แรงจูงใจของอาชญากร

ผักกาดหอม

ไม่มีอาชญากรรมใดที่สมบูรณ์แบบ

อาชญากรย่อมทิ้งร่องรอยเสมอ

ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สืบสวนที่จะค้นหาร่องรอยหลักฐานนั้นพบหรือไม่

และแล้วคนไทยก็ได้รู้จักกับ “ผอ.กอล์ฟ ประสิทธิชัย เขาแก้ว” ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสิงห์บุรี

ในฐานะฆาตกรที่เหี้ยมโหดที่สุดในรอบหลายสิบปี

ชิงทองแล้วฆ่า ๓ ศพ

ยิงคนโดยไม่ยี่หระ กับเด็กก็ไม่เว้น

ต้องยกเครดิตให้ตำรวจไทย แม้จะใช้เวลา….งมหาอยู่หลายวัน

“บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ท่านนั่งยัน นอนยัน ไม่มีการจับแพะ



                “ถ้าจับแพะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยืนอยู่ได้อย่างไร ไม่มีการจับแพะแน่นอน”

จากหลักฐานหลายอย่าง ก็ต้องเชื่อตามที่ท่านว่า แพะไม่มีโอกาสโผล่มาร่วมงานแน่นอน

หลักฐานว่าไปจ้างทำ ลำกล้องเก็บเสียงปืน

รองเท้าวันก่อเหตุ รุ่นและยี่ห้อตรงกับที่เจ้าตัวโพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก

“ท่าเดิน” นี่ก็สำคัญ เดินกะเผลก เพราะไปผ่าตัดหัวเข่าเมื่อปี ๒๕๖๑

ดูจากการแต่งกายวันก่อเหตุเป็นพวกใช้ชีวิตหรู

เป็นครูสอนยิงปืน ก็ตีวงแคบเข้ามาอีก

ไอ้ผมมันเก่งหลังหวยออก จับหลักฐาน และพฤติกรรมของ ผอ.กอล์ฟ มาชนกันก็ ซ.ต.พ.ได้ทันทีว่า ตำรวจจับโจรโหดถูกตัวแน่นอน



แต่…ก่อนหวยออก ตำรวจเขาทำงานหนัก กว่าจะต่อจิกซอว์ได้ครบ จนไปขอศาลออกหมายจับได้  มันไม่ง่าย

วันนี้  (๒๓ มกราคม) “บิ๊กแป๊ะ” นัดแถลงอีกครั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลา ๑๐.๓๐ น. ก็คงได้รู้ว่ามี “แรงจูงใจ” อะไร กับการชิงทอง ๒๘ บาท แต่ฆ่าคนไป ๓ ศพ

เห็นข่าวแพลมๆ ตามประสาข่าวหัวสี แรงจูงใจ มาจากแรงเดาเพียบ

หนี้สิน

มีปัญหาชีวิตส่วนตัว

ชู้สาว

อยากดัง

อยากโดนวิสามัญ

ร่างกายอยากปะทะ

ชีวิตน่าเบื่อ

ฯลฯ

ฉะนั้นให้รอดูของจริง

ครับ…การก่อเหตุย่อมมาจากแรงจูงใจ หากขาดซึ่งแรงจูงใจแล้ว ไม่มีทางที่อาชญากรจะก่ออาชญากรรมได้

ก็….ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ แกะกันดู

พูดถึงแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรมแล้ว มาดูแรงจูงใจในการก่อวิกฤติการเมืองกันบ้าง



อังคารที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่

ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ชัดแจ้งว่า “ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คิดล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

แต่มีมุมหนึ่งที่มีการพูดถึงกันเยอะ และยังปรากฏในคำร้องของ “ณฐพร โตประยูร” นั่นคือ

“แรงจูงใจ”

บทความของ คุณอัษฎางค์ ยมนาค ที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก น่าจะให้คำตอบ

ลองอ่านดู



—————————–

                “อนาคตใหม่ ไม่คิดล้มล้าง?”

                “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ปรากฏข้อเท็จริงว่าพรรคอนาคตใหม่และแกนนำพรรค คิดล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

                ก่อนที่ศาลจะตัดสิน 1 วัน ผมนั่งเงียบๆ ครุ่นคิด วิเคราะห์ในใจแล้วได้คำตอบกับตัวเองว่า เป็นไปได้ว่าศาลจะยกฟ้อง แล้วมันก็เป็นจริง ทำไมผมถึงคิดแบบนั้น?

                คำตอบคือ เรื่องนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ใหญ่มากๆ ใหญ่ขนาดว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาอาจไม่มีแผ่นดินอยู่  เพราะคนไทยที่ไม่ใช่สาวกอนาคตใหม่เชื่อสนิทใจว่า อนาคตใหม่ เป็นพวกปฏิกษัตริย์นิยม สาวกอนาคตใหม่ที่มักมาคอมเมนต์ในโพสต์ของผม พูดเหมือนก๊อบปี้กันมาว่า “ธนาธร ปิยบุตร คิดล้มเจ้าตรงไหน?  มันเป็นการบรรยายทางวิชาการ? เขาแค่บอกว่าเจ้าต้องไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง?”

                ซึ่งความจริงพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้มายุ่งเกี่ยวการเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตามกฎหมายหรือตามพฤติกรรม



                แต่องค์กรอนาคตใหม่ไม่ได้เชื่อแบบนั้น จึงนำมาซึ่งคำพูดในสถานที่ต่างๆ ในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง

                ที่สำคัญ เวลาเราอ่านคอมเมนต์ของสาวกอนาคตใหม่จะพบว่าพวกเขาพูดเหมือนมีเหตุผลที่ดี แต่ถ้าแกล้งตอบโต้กันไปมา พวกเขาก็จะหลุดความในใจออกมา เป็นคำพูดทำนองว่า “ใครเป็นเจ้าของแผ่นดิน ผมก็เสียภาษี ฯลฯ” ซึ่งคำพูดพวกนี้ มันบ่งบอกอยู่แล้วว่า พวกเขาได้รับการปลูกฝังแนวคิด “ปฏิกษัตริย์นิยม” กันมา

                -ปฏิกษัตริย์นิยม​ หรือ Anti-Royalism คืออะไร? พวกที่ปฏิกษัตริย์นิยม เชื่อว่า การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นมาโดยตลอดในสังคมไทยไม่สามารถไปด้วยกันได้กับการเป็นประชาธิปไตย

                -ปฏิกษัตริย์นิยม​ ต้องทำอย่างไร? ดำเนินการลดทอนสถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในทางรัฐธรรมนูญ ทางกฎหมายและทางวัฒนธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์โดยแท้จริง



                -ปฏิกษัตริย์นิยม​ คือ ความต้องการ “ล้มเจ้า”​ หรือไม่? อาจมีบางคนต้องการล้มเจ้า แต่สาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่การล้มเจ้า พวกปฏิกษัตริย์นิยมแค่อยากได้ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์อย่างแท้จริง  ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือความล้าสมัยและเป็นตัวถ่วงของระบอบประชาธิปไตย แต่พวกปฏิกษัตริย์นิยมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่ต้องการล้มล้างสถาบันฯ แค่เพียงต้องการลดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่พระมหากษัตริย์ปกครองประเทศแทนประชาชนผ่านทางอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ให้เหลือเพียงการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น

                ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นสาวกองค์กรสีส้ม ล้วนเชื่อว่า องค์กรสีส้มเป็นปฏิกษัตริย์นิยม  แต่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลนั้นยังมีหลักฐานไม่หนักแน่นพอ หลักการทั่วไปของการพิจารณาของศาล ไม่ว่าคดีใหญ่หรือน้อย คือถ้าหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอ ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้กับจำเลย เห็นด้วยกับการตัดสินคดีของศาลหรือไม่? คำตอบชัดเจนว่า “เห็นด้วย” เพราะ “ศาล คือผู้สถิตความยุติธรรม และศาลคือที่พึ่งที่ดีที่สุด สำหรับการระงับข้อพิพาทใดๆ”

                ข้อดีของคำตัดสินคดีนี้ คือ? เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า

                -ไม่มีการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้ง

                -ศาลดำรงตนเป็นกลางต่อข้อพิพาท อย่างแท้จริง

                -คำวินิจฉัยตัดสิน เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม



                เพราะฉะนั้น คดีต่างๆ ของธนาธร และอนาคตใหม่ ทุกคดีก็ยืนอยู่ในหลักการนี้ และธนาธรและอนาคตใหม่ ต้องหยุดวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง และศาลถูกครอบงำ เพราะการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ซึ่งถือเป็นคดีความเป็นความตายที่ใหญ่มากนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลพิจารณาตามความเห็นของศาลเป็นที่ตั้ง ซึ่งแปลว่าถ้าศาลโดนครอบงำโดยอำนาจรัฐจริง อนาคตใหม่จะไม่มีวันรอดอย่างที่เป็นอยู่นี้

                แล้วข้อเสียคืออะไร? ข้อเสียที่จะตามมาคือ อนาคตใหม่และสาวกจะฮึกเหิม และจะตะโกนเสียงดังกว่าเดิมว่า พวกเขาไม่ได้คิดล้มเจ้า และไม่ได้คิดล้มล้างการปกครอง และพวกเขาจะดำเนินการทางการเมืองอย่างที่ตั้งใจไว้อย่างระมัดระวัง แต่เปิดเผยมากขึ้น ซึ่งคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรู้อยู่เต็มอกว่า..พวกเขาต้องการอะไร?

                ไปเห็นธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา ที่พี่จิกโพสต์เอาไว้ แต่ขอไม่โชว์ชื่อพี่จิก เพราะพี่จิกคงไม่ได้อยากเกี่ยวข้องกับการเมือง มีพี่ๆ น้องๆ หลายคน ที่เป็นปฏิปักษ์กับอนาคตใหม่ส่งข้อความมาในกล่องข้อความว่าไม่สบายใจ เสียใจ ผิดหวัง ที่อนาคตใหม่รอด แต่ธรรมเทศนาบทนี้ จะช่วยสอนใจได้เป็นอย่างดีว่า…จะทำอะไร ทำให้สุดๆ

                หลังจากนั้นแล้วผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็ให้มันเป็นไป เพราะนอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจ ความพยายามของคนเราแล้ว บุญกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลว่า สุดท้าย สงครามหรือเหตุการณ์นั้นจะจบอย่างไร



                เราว่ารักชาติ อนาคตใหม่ก็คงรักชาติเหมือนกัน อย่าให้ร้ายว่าเขาไม่รักชาติ เพียงแต่อุดมการณ์และวิธีรักชาติของเราและเขาอาจต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนที่ ซุน ยัตเซ็น ผู้ปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน สู้รบกับ เหมา เจ๋อตุง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีน นั้น ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตนเองทำเพื่อชาติและประชาชน  แต่สุดท้ายฝ่ายประชาธิปไตยของซุน ยัตเซ็น ต้องพ่ายแพ้ การพ่ายแพ้นั้นส่วนหนึ่งมาจากความสามารถของ เหมา เจ๋อตุง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่อีกส่วนหนึ่งของการพ่ายแพ้มาจากการทุจริตคอร์รัปชันของคนในพรรคและในรัฐบาลของซุน ยัตเซ็นเอง ประวัติศาสตร์หน้านี้ควรจะใช้เป็นบทเรียนสำหรับนักการเมือง นักการทหาร ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีกี่คนที่สนใจประวัติศาสตร์หน้านี้ แล้วหลังจากเหมา เจ๋อตุงชนะ เกิดอะไรขึ้นกับเมืองจีนและคนจีน เราต่างรู้ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นอย่างดี และจีนใช้เวลาลองผิดลองถูกกี่สิบปี กว่าจะผ่านความยากลำบากอย่างแสนสาหัส กว่าจะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในปัจจุบัน

                นอกจากการต่อสู้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และความพยายามอย่างถึงที่สุดของคนเราแล้ว บุญกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะส่งผลว่า สุดท้าย สงครามหรือเหตุการณ์นั้นจะจบอย่างไร  หน้าที่ของเราคือ ทำให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้มันเป็นไป ตามแต่บุญแต่กรรม



                บทความนี้ ไม่ได้มุ่งโจมตีหรือสร้างความแตกแยก แต่ชี้ให้เห็นในความเห็นต่าง ของคนที่รักชาติเหมือนกัน ชอบกดไลค์ ชอบมากกดเลิฟ ไม่ชอบไม่ต้องอ่าน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำไปตามความเชื่อของตน ใครคิดถูกใครคิดผิด ผลมันไม่ได้ออกตอนนี้ แต่ในที่สุด โลกจะได้รู้ว่าใครสร้างชาติและใครทำลายชาติ อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านด้วยกัน

————————-

                ครับ…เราต่างก็รู้ว่า อนาคตใหม่และสาวกมีแรงจูงใจอะไร

                ครั้งนี้ศาลยกประโยชน์ให้จำเลย

                แต่ครั้งหน้า…เพราะแรงจูงใจ และแรงฮึกเหิม อนาคตใหม่และสาวกจะเผยตัวเองมากขึ้น

                วันนั้นข้อเท็จจริงจะปรากฏ.



Written By
More from pp
ออท.แอฟริกาใต้ ชื่นชมรัฐบาลแก้ปัญหา COVID พร้อมยืนยันถึงมิตรภาพและพัฒนาความร่วมมือกับไทย
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กห.ได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมคำนับของ นาย Geoffrey Quinton Mitchell Doidge ( เจฟฟรีย์ ควินตัน มิตเชลล์...
Read More
0 replies on “แรงจูงใจของอาชญากร”