จุฬาฯ วิจัยกัญชาทางการแพทย์ หนุนนโยบายชาติ

‘กัญชา’ เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยและได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ศูนย์วิจัยยาเสพติด ซึ่งตั้งอยู่ที่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีพันธกิจหลักตามที่ได้รับจัดตั้งจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เมื่อปี 2523 เพื่อทำการวิจัย ผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ปัญหาสารเสพติด

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และใช้การปลูกแบบชีวภาพ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดพิธีเปิดศูนย์วิจัยยาเสพติดและตัดช่อดอกกัญชาชีวภาพ เมดิคัลเกรดเป็นที่แรก ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ – สระบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายนิยม เติมศรีสุข รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ศ.กิตติคุณ นพ. จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาฯ และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดป้ายศูนย์วิจัยยาเสพติด พร้อมทั้งตัดช่อดอกกัญชาชีวภาพ เมดิคัลเกรดซึ่งเป็นสารสกัดสูงสุดทางการแพทย์ โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและร่วมตัดช่อดอกกัญชาชีวภาพ

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาฯ เปิดเผยว่า ปัญหายาเสพติดต้องเกิดจากการนำองค์ความรู้หลายๆ ด้านมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องนำนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคมเข้ามาใช้ในการตรวจสอบสายพันธุ์กัญชา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความหลากหลายทางด้านศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ จึงมีนโยบายในการนำสหศาสตร์เข้ามาเพิ่มศักยภาพให้ศูนย์วิจัยยาเสพติด และการวิจัยกัญชาพัฒนาก้าวหน้าต่อไป การวิจัยสายพันธุ์กัญชาจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมตั้งแต่การเพาะปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ การวิเคราะห์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกัญชา

พิธีการตัดช่อดอกกัญชาชีวภาพ เมดิคัลเกรดแรกสู่การปรับปรุงสายพันธุ์และการผลักดันแนวทางกฎหมายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยกัญชาของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ตั้งแต่ปี 2562

ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ กล่าวถึง การดำเนินงานของศูนย์วิจัยยาเสพติดในเรื่องการปลูกกัญชาว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ดำเนินการเพาะปลูกกัญชาในโรงเรือนทั้ง 3 โรงเรือนซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 ระบบ คือ 1) Indoor 2) Outdoor และ 3) Greenhouse

สำหรับการปรับปรุงสายพันธุ์ที่เหมาะสม ทราบปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิด เพื่อการนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยยาเสพติดได้รับความร่วมมือด้านองค์ความรู้จากคณะต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกจุฬาฯ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และการนำไปวิจัยต่อยอดทางการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลต่างๆ คลินิกกัญชาฯ


รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม มานานกว่า 48 ปี รวมทั้งการสนับสนุนจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสระบุรี โดยมุ่งพัฒนาการปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการวิจัยทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ออกสู่สาธารณะ

สะท้อนแนวทางด้านอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งระบบฐานข้อมูลในการเฝ้าระวัง การป้องกัน การควบคุมกัญชา ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบาย เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์ แนวทางการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและแนวทางเชิงนโยบายในการควบคุมกัญชา และผลักดันแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายนิยม เติมศรีสุข รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการวิจัยสายพันธุ์กัญชาว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติดได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้นโยบายในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ในทางกฎหมาย กัญชายังคงเป็นพืชเสพติดซึ่งมีการผ่อนปรนให้พืชชนิดนี้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนั้นเมื่อจะใช้กัญชาทางการแพทย์หรือประโยชน์ในมิติอื่นๆ ต้องมาจากองค์ความรู้ที่ถูกต้องจากพื้นฐานการศึกษาวิจัย เพื่อให้สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

รศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยกัญชาในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในเฟสที่ 1 มุ่งเน้นการระบุสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทยพบว่า จากตัวอย่างกัญชา 22 พื้นที่ทั่วประเทศ สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ จำแนกตามลักษณะพันธุกรรมของพืช และปริมาณสารสำคัญในต้นกัญชาของแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกัน อาจเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้บางพื้นที่พบสารปนเปื้อนในดินที่เป็นอันตราย อาทิ สารหนู และบางพื้นที่พบสารปนเปื้อนสารแคทเมียมในต้นกัญชา เป็นต้น

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการในเฟสที่ 2 ซึ่งศูนย์วิจัยยาเสพติด เน้นการทดสอบปัจจัยที่ส่งผลต่อการปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ รวมทั้งเน้นการสร้างระบบ วิธีการ ติดตามควบคุมกัญชา และเสนอแนวทาง ยุทธศาสตร์ นโยบายการควบคุมกัญชาเพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ

“ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ มุ่งพัฒนาวิธีปลูกกัญชาแบบชีวภาพ เมดิคัลเกรดโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ และเพื่อไม่ให้เกิดสารปนเปื้อนทั้งในดินและต้นกัญชา อีกทั้งลดต้นทุนการสกัดสารปนเปื้อนออกจากต้นกัญชา ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ วิจัยการปลูกกัญชาในรูปแบบชีวภาพ เมดิคัลเกรดตั้งแต่การผสมดิน การให้ปุ๋ย การเพาะเมล็ด การไล่แมลงจนถึงต้นกัญชาเติบโตและผลิช่อดอก ณ โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ-สระบุรี” รศ.ดร.จิตรลดา กล่าว

Written By
More from pp
คุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีรับมือ 5 สาเหตุที่ลูกดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง
โดยทั่วไปธรรมชาติของเด็กต้องการความรัก และการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่ อยากได้คำชมว่าเป็นเด็กดี น่ารัก รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่หากลูกเรามักจะดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง นั่นคือผิดวิสัยเด็ก และมีสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น
Read More
0 replies on “จุฬาฯ วิจัยกัญชาทางการแพทย์ หนุนนโยบายชาติ”