ปริญญากับ “บทความ ๓ นิ้ว”

เปลว สีเงิน

หดหัวเงียบ …….
ตั้งแต่เกิดเรื่องเป็นผู้อนุญาต “เปิดลานพญานาค” ศูนย์รังสิต ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดชุมนุม
“ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”
“ประกาศ ๑๐ ข้อเรียกร้อง” ถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อ ๑๐ สิงหา.๖๓ พร้อมแจกจ่ายหนังสือ
“สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย” ของ “นายอานนท์ นำภา”
ประชาชนโกรธในอหังการ “ปฏิบัติการล้มเจ้า” นั้นมาก ทวงถามความรับผิดชอบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่าที่อนุญาตให้ชุมชุมนั้น…….
ด้วยเห็นดี-เห็นงามกับการมุ่งล้มล้างสถาบันอย่างนั้นหรือ?
และใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้?

ทีมบริหารมธ.ตั้งแต่อธิการบดีลงมา เครียด ประชุมกันแล้ว ผลออกมาดั้งนี้

คำชี้แจงจากรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต

เรื่องการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตามที่ได้มีการจัดชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา และปรากฎว่าในช่วงท้ายของการชุมนุมมีเนื้อหาบางส่วนที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น

ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ที่รับผิดชอบเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ ผมขอชี้แจงดังต่อไปนี้

๑…………
๒……….
๓……….
ผมขอเรียนว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม

และแม้ว่าเนื้อหาหลักของการชุมนุมจะเป็นไปตามขอบเขตดังกล่าว แต่เมื่อปรากฎเนื้อหาบางส่วน ที่อาจจะเลยขอบเขตไป
ผมในฐานะรองอธิการบดี ผู้อนุญาต ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต

ครับ….
ท้าวความซะยาว เพียงจะบอกว่า ที่ผมว่าหดหัวหายไปซะนาน ก็นายปริญญา จานกฎหมายธรรมศาสตร์
ผู้นี้แหละ เพราะหลังแถลง “ผมขออภัยและขอน้อมรับผิด” วันนั้นแล้ว ก็เงียบหายไป นึกว่าไปโดดเจ้าพระยาหรือแขวนคอกับขื่อโดมเป็นการลุแก่โทษไปแล้ว

ที่แท้ยังหน้าแหลมเป็นจิ้งจกเกาะผนังธรรมศาสตร์ ซ่อนหน้าหลบกระแสสังคมดูจังหวะเท่านั้น

จากสิงหา. มาถึงธันวา เห็นโผล่หัวจากหลืบธรรมศาสตร์มาเป็นกองหนุนรุ่นใหม่ ๓ นิ้ว “ไล่นายกฯออกไป” อยู่ครั้ง-สองครั้ง ชนิดแพลมๆ

และเมื่อวาน (๑๑ ธค.๖๓) เป็นครั้งที่ ๓ ที่โผล่เต็มหัว ยาวยืดทั้งหน้า-คางถึงลำตัว ความละอายในผิดครั้งนั้นคงหมดยางแล้ว เลยลืมไปว่าเคยแถลงการณ์ไว้ว่าอย่างไร

เลยร่ายวิทยานิพนธ์ ๓ นิ้ว ฉบับจิ้งจกปรับสีเต็มสตีม เอาขั้นตอนสถาปนารัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับคณะราษฎรล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบบประชาธิปไตย ๒๔๗๕

หยิบประเด็น The King Can Do No Wrong มาจับคำ-จับประเด็น
แล้วใช้ตรรกะต่างฐาน ขยำเป็น “ยำใหญ่” เป็นบทความ ในวาระ ๑๐ ธันวา. “วันรัฐธรรมนูญ” ว่าด้วยเรื่อง

“หลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับปัญหาที่เกิดจากพลเอกประยุทธ์”

คงปวดหัวตึ๊บ…เนอะ!
กว่าจะโยงประเด็นในรัฐธรรมนูญจากครอบจักรวาลให้มาเป็นเรื่อง “ผิดของนายกฯ ประยุทธ์” จนได้

ผมอ่านไป ยังช่วยลุ้นไปจนเหนื่อย กลัวจะชักแม่น้ำทั้งห้าให้มาลงที่นายกฯ ไม่ได้
หลังจากอ้อม ๗ ท้องคุ้ง โมเมเป็นบทจบ ว่า…..

“แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกประท้วงแล้ว คนกลับประท้วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ #เราคงพอจะสรุปได้แล้วว่าเราควรจะแก้ปัญหาที่ตรงจุดใด และเราก็ควรแก้ไปที่จุดนั้น

สาเหตุของปัญหาเกิดจากพลเอกประยุทธ์ ทั้งในเรื่องการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และเรื่องการไม่ยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong

หากพลเอกประยุทธ์ยังไม่แก้ไข แล้วยิ่งอยู่นานไปยิ่งเป็นปัญหา เราก็คงต้องไปแก้ที่พลเอกประยุทธ์”

โถ…จาน เขียนตรงๆ ๓ บรรทัด ก็จบ
-ให้ประยุทธ์ออกไป
-ให้ “สามสัส-ระบอบทักษิณ” เข้ามา
-ทุกอย่างจบ

แล้ว “สถาบันกษัตริย์” จะไปข้างไหนเสีย!
เจตนา-สาระหลักที่ร่ายมา คั้นแม่น้ำทั้ง ๕ แล้ว หลัก The King Can Do No Wrong ของจิ้งจก มีแค่นี้จริงๆ

เรื่องการเมืองสืบต่ออำนาจน่ะ….
เป็นถึงจานกฎหมาย เอาตรรกะควายๆ มาสรุป ว่ารัฐสภาโหวตประยุทธ์เป็นนายกฯ เป็นการสืบต่ออำนาจ

แต่ถ้าโหวตให้ธนาธรเป็นนายกฯ หรือใครก็ได้ซีกเพื่อไทยเป็นนายกฯ เป็นประชาธิปไตย
ที่เยอรมันเขาสอนมาอย่างนี้น่ะหรือ หรือตัณหา-โมหะสอน?

ธรรมศาสตร์น่ะ ไม่เสื่อมหรอก อย่างน้อยผมเคยอาศัยเรียนแค่ไม่ถึงปี ยังรู้บุญ-รู้คุณ
แล้วอาจารย์ ผมเห็นต๊อกๆ มาตั้งแต่เป็นประธานนิสิต-นักศึกษา พฤษภาทมิฬ ปี ๕๓ ยังละอ่อนอยู่เลย ไม่เคยพบโลกจริงนอกรั้วมหา’ลัยเลยมั้ง

จบแล้วไปเรียนต่อนอกกลับมาเป็นอาจารย์ แล้วลองไล่ดูซิ ไม่ต้องไปเริ่มต้นจากนายกฯ คนที่ ๑ หรอกว่า
ในวงจรการเมือง ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย การ “สืบต่ออำนาจ” เป็นเรื่องแปลก หรือมันเป็นเรื่องตามเหตุปัจจัยของสถานการณ์นั้นๆ

“พระยามโนปกรณนิติธาดา” เป็นนายกฯคนแรกของคณะราษฎร เมื่อ ๒๘ มิย.๗๕ แล้วไล่ดูซี อีก ๗ นายกฯ


-พระยาพหลพลพยุหเสนา
-พันตรี ควง อภัยวงศ์
-นายทวี บุณยเกตุ
-หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
-นายปรีดี พนมยงค์
-พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
-จอมพลป.พิบูลสงคราม

ทั้ง ๘ คนนี้ เป็นใครมาจากไหนล่ะ ก็ประชาธิปไตยสกุลวงศ์ “คณะราษฎร ๒๔๗๕” สืบต่ออำนาจกันเป็นทอดๆ

จากปี ๒๔๗๕ มาจบที่ จอมพลป.พิบูลสงคราม วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ รวมทั้งหมด ๒๕ ปี คณะราษฎรล้วน!

แล้วมาประชาธิปไตย สืบต่ออำนาจยุคจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม จาก ๒๕๐๐ จบที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ รวมเวลา ๑๖ ปี
ประชาธิปไตยยุคป๋าเปรม จาก ๒๕๒๓ จนถึง ๒๕๓๑ นายกฯ ชาติชายสืบต่ออีก ๓ ปี จนถึงกุมภา.๓๔ เกิดปฏิวัติรสช.

จนมาถึงประชาธิปไตยสกุลวงศ์ทักษิณ นายกฯ คนที่ ๒๓ “ทักษิณ ชินวัตร” จากปี ๒๕๔๓ ความจริง สืบสายอำนาจซ่อนมาแต่รัฐบาลนายกฯ พลเอกชวลิตแล้ว

ปี ๔๔-๔๙ คั่นรัฐบาลคมช. “บิ๊กบัง” ปีกว่า จากนั้น รัฐบาลสมัครก็สืบต่ออำนาจทักษิณเรื่อยมา

จากปี ๒๕๕๑ นายกฯ สมัคร ต่อด้วยนายกฯ สมชาย เพราะเนวินยกพวกออกไปกอดกับประชาธิปัตย์ ให้อภิสิทธ์เป็นนายกฯ คั่นอยู่ ๓ ปี


พอปี ๒๕๕๔ ยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นนายกฯหญิงสืบต่ออำนาจระบอบทักษิณอีกจนถึงปี ๒๕๕๗ ท้องแตกตายด้วยข้าวจีทูเจี๊ยะ
รวมคร่าวๆ แล้ว การเมืองระบอบทักษิณสืบต่ออำนาจมากกว่า ๑๐ ปี

ตัวเลขง่ายๆ ไม่ต้องใช้ตรรกศาสตร์จับแพะชนแกะ ทำไมจานปริญญาไม่หยิบมาใช้ปัญญาจารย์วิเคราะห์บ้างล่ะว่า
ที่เพ่งเล็งประเด็นนายกฯ ประยุทธ์ “สืบต่ออำนาจ” น่ะ เพิ่งมี เพิ่งไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเฉพาะประยุทธ์นี่น่ะหรือ?

หรือมีมาตั้งแต่เริ่มมีคำว่าประชาธิปไตยและคำว่านายกฯ ตั้งแต่ยุคคณะราษฎรโน่นแล้ว?

พูดกันแฟร์ๆ สืบต่ออำนาจ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของการเมืองแต่ละช่วงสถานการณ์ยุคนั้นๆ
ฉะนั้น สืบ-ไม่สืบ ไม่ใช่สาระหลัก ที่เป็นสาระหลัก คือ การสืบต่ออำนาจนั้น
ผู้สืบต่อ เอาอำนาจนั้น ไปยังประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อประชาชน เพื่อความก้าวหน้า-พัฒนาสังคมชาติ

หรือเอาอำนาจที่สืบต่อนั้นไป เพื่อ….
ล้มสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนระบบประเทศจากราชอาณาจักร ไปเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดี

และใช้อำนาจที่สืบต่อนั้น โกงบ้าน-กินเมือง เพื่อโคตรตระกูลและพวกพ้องตัวเอง
ลองใช้ปัญญาจารย์วิเคราะห์ในประเด็น “สืบต่ออำนาจ”
แล้วใช้ ๕ นิ้วเขียนอีกทีก็ได้นะ คุณปริญญา.



Written By
More from plew
เพ้อ “นายกฯ คนนอก” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน อ่านคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กน้อย” “พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เมื่อวาน (๒๙ เมย.๖๕)...
Read More
One reply on “ปริญญากับ “บทความ ๓ นิ้ว””
  1. says: จักรวาล

    หน้าตาพอจะน่าให้เป็นอาจารย์ แต่ความคิดไม่น่าให้เป็นอาจารย์

Comments are closed.