‘โรม’ ผิดหวัง ‘ ชัยชาญ’ ไร้คำตอบชื่อผู้รับผิดชอบ ‘สลายการชุมนุม’ ซัดสองมาตรฐานดูแลผู้ชุมนุม ฝ่ายหนึ่งเสิร์ฟน้ำ แต่อีกฝ่ายฉีดน้ำใส่ 

4 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มาเป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดแทน

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงนับตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นกลางเดือนกรกฎาคมและตุลาคม มีการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 3 ครั้ง คือ ช่วงบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม เช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม และช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ตุลาคม โดยการชุมนุมของราษฎรทั้งหมด ไม่มีการประทุษร้าย การทำลายทรัพย์สินของราชการอย่างร้ายแรง และเป็นการชุมนุมที่พยายามลดผลกระทบต่อประชาชนเสมอมา
เช่น การหลีกทางให้รถพยาบาลผ่านทุกครั้ง เป็นการชุมนุมที่มีการประกาศเวลาเริ่มและเลิกการชุมนุมชัดเจน ส่วนการอ้างถึงเรื่องขบวนเสด็จ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการสร้างอันตรายหรือประทุษร้ายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด การชุมนุมจึงสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุให้ต้องสลายการชุมนุม อีกทั้งการดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นนั้น ศาลได้มีการยกคำร้องแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าตำรวจก็ยังดำเนินการทางคดีด้วยมาตรานี้ซ้ำ โดยไม่สนใจแนวทางการวางหลักของศาลแต่อย่างใด
“จึงขอตั้งคำถามว่าการตัดสินใจสลายการชุมนุม ใครคือผู้รับผิดชอบสูงสุด และใช้เกณฑ์อะไรในการสลาย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เข้าหลักเกณฑ์อะไรบ้าง นอกจากนี้ หากการกระทำของทางเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุ จะมีการรับผิดชอบอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นทำไมยังมีการจับราษฎร แกนนำโดยใช้หมายจับที่สิ้นผลไปแล้วทำราวกับว่ากำลังใช้กระบวนการยุติธรรมที่ให้ผลร้ายกับผู้ชุมนุม”
สำหรับคำถามที่สอง เป็นเรื่องมาตรฐานในการจัดการผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย นายรังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตุว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีหลายกลุ่ม มีทั้ง ‘กลุ่มคนใส่เสื้อเหลือง’ และ ‘กลุ่มราษฎร’ ในกลุ่มคนใส่เสื้อสีเหลืองมีทั้งบุคลากรจากหน่วยงานราชการที่มาด้วยการชักชวนของรัฐมนตรีบางคน มีกลไกข้าราชการในการสนับสนุนให้เข้าร่วม และได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่มีการวางกำลังปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
บางกรณีมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเพจของกรมประชาสัมพันธ์ หรือมีการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานก็สามารถทำได้และไม่มีการถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีกรณีที่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองทำร้ายร่างกายนักศึกษารามคำแหงในวันที่ 21 ตุลาคม ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างของมาตรฐานของการชุมนุมแต่ละฝ่าย หากเปรียบเทียบง่ายๆก็คือเหมือน ฝ่ายหนึ่งรัฐเสิร์ฟน้ำ อีกฝ่ายรัฐฉีดน้ำ
“ขอถามว่า ที่ผ่านมาการชุมนุมโดยคนสวมเสื้อเหลืองใช้ทรัพยากรของสาธารณะไปกี่ครั้ง ครั้งใดบ้าง คิดเป็นเงินงบประมาณเท่าใด ทำไมการชุมนุมแต่ละฝ่ายถึงได้รับการปฏิบัติที่ต่างกัน มีการดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว หากการชุมนุมของฝ่ายราษฎร อยากได้รับการอำนวยความสะดวกบ้าง ต้องทำอย่างไร แจ้งที่ใคร และพวกท่านสามารถจัดหาให้ได้บ้างหรือไม่”
ในคำถามสุดท้าย นายรังสิมันต์ได้ตั้งคำถามแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยระบุว่า มีเสียงสะท้อนถึงชะตากรรมของตำรวจที่เข้ามากรุงเทพ ทั้งเรื่องเบี้ยเลี้ยงที่ไม่พอจ่าย อาหารจัดเลี้ยงที่อาจมีการกินหัวคิว และไม่มีการจัดสถานที่พักผ่อนอาศัยให้อย่างเหมาะสมมีศักดิ์ศรี
“บางคนต้องไปอาศัยนอนตามโถงหน่วยงานราชการ เบี้ยเลี้ยงไม่พอรายจ่าย เวลารับข้าวไม่สอดคล้องกับมื้ออาหาร รวมทั้งอาหารที่ได้รับไม่อิ่มท้องต้องซื้อกินเพิ่ม ทำให้เงินไม่พอ จำเป็นต้องเรี่ยไรจากเพื่อนในโรงพักเป็นค่าใช้จ่าย ผมทราบมาว่ามีการนำกำลังพลเข้ามา 14,000 นาย โดยแต่ละคนได้รับค่าอาหารมื้อละ 60 บาท ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 23 ล้านกว่าบาท
แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ข้าวบางกล่องมีแค่ปีกไก่ หรือมีแค่ไข่ต้ม น้ำพริก การเกณฑ์ตำรวจชั้นผู้น้อยมา ทำไมรัฐจึงไม่ดูแลให้สมศักดิ์ศรี การมาทำหน้าที่ของพวกเขายังโดนประชาชนดุว่า เพื่อให้เจ้านายได้หน้าได้ตา และยังเป็นปกป้องอำนาจของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีตำรวจที่ไปชูป้ายว่า ทำงานแทบตาย นายแดกหัวคิว สิ่งที่เกิดขึ้นมีข่าวว่าเขาน่าจะถูกสั่งขังและให้ทำรายงานส่ง จากนั้นอาจมีการบังคับให้มาแถลงข่าวว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น”
ในการตอบกระทู้ พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ให้ความยุติธรรมทุกฝ่าย รวมทั้งหากไม่ดำเนินการเจ้าหน้าที่ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐบาลตระหนักดีในเสรีภาพของการชุมนุม เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไม่กระทบสิทธิคนอื่น รวมทั้งเจ้าหน้ามีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคสอง โดยปกติมี พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ต่อมา มีเหตุทำให้มีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ในการตัดสินใจ ‘ขอคืนพื้นที่’
เนื่องจาก เหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม มีการชุมนุมซึ่งตอนเย็นมีหมายขบวนเสด็จ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปบนฟุตบาท มีการเจรจาทุกขั้นตอน แต่ทางผู้ชุมนุมมีการสาดสีใส่ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการทางกฎหมายตาม ป.วิอาญา ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม การจัดเส้นทางขบวนเสด็จมีทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเส้นทางที่ใช้เหมาะสมที่สุด หากใช้เส้นอื่นจะไม่เรียบร้อยมากขึ้น
ซึ่งเส้นทางรองก็มีผู้ชุมนุมอยู่ ส่วนวันที่ 15 ตุลาคม การดำเนินการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเช้า มีการดำเนินการมาชุมนุม เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยมีหลักปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอน ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีและตามประกาศชุมนุมสาธารณะ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ในตอนนั้นดูแลความเรียบร้อย
.


“ในส่วนของความรับผิดชอบ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้น โดยมีการประเมินสถานการณ์เพื่อให้กลับไปสู่ความเรียบร้อย ในวันที่ 13 ตุลาคม ภาพที่ปรากฎคือมีการล้อมรถพระที่นั่ง ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่มที่ปกป้องสถาบันฯ เป็นความรู้สึกของประชาชนที่เคารพและเทิดทูนสถาบันฯ เมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน มีประชาชนมาร่วมรับเสด็จในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต คนที่มาร่วมพิธีไม่ได้เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ นอกจากนี้บางกลุ่มไม่ได้แจ้งมาชุมนุม แต่บางกลุ่มแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลตามกรอบกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่อย่างเท่าเทียม”
สำหรับความคืบหน้าคดีการทำร้ายผู้ชุมนุมที่ ม.รามคำแหง มีผู้ร้องทุกข์ 5 ราย มีผู้ต้องสงสัย 10 คน มีหลักฐานว่ากระทำผิด 1 ราย วันที่ 6 พ.ย. จะต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนที่เหลือกำลังเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ ส่วนคำถามเรื่องการเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจากต่างจังหวัด พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีกำหนดแผนปฏิบัติว่าต้องใช้กำลังเท่าไหร่ ที่ต้องนำตำรวจจากต่างจังหวัดมาเพราะไม่เพียงพอตามแผน


วิธีการปฏิบัติคือการต้องหมุนเวียนจากภาคต่างๆ เข้ามาและประเด็นที่ว่าอาหารเพียงพอหรือไม่ นโยบายของนายกรัฐมนตรีระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดูแลสิทธิและสิ่งที่พึ่งมีพึงได้รวมถึงขวัญกำลังใจของกำลังพล การปฏิบัติงานในรอบหนึ่งคือ 15-20 วัน และประเด็นที่ว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่นิ่งนอนใจ ประเด็นที่ว่าบางส่วนมีการเบิกจ่ายหรือไม่ ต้องตอบว่ายังไม่ได้เบิกจ่ายแต่เป็นการเบิกจ่ายด้วยงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน
เมื่อได้ฟังการชี้แจง รังสิมันต์กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในคำตอบของรัฐมนตรีมาก เพราะไม่ได้ตอบในคำถามที่ถาม เพราะสิ่งที่ถามคือ ใคร ชื่ออะไร เป็นผู้สั่งให้มีการสลายการชุมนุม และที่บอกว่ามีการกีดขวางบวนเสด็จที่อ้างถึงนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ใน วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งในวันนั้นมีสื่อปรากฏทั่วไปว่าไม่มีการขวางขบวน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีอำนาจไปสลายการชุมนุม เพราะจะต้องไปขออำนาจจากศาลก่อน ข้อเท็จจริงคือไม่มีการไปขอแต่อย่างใด อีกทั้งข้ออ้างที่บอกว่ากีดขวางเส้นทางเสด็จ ข้อเท็จจริงคือไม่มีการกีดขวาง


“ส่วนเหตุการณ์ที่คนใส่เสื้อเหลืองกระทำในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งมีการปะทะ การใช้ความรุนแรง ถึงวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ดำเนินคดีเลย ทำให้บางคนบอกว่าเป็น ‘ม็อบมีเส้น’ นอกจากนี้ ผมก็เข้าใจมาโดยตลอดอยู่แล้วว่า การไปรับเสด็จไม่ใช่การไปชุมนุม แต่จากการฟังระหว่างบรรทัดที่ท่านรัฐมนตรีตอบ พูดราวกับว่าการชุมนุมเป็นเรื่องเดียวกันกับรับเสด็จ ตรงเป็นเรื่องอันตรายต้องระวัง”
นายรังสิมันต์ยังระบุด้วยว่า สิ่งที่รัฐมนตรีตอบคือการบ้านที่เตรียมมา แต่ไม่ได้ตอบคำถาม เพราะที่ถามไปคือ เจ้าหน้าที่ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการสลายการชุมนุม เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อเจรจาแล้วก็ฉีดน้ำทันที จึงต้องถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ เพราะไม่เชื่อว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะสั่งการได้ ต้องมีอำนาจสั่งการที่สูงกว่านั้น และอยากให้กล่าวชื่อออกมาเลย

Written By
More from pp
อำเภอบางใหญ่ ร่วมกับ พช.นนทบุรีปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครบรอบ 1 ปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.30น. ณ สำนักปฏิบัติธรรมศรีมงคล ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี นายชุ้น...
Read More
0 replies on “‘โรม’ ผิดหวัง ‘ ชัยชาญ’ ไร้คำตอบชื่อผู้รับผิดชอบ ‘สลายการชุมนุม’ ซัดสองมาตรฐานดูแลผู้ชุมนุม ฝ่ายหนึ่งเสิร์ฟน้ำ แต่อีกฝ่ายฉีดน้ำใส่ ”