ชั่วโมงทองของ “หัวใจวาย”

เจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกรและแขนซ้าย เหงื่อออก หน้ามืด ใจสั่น อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย รีบพบแพทย์ “โดยเร็วที่สุด” เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตเฉียบพลัน

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย คือการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันจนกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยง สาเหตุเกิดจากการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด พบได้บ่อยในผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไป และผู้หญิงวัย 55 ปีขึ้นไป หรือปัจจัยอื่นที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ

เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง หรือการมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคหัวใจ จึงทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอายุน้อยกว่าสถิติมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายแพทย์ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า อาการเจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรกดทับ จนปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือแขนซ้ายเป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยหัวใจวาย มักแสดงอาการนานต่อเนื่อง 15 – 30 นาที นั่งพักแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการนำดังกล่าว

นอกจากนี้ อาจมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น ปวดจุกลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายอาจหายใจหอบเหนื่อย หน้ามืด หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นสัญญาณวิกฤตที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย โดยผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที

“การรักษาผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันในปัจจุบันมีทั้งการให้ยาละลายลิ่มเลือดและการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน (stent) สำหรับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัด พักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้นหรือแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ” นายแพทย์ศุภสิทธิ์กล่าว


อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะหัวใจวายทุกขั้นตอนควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 – 90 นาที เพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยหรือการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในอนาคต อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุดของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น หากมีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจวาย ผู้ป่วยควรรีบบอกคนรอบข้างและมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

Written By
More from pp
บำรุงราษฎร์ จับมือ เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ เปิดตัวเมนู ‘Healthy Thai Touch Tea Set’
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมกับ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ ได้สร้างประสบการณ์มิติใหม่ด้วยการยกระดับการให้บริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นการรังสรรค์เมนูใหม่สุดพิเศษโดยเชฟชั้นนำระดับโรงแรม 5 ดาว ซึ่งจะเสิร์ฟในรูปแบบของ Premium Set ภายใต้บริการ ‘Healthy Thai TouchTea Set’
Read More
0 replies on “ชั่วโมงทองของ “หัวใจวาย””