สามารถ สอนน้อง๓นิ้ว ให้มีหัวใจประชาธิปไตย อย่าแก้ปัญหาแบบคนตาบอดคลำช้าง ย้ำให้ใช้กลไกสภาแก้ปัญหาแบบอารยประเทศ ยกอเมริกันต้นแบบประชาธิปไตยอดทนรอ๔ปีเลือกใหม่

5 พ.ย.63 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ได้รับข้อมูลจากประชาชนส่งข่าวกรณีกลุ่มอ้างตัวเป็นราษฎรย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้องว่าไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก

ตนมองว่าเป็นเด็กไม่มีเหตุผลและไม่ใช่หลักการประชาธิปไตย เป็นคนเอาแต่ได้ ซึ่งสิ่งที่ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวมาตลอด คือเรื่องการมีจิตสาธารณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการปลูกจิตอาสาเพื่อที่จะให้คนไทยมีจิตใจเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่รับฟังปัญหาคนอื่น

โดยกลุ่มที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหรือกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่กลับไม่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย ได้มีข้อเรียกร้องเน้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกก็ไม่ใช่หนทางการแก้ปัญหาแต่อาจสร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้นเป็นการทำลายกติกาที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า อยากย้อนประวัติศาสตร์ให้น้องๆ เยาวชนหรือคนไทยทั้งประเทศที่กำลังติดตามเฟซบุ๊กตนอยู่นั้นได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2403 หรือ ค.ศ.1860 อับราฮัม ลินคอล์น เป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันคนแรก ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

แต่ถ้าดูในส่วนประวัติศาสตร์ชาติไทยถือว่าเป็นวันสำคัญมากเพราะตรงกับ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 เป็นวันกอบกู้เอกราชไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้กรีธาทัพในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา เข้ายึด ค่ายโพธิ์สามต้น ปราบพม่าจนราบคาบ จึงสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

“ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ ทำให้คนไทยมีเอกราชจนถึงทุกวันนี้ก็อยากให้น้องๆ กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง จึงอยากเสนอทางออกให้น้องๆ ง่ายนิดเดียว คือ ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ปัญหาเอาความเดือดร้อนของน้องๆ ฝากไปยังตัวแทนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะประเทศไทยใช้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

นายสามารถ กล่าวต่อว่า หากคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่น้องๆ เลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปตามหลักการที่ว่า “ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ก็โดยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ”

ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นว่ารัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่ควรแก่การไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น โดยในประเทศญี่ปุ่นมีมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1947 บัญญัติว่า “หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบญัตติไม่ไว้วางใจ หรือมีมติไม่เห็นชอบญัตติไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพึงลาออก เว้นแต่ว่ามีการยุบสภาผู้แทนราษฎรภายในสิบวัน

โดยในประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ได้เพิ่มหลักการสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่น เรียกว่า “การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” ซึ่งถูกนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย

ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การอภิปรายไม่ไว้วางใจจำแนกได้เป็น:

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา (โดยทั่วไปคือ 100 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ โดยเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหลีกหนีการถูกอภิปราย


การออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรอง มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (โดยทั่วไปคือเท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง) หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามมาตรา 170

นายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167

ในอดีตเคยมีการอภิปราย 7 วัน โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้นถือนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ถึง 26 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โดย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน ได้มีการยื่นเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งคณะ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอย่างรุนแรง ข้าวปลาอาหารราคาแพง การทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาล รวมไปถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติอย่างกว้างขวาง เพราะรัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างได้แม้จะผ่านมาแล้วถึงหนึ่งปี


การอภิปรายครั้งนี้ดำเนินอย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 8 วัน 7 คืน ด้วยกัน จนถูกเรียกว่า “มหกรรม 7 วัน” ผู้นำการอภิปรายคือ นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นการอภิปรายครั้งแรกที่ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุกระจายเสียง แม้ผลการอภิปราย รัฐบาลจะได้รับเสียงไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยมติ 86 ต่อ 55 จากสมาชิกทั้งหมด 178 คน แต่หลังจากนั้นเพียงสองวัน คือ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องลาออกเพื่อลดแรงกดดันและปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี

ดั้งนั้น จึงอยากบอกแกนนำม๊อบ 3 นิ้ว ให้มองประวัติศาสตร์และให้ดูแบบประเทศอเมริกาที่คนอเมริกาไม่ชอบทรัมป์ก็อดทนรอให้ครบ 4 ปี แล้วมาใช้สิทธิ์ของตนเองตามระบบประชาธิปไตย อย่าแก้ปัญหาด้วยเอาแต่ใจตัวเอง หรือ แก้ปัญหาแบบคนตาบอดคลำช้าง

ดังนั้น จึงอยากให้น้องๆ ได้ยึดหลักการประชาธิปไตย โดยให้ใช้กลไกประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาจะดีกว่า อย่างที่ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นเอง หรือ ประเทศไทยเอง ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการไว้วางใจก็ต้องประกาศลาออกหรือยุบสภาอยู่แล้ว ดังนั้น อยากให้น้องๆ เยาวชนใช้กลไกตรงนี้ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกต้องตามกฎหมายและดีกว่าใช้มวลชนปิดถนนสร้างความวุ่นวายซึ่งไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องรับฟังผู้อื่นและคนที่คิดต่างด้วย อย่าเอาแต่ใจตัวเองซึ่งนั้นจะเรียกว่าเผด็จการ หาใช่ประชาธิปไตยไม่

 



Written By
More from pp
“สส.พิมพ์พร” วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร จ.เพชรบูรณ์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังหารือไปแต่ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร
11 มกราคม 2567 น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)จ.เพชรบูรณ์ เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงการบริหารจัดการและบูรณาการ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรในจังหวัดเพชรบูรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Read More
0 replies on “สามารถ สอนน้อง๓นิ้ว ให้มีหัวใจประชาธิปไตย อย่าแก้ปัญหาแบบคนตาบอดคลำช้าง ย้ำให้ใช้กลไกสภาแก้ปัญหาแบบอารยประเทศ ยกอเมริกันต้นแบบประชาธิปไตยอดทนรอ๔ปีเลือกใหม่”