติธรรม” ใหม่
นายกฯ ก็สนองตอบ

ในความเป็นสังคมประเทศที่ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ปฏิกริยาสังคม ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดชะตาอนาคตประเทศจริงจังยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน
นายกฯ ก็สนองตอบ

เหล่านี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี บ่งบอกการเปลี่ยนวงรอบประเทศชนิดมีนัยสำคัญ

เมื่อวาน (๓๑ กค.๖๓) คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยพรรคการเมืองทั้ง “ฝ่ายค้าน-รัฐบาล”

หลังจากศึกษาปัญหาร่วมกันมาระยะเวลาหนึ่ง “นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” ประธานกรรมาธิการฯ และคณะ แถลงความคืบหน้า น่าดีใจ
ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน……

“ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ (ฉบับปัจจุบัน) เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น”

เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองและระบบกฎหมาย

จึงมีความเห็นว่า…….
“ต้องแก้ไขในมาตรา ๒๕๖ ก่อน”!
คือ มาตรานี้ เป็นเหมือนกุญแจที่ล็อก “ห้ามแก้” ไว้ ดังนั้น ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ ก็ต้องไขล็อคฝกกุญแจมาตรานี้ออกก่อน

และกมธ.มีความเห็นตรงกัน……..
หากเป็นไปได้ จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจจะต้องเสนอตั้งสสร.หรืออะไรก็แล้วแต่รัฐบาลจะพิจารณา

และหากเป็นไปได้
กรรมาธิการฯ จะเพิ่มเติมหมวด “การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” เข้าไปอีกหนึ่งหมวด

นายโภคิล พลกุล “ตัวแทนเพื่อไทย” ที่ปรึกษากมธ.เสริมว่า
ขณะนี้ ประชาชน นิสิต นักศึกษา อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
การแก้ไข ม.๒๕๖ จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ยุ่งยาก เห็นว่าควรตั้งสสร.เหมือนปี ๒๕๓๔ ที่ได้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐
และให้ความเห็นนี้ เป็นการบ้าน กมธ. “ตัวแทนจากแต่ละพรรค” ไปพิจารณา ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ จะเกิด ๒ อย่างในชั้นแรก

๑.เกิด.สสร. “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนุญ”
๒.แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นปัญหาต่างๆควบคู่ไปด้วยกัน หากทุกพรรคและส.ว.เห็นพ้อง จะได้รัฐธรรมนูญฉบับมีการแก้ไข ภายใน ๕ เดือน
และสสร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขอีก ๓๙๐ วัน

ครับ…..
นี่คร่าวๆ แต่ผมถือเป็นนิมิตดีในการเปลี่ยนวิกฤติบ้านเมืองเป็นโอกาสของสังคมชาติสู่อนาคต

นิมิตดีอย่างแรก เพราะรัฐบาล โดยนายกฯประยุทธ์ มีวิสัยทัศน์ ไม่ถือทิฐิ ใจกว้าง เปิดทางให้มีคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้

อย่างที่สอง เป็นนิมิตสามัคคีเพื่อชาติ เพราะ กมธ.ชุดนี้ มาจากทุกพรรคทั้งค้าน-รัฐบาล ประชุมร่วมกัน มีความเห็นเป็นมติร่วมกัน เรียกว่าจริงใจต่อบ้านเมือง
ถือว่า โอเค.!

อย่างที่สาม นี่เท่ากับเปลี่ยนจากไฟลุกไหม้เผาเมือง ไปเป็นการบริหารไฟให้เป็นพลังงานขับเคลื่อนสังคมประเทศ
จะสำเร็จไปถึงจุดตั้งสสร.เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนมีส่วนรวมตามที่กมธ.หวังหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
แต่แค่เห็น “สามัคคีเป็นพลัง” จากแต่ละพรรคต่างขั้วเช่นนี้ ก็น่าดีใจแล้ว
อย่างน้อย แสดงถึง แต่ละคน-แต่ละฝ่าย มีเจตนาตรงกัน การเปิดใจกว้าง ยอมรับความเห็นต่าง นำความต่างไปสู่ทางร่วมกันได้เช่นนี้
ประเสริฐครับ…ประเสริฐ!

ถ้าสามัคคีด้วยจริงใจต่อบ้านเมืองเช่นนี้ ผมเชื่อ ถึงจุดแล้ว “สมาชิกวุฒิสภา” ก็พร้อมร่วมมือ อะไรที่ดีต่อบ้านเมือง และประชาชนต้องการ
ถ้าใครต้าน ก็…เสียคน!

บริหารความต่างให้เป็นไฟลุกไหม้อยู่ในเตา ไม่ปล่อยเผาไหม้เปะปะ ถูกต้องที่สุด
และนายกฯ ทำตรงนี้ได้เหมาะสมแล้ว

เหมือนกับที่ตั้ง
“คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาบอส อยู่วิทยา” วันก่อน (๒๙ กค.)
ไม่เพียงตั้ง “ถูกเรื่อง-ถูกกาล”
การเจาะตัวคนเป็นประธานและคณะกรรมการ ก็ “ถูกที่-ถูกใจ” ประชาชน ที่กำลังหม่นไหม้กับการวิบัติไปขององค์กรตำรวจ-อัยการ

บันทึกรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ไว้ ดังนี้
๑.ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ประธาน
๒.ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
๓.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
๔.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
๕.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
๖.ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ
๗. ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๘.รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๙.ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ รักษาราชการแทน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
๑๐.นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน

ครับ…สังคมพอใจด้วย “เชื่อใจ” คณะกรรมการชุดนี้
แต่สังคม ต้องการคำมั่นสัญญาจากปากท่านนายกฯชัดๆ ว่า จะไม่จบแต่ตรวจสอบ
จะปฏิรูป “รื้อ-ล้าง” ระบบ “อัยการ-ตำรวจ” ด้วยหรือไม่ ตอบให้ชัดด้วย!



Written By
More from plew
“ธรรมนัส” บนทางเลือก-เปลว สีเงิน
ก็ดีใจนะ ……… ที่นายกฯ ประเทศไทยไม่ขาดตลาดแน่! เพราะทั้งนายจุรินทร์ ประชาธิปัตย์ ทั้งนายพิธา ก้าวไกล ทั้งนายอนุทิน ภูมิใจไทย และฯลฯ ต่างประกาศ...
Read More
0 replies on “นิมิตหมายจาก “ไฟในเมือง””