‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองอัจฉริยะ

default

หลายคนคงเคยมานั่งคิดเล่นๆ ว่าอยากให้โลกในอนาคตของเรานั้นเป็นยังไง?

ไม่ใช่แค่ 10 หรือ 20 ปี แต่อาจจะเป็น 50 หรือ 100 ปีข้างหน้า ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด จะเกิดการเจริญเติบโตของสังคมขนาดไหน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ในยุคนั้นสังคมอาจจะมีถนนที่อยู่บนฟ้าจริงๆ คนอาจจะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางที่ใช้เวลานาน หรืออาจจะมีการพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทคขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ก็ได้

เหมือนอย่างในหนังที่ชอบหยิบยกมุมมองโลกแห่งอนาคตมานำเสนอ ถ้าถึงตอนนั้นที่การพัฒนาเกิดขึ้นแบบไม่มีปัญหา สังคมไม่ได้อยู่ในจุดย่ำแย่ ก็คงจะน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย และที่พูดเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันอะไร เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีส่วนใหญ่พัฒนาได้ด้วยจิตนาการ การคิดริเริ่มที่จะทำสิ่งใหม่ การลองผิดลองถูก จนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมาก แม้จะไม่เท่ากับสิ่งที่เราอยากได้ทั้งหมดเหมือนในโลกอนาคต แต่ก็สามารถสนองความต้องการได้อย่างดีเยี่ยม ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา สร้างความสะดวกสบาย รวมถึงในภาคการผลิตทุกขนาดเทคโนโลยียังสามารถลดต้นทุนได้อีก

และจะดีแค่ไหนถ้าทุกอย่างที่อยากได้ มีเตรียมพร้อมไว้ให้หมดแล้วในพื้นที่ที่เราต้องอยู่อาศัย หรือทำงาน…

วังจันทร์วัลเลย์ ก่อนหน้านี้เป็นป่าที่แทบจะไม่มีใครเห็นความสำคัญ จนล่าสุดที่ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น พื้นที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จึงได้ถูกคัดเลือกให้มาเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทุกภาคส่วนของประเทศ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดย ปตท. เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการจะพัฒนาพื้นที่ และได้รับความไว้วางใจจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรหลักกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการวางแผน พัฒนา และบริหาร

เป้าหมายหลักๆ ไม่ใช่แค่เตรียมพื้นที่แล้วเอาอุตสาหกรรมการผลิตไปลง แต่ด้วยความเข้าใจในยุคสมัยของ ปตท. จึงตั้งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ให้รองรับการพัฒนาด้านนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่มาจากการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนที่จะมาใช้บริการการทำงาน โดยได้จัดเตรียมพื้นที่ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เพียบพร้อม ตอบสนองการใช้งานตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม

ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งประมาณ 60% ของโครงการ เพื่อสร้างทัศนียภาพแลสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสามารถช่วยกระตุ้นและเพิ่มศักยภาพทางความคิดและจินตนาการ แนวความคิดในการวางผังแม่บทโครงการ จึงได้เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติมากที่สุด เพื่อเอื้ออำนวยต่อการศึกษาวิจัยและการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ

โดยได้แบ่งโซนการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่

1. Education Zone ที่เน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ในโซนนี้ ปัจจุบันได้เป็นที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์

2. Innovation Zone ที่เป็นพื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ในโซนนี้จะเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของ สวทช. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองนวัตกรรมใหม่ และภาคเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังรอการพัฒนาในอนาคตร่วมกับพันธมิตรที่สนใจดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านวิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย

ส่วนที่ 3 คือ Community Zone ที่พัฒนาสำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับนักวิจัยและครอบครัว รวมถึงชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบและประชาชนทั่วไป


แถมในพื้นที่ก็ยังมีระบบอำนวยความสะดวกอีกเพียบ จะไล่มาทั้งหมดก็คงไม่ไหว ทั้งระบบดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระบบการผลิตและการให้บริการน้ำประปาเพื่อการบริโภคและอุปโภคแก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอย่างทั่วถึง การรวบรวมและบำบัดน้ำเสียทั้งหมดภายในพื้นที่โครงการที่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำ แหล่งพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงอื่นๆ สำหรับพื้นที่ เพื่อลดการรับไฟฟ้าจากภายนอก

ให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV BUS) ภายในพื้นที่โครงการ จัดให้มีชุมชนวิชาการผ่านระบบออนไลน์ และให้บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้มีหุ่นยนต์ช่วยปฏิบัติงานที่ใช้แรงงาน งานที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย หรืองานตามความจำเป็นอื่นๆ จัดให้มีระบบการใช้บัตรอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จ สำหรับการให้บริการในร้านค้า ระบบขนส่งสาธารณะ และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐในพื้นที่โครงการ

และอีกหลายอย่างมากมาย ถือว่าเป็นเมืองไฮเทคในฝันเลยก็ว่าได้ แต่พื้นที่แห่งนี้ ไม่ใช่พื้นที่ของบ้านจัดสรร หรือแบ่งขายเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับใครที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีๆ ตอบสนองกำลังเงินในกระเป๋า แต่เป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อผลักดันประเทศสู่ความก้าวหน้าได้



Written By
More from pp
‘จุรินทร์-เอนก’ ลงพื้นที่ตรวจ รพ. สนามบ้านวิทย์ฯ 224 เตียง รองรับผู้ป่วยพิการติด โควิด-19 พร้อมเปิดบริการ 1 มิ.ย. นี้
วันที่ 26 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ
Read More
0 replies on “‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองอัจฉริยะ”