สถานการณ์โควิด19 ประเทศไทย วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันที่ 15 พ.ย.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ทุกรายเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ เข้ากักตัวในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้

และสถานกักตัวที่รัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 8 รายทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,715 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.90 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 99 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.56 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 60 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,874 ราย

โดยรายละเอียดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ได้แก่

ชาวไทย 4 ราย เดินทางมาจากประเทศเบลเยียม 1 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย, อียิปต์ 1 ราย และสวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ทุกรายเป็นเพศหญิง เข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) รายที่ 1 จากประเทศเบลเยียม ตรวจพบเชื้อ มีอาการแสบจมูก รายที่ 2 จากอียิปต์ ตรวจพบเชื้อ มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น และอีก 2 รายตรวจพบเชื้อ ไม่แสดงอาการ ทั้งหมดเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลตามระบบ

ชาวต่างชาติ 4 ราย เป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 1 ราย เดินทางมาจากประเทศอียิปต์ 1 ราย, อินเดีย 3 ราย เข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ทั้งหมดตรวจพบเชื้อ ไม่แสดงอาการ เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ผู้กักตัวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยคิดจากประกันโควิด 19 ที่ทำไว้ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั่วโลกวันนี้ ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 575,576 ราย ในรอบ 24 ชั่วโมง   ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 54 ล้านราย จึงต้องระวังตนเอง ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก สำหรับประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอิตาลี สำหรับประเทศไทยยังคงควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้ดี อยู่ในอันดับที่ 151 ของโลก

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า เนื่องจากวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านเป็นวันเบาหวานโลก สหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 เช่นเดียวกันกับ ผลการวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร Public Health England (PHE) ที่พบว่า คนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 มากกว่าบุคคลอื่น โดยจะมีอัตราการเสียชีวิต 451 คนต่อประชากร 100,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคมถึง 5 มิถุนายน 2563)


ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้บางประเภท เช่น ดาวน์ซินโดรม จะมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน จึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจได้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อโควิด 19 จะมีโอกาสที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน

จึงขอให้ผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ดูแลเอาใส่ใจสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างใกล้ชิด เมื่อมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ต้องสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ตลอดเวลา โดยสวมอย่างถูกวิธีซึ่งหน้ากากจะต้องครอบบริเวณจมูกและปากอย่างมิดชิด ไม่ไว้ใต้คาง

หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่แออัด หรือมีคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และเมื่อกลับเข้าบ้านควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โอกาสเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ขอให้ดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงและตนเองให้แข็งแรง โดยการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อผ้าหนาๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

แต่หากพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดหรือระบบทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่คลุกคลีและไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจและโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย

Written By
More from pp
นายกฯ กำชับคุมเข้มห้ามลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติ และสั่งควบคุมมาตรการ ASQ คลายกังวลประชาชน
วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า
Read More
0 replies on “สถานการณ์โควิด19 ประเทศไทย วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563”