จับตาสุขภาพจิต ความเครียดคนชุมนุม ปี’63

ดร.ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด

ทั้งที่เดือนตุลาคม น่าจะเป็นเดือนปลายฝนต้นหนาว มีเทศกาลทอดกฐินและการกินเจ ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมาพร้อมความหนาวอ่อนๆ มีสายฝนโปรยปราย บรรยากาศชวนตื่นสายอย่างหลายปีที่ผ่านมา หากแต่ปีนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะทอร์นาโดไฟลูกมหึมาชุมนุมดิจิทัล ของเยาวชนคนหนุ่มสาวกลับพุ่งตรงไปที่การบริหารงานของรัฐบาลอย่างหนักหน่วง

สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องนี้ไม่เหมือนครั้งไหน ๆ  ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม ปี2516 พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง-กปปส.ช่วงปี 2556-2557 ที่ผ่านมา ที่น่าจับตาคือโมเดลชุมนุมครั้งนี้ ที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีการตั้งเครื่องขยายเสียงใหญ่โต มีการเคลื่อนที่เร็ว ส่วนใหญ่จะเกิดย่านที่มีรถไฟฟ้าสะดวกแก่การเดินทาง ผู้ชุมนุมมีอายุเฉลี่ยน้อย ส่วนมากเป็นเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน เป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนพลังโซเชียลมีเดียโลกอนาคต ยุค 5 G ที่กำลังสยายปีกสำแดงพลังอานุภาพเต็มที่

ที่น่าจับตาคือ ความห่วงใยเรื่องสุขภาพจิตคนไทยที่เกี่ยวข้องกับม็อบดิจิทัลครั้งนี้ หลายสำนักที่สำรวจเรื่องสุขภาพจิตคนไทยกับการชุมนุมพบว่า สังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับการใช้คำพูดรุนแรง และแนวโน้มอาจนำไปสู่พฤติกรรมความรุนแรงที่มากขึ้นได้ ความกังวลที่มีการพูดกันมากในหมู่ผู้ปกครองคือเกรงว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลียนแบบแก่เด็ก ส่งผลให้มีความรุนแรงในการชุมนุมที่มีเด็กเข้าร่วม ด้วยขณะนี้การชุมนุมมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปเร็ว การนัดชุมนุมแต่ละครั้งมียุทธวิธีชุมนุมที่ไม่เหมือนเดิม

นั่นหมายความว่าสังคมกำลังมองว่าสถาบันครอบครัวไทยจะพบกับความท้าทายอะไร ต่อไปนี้สัมพันธภาพของพ่อ แม่ ลูก จะไปต่ออย่างไร ถ้ามุมมองการเคลื่อนไหวหรือการชุมนุมม็อบต่างกัน เนื่องจากผู้ชุมนุม ส่วนมากเป็นเด็กเยาวชนทั้งมัธยมและเด็กมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองของเด็กระดับมัธยมนั้น เริ่มมีความกังวล ทั้งการที่จะต้องทำความเข้าใจกับลูกๆ ถึงการเข้าร่วมชุมชุน ไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยขณะที่เข้าร่วมชุมนุม

หรือบางคนได้ขึ้นไปบนเวทีปราศรัยด้วยนั้น ความกังวลย่อมมีแก่พ่อแม่ผู้ปกครองอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง สิ่งเหล่านี้ผู้ปกครองต้องใส่ใจและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และต้องมีวิธีผ่อนคลายสภาพจิตที่เต็มไปด้วยความกังวลเหล่านี้ด้วยการมีสติ การรับฟังอย่างตั้งใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและคนของสมาชิกในครอบครัวนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำ และทำด้วยความระมัดระวังด้วย

พ่อแม่ หรือครอบครัวที่รับฟังมากเกินไปก็จะส่งผลให้เครียดและกังวลสูงตามไปด้วย ขณะที่การรับรู้ทางสังคม พบว่า มีการใช้คำพูดที่รุนแรงจะสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรู้สึกรุนแรง ความชังฝ่ายตรงข้ามที่คิดต่าง ส่งผลให้ความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมอ่อนแอลง เกิดความเปราะบางในสังคม การมีสติรับฟังข้อมูลอย่างไตร่ตรอง นึกถึงผลกระทบของการใช้คำพูดที่จะออกไปสู่สาธารณะให้มาก เพราะจะทำให้เกิดการไปกระตุ้นและยั่วยุให้สถานการณ์ไปในทิศทางที่บางครั้งไม่อาจคาดการณ์ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ผู้เข้าชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับความเครียด  เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน อย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ต่างได้รับผลกระทบดัชนีความเครียดสะสมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่กับความรู้สึกไม่ปลอดภัย


อาการเครียดจากการเมือง หรือ Political Stress Syndrome : PSS ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น อาการทางใจ เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ฟุ้งซ่าน หมกมุ่น

ส่วนปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่นก็มีทั้งการโต้เถียงกับผู้อื่น รวมทั้งคนในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ มีความคิดตอบโต้โดยใช้กำลังเอาชนะ และมีการเอาชนะความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธ์ที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง ส่งผลให้หน่วยงานด้านสุขภาพจิต และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำงานหนักช่วงนี้ ทีมจิตแพทย์และนักให้คำปรึกษา ต่างต้องทุ่มเททำงานหนักขึ้นในสถานการณ์โควิด-19

สถานการณ์ที่ยากลำบากที่สถานการณ์ถูกบีบให้ต้องเลือกข้างค่อนข้างชัด เป็นความท้าทายบทบาทการนำของผู้นำครอบครัวทั้งพ่อ และแม่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยเรา  พ่อ แม่ ลูก ต้องตั้งสติและก้าวข้ามไปด้วยกันในจังหวะช่วงหัวโค้ง เดิมพันค่อนข้างสูง สอบปลายภาคของเยาวชนและนักศึกษามาตรงกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองพอดี  การชุมนุมก็สำคัญ การเรียนการสอบก็สำคัญ


อย่างไรก็ตาม ในปรากฎการณ์ความเชี่ยวกรากทางอารมณ์และความคิดต่างนี้ การชุมนุมควรเป็นไปอย่างมีสติ คือ ความไม่เผลอ ระงับยับยั้งใจได้  การยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่าม ไม่ประมาท นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีควบคู่กับการชุมนุมเรียกร้อง  ขอเรียกร้องไม่ให้มีการใช้ความรุ่นแรงทุกชนิด ให้ใช้ธรรมะคือมีสติให้มาก เพราะสติมีคุณค่ามาก การนำสติมาใช้กับสถานการณ์ขณะนี้ มีประโยชน์มหาศาลทีเดียว ช่วยให้การคิดอ่านมีกำลัง  สติช่วยเสริมสร้างการกำหนดรู้อย่างเท่าทันความจริงที่ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ที่สำคัญการเมืองเปลี่ยนไปเสมอ อีกไม่นานความเคลื่อนไหวม็อบจะถูกจดจำเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านไป แต่ครอบครัวต้องเหมือนเดิม

 

Written By
More from pp
“ธัญวัจน์ ก้าวไกล” ป้อง “อแมนด้า” กรณีกรมสุขภาพจิตปลดตำแหน่งทูต ซัดสังคมใจแคบ คนเห็นต่างไม่มีที่ยืน
2 มี.ค.64 –นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี น.ส.อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020...
Read More
0 replies on “จับตาสุขภาพจิต ความเครียดคนชุมนุม ปี’63”