สธ.เผยบริเวณรอบตลาดกลางกุ้ง อัตราติดโควิดลดลง 3 เท่า

กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้น 427 ราย มาจากต่างประเทศเข้ารับการกักกัน 14 ราย ติดเชื้อในประเทศเชื่อมโยงตลาดกลางกุ้ง 16 ราย กระจายใน 8 จังหวัด และแรงงานต่างด้าว 397 ราย ผลการตรวจยังพบการติดเชื้อสูงในตลาดกลางกุ้ง ส่วนบริเวณโดยรอบการติดเชื้อลดลง 3 เท่า

ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยเชื่อมโยงตลาดกลางกุ้ง มี 1 รายที่เป็นผู้สัมผัสในครอบครัว เดินหน้าค้นหาผู้ป่วยโดยรอบเพิ่มขึ้น

22 ธันวาคม 2563 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 โดยนายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า

วันนี้มีผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 427 ราย หายป่วยเพิ่ม 25 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 5,716 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,798 ราย มาจากต่างประเทศ 1,918 ราย หายกลับบ้านรวม 4,078 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,578 ราย และเสียชีวิตรวม 60 ราย

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็น

1. ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ากักกัน 14 ราย ได้แก่ ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 3 ราย ซูดาน 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์ บาห์เรน เยอรมนี ฝรั่งเศส คูเวต และปากีสถาน ประเทศละ 1 ราย เป็นคนไทย 10 ราย และคนต่างชาติ 4 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามระบบ

2.ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 16 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นชายไทย 4 ราย และหญิงไทย 12 ราย กระจายในกทม. 5 ราย สระบุรี 3 ราย ปทุมธานีและสมุทรปราการจังหวัดละ 2 ราย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี อุตรดิตถ์ และนครปฐม จังหวัดละ 1 ราย

ผู้ติดเชื้อมีอาการ 11 ราย ส่วนใหญ่มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เสมหะ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส และติดเชื้อไม่มีอาการ 5 ราย  และ

3. การติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุก) 397 ราย โดยร้อยละ 90 ติดเชื้อไม่มีอาการ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์การติดเชื้อโควิด 19 พื้นที่ จ.สมุทรสาคร พื้นที่ไข่แดงที่มีการติดเชื้อสูงคือบริเวณตลาดกลางกุ้ง อัตราการติดเชื้อประมาณร้อยละ 44 บริเวณโดยรอบห่างออกมาการติดเชื้อลดลง คือ ตลาดทะเลไทยร้อยละ 14 และชุมชนซอยเศรษฐกิจ 13 ร้อยละ 8 โดยมีแผนจะตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจและทยอยรายงานผล

สำหรับผู้ที่ไปซื้อสินค้าประจำที่ตลาดกลางกุ้งประมาณพันคนกระจายไปจังหวัดต่างๆ จากการสอบสวนโรคพบเดินทางมาจาก 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กทม. สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สงขลา และอุตรดิตถ์ เพื่อแจ้งเตือนให้จังหวัดเหล่านี้ ยกระดับการควบคุมป้องกันโรคและค้นหาผู้มีประวัติเสี่ยงเดินทางเข้ามา

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งช่วง 14 วันก่อนมีอาการ คือ เดินทางมาจากเขตติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง คือ สมุทรสาคร ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน และเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ขอให้มารับการตรวจที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

โดยหากแพทย์พิจารณาว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการโควิด 19 อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบ จะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการตรวจเชิงรุกจะทยอยตรวจให้ได้ 10,300 คนในเบื้องต้น

ส่วนที่ไม่ตรวจแรงงานเมียนมาทั้งหมดเป็นแสนคนนั้น ทางระบาดวิทยาระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมด แต่จะเน้นกลุ่มที่มีอาการสงสัย กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่เราจะออกแบบเพื่อไปวางระบบในการตรวจเหมือนกรณีการวางแผนสุ่มตรวจที่ จ.ภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการ คือ สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ สแกนชื่อด้วยไทยชนะ


สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรวม 77,715,069 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 534,219 ราย เสียชีวิต 1,708,919 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่

สหรัฐอเมริกา 18,473,716 ราย อินเดีย  10,075,422 ราย บราซิล 7,264,221 ราย รัสเซีย 2,877,727 ราย ฝรั่งเศส 2,479,151 ราย

ขณะที่อาเซียน แนวโน้มประเทศมาเลเซียพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 ราย จึงต้องเฝ้าระวังชายแดนภาคใต้

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า การสอบสวนโรคพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จากกรณีหญิงไทยอายุ 67 ปี มีการติดเชื้อจากกลุ่มนี้รวม 13 ราย เป็นคนไทย 9 ราย และเมียนมา 4 ราย และขยายการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยคัดกรองแรงงานเมียนมาที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบ ได้แก่

บริเวณตลาดกลางกุ้งเก็บตัวอย่าง 2,051 ราย ผลบวก 914 ราย  คิดเป็นร้อยละ 44 อัตราการติดเชื้อสูง เนื่องจากการอยู่อาศัยแบบแออัด และตรวจติดตามสถานที่ที่มีโอกาสพบแรงงานเมียนมาไปทำงานหรือใช้บริการ คือ ตลาดทะเลไทย เก็บตัวอย่าง 653 ราย พบติดเชื้อ 91 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ถือว่าต่ำกว่าจุดเกิดเหตุการณ์ระบาดครั้งแรก 3 เท่า

อีกจุดคือชุมชนซอยเศรษฐกิจ 13 เก็บตัวอย่าง 1,099 ราย ติดเชื้อ 84 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 การสอบสวนโรคดังกล่าวช่วยให้ยับยั้งลดความเร็วการแพร่เชื้อได้ สรุปภาพรวมผลการตรวจค้นหาผู้ป่วยจำนวน 5,066 ตัวอย่าง ผลออก 3,803 ตัวอย่าง พบเชื้อ 1,089 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 คาดว่าเมื่อมีการตรวจตัวอย่างที่เหลือและรายงานผลเพิ่มจะทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง เนื่องจากมีการตรวจในสถานที่ห่างจากศูนย์กลางการระบาดมากขึ้น

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิด 19 เชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง รวม 66 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 39 ราย นครปฐม 6 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สระบุรี 3 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย ปทุมธานี 3 ราย เพชรบุรี 1 ราย อุตรดิตถ์ 1 รายและกทม. 9 ราย

โดยทั้งหมดมีประวัติเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง มีเพียง 1 ราย ที่เป็นผู้สัมผัสในครอบครัวของผู้ไปตลาดกลางกุ้ง

สำหรับหอพักที่ได้กักกันแยกผู้มีโอกาสรับเชื้อไว้อยู่ในสถานที่พักเพื่อความปลอดภัยของชุมชนโดยรอบ มีทีมแพทย์จากสถาบันบำราศนราดูรและโรงพยาบาลสมุทรสาครเข้าไปดูแลทุกวัน มีการให้ความรู้การดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักกัน ผู้ที่มีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ จะได้รับการตรวจโดยแพทย์ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการ หากมีอาการมากจะส่งต่อไปโรงพยาบาล ทำให้สามารถบริหารจัดการคนติดเชื้อจำนวนมาก

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการควบคุมโรค เน้นการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ โดยจะมีการตรวจคัดกรองสถานที่อื่น เช่น ที่พักแรงงานต่างด้าวที่อยู่บริเวณโดยรอบและห่างออกมา การตีวงจำกัดขอบเขตพื้นที่การป้องกันควบคุมโรค ลดความเสี่ยงของชุมชนโดยรอบ ทำให้บริหารจัดการกลุ่มติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฝ้าระวังเจ็บป่วยและตรวจหาเชื้อกลุ่มที่ยังไม่ได้รับตรวจ สื่อสารความเสี่ยงภาษาไทยและเมียนมา เน้นย้ำการสวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์

หลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น สังเกตอาการป่วย คนที่เคยไปอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ให้สังเกตอาการ หากมีอาการขอรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และสร้างความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชน ประชาชนเพื่อควบคุมการระบาดให้สงบโดยเร็ว

ทั้งนี้ รหัสพันธุกรรมของตลาดแห่งนี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากกรณี อ.แม่สอด และ อ.แม่สายหรือไม่ ต้องใช้เวลาในการตรวจอีกประมาณ 2-3 วัน

Written By
More from pp
อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมกลับมาเปิดบริการเร็วๆ นี้ หลังทุ่มงบหลายล้านบาท ปรับโฉมใหม่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมกลับมาเปิดบริการเร็วๆ นี้ หลังทุ่มงบหลายล้านบาท ปรับโฉมใหม่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ฉลองการกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง มอบสิทธิพิเศษเหนือระดับ จองห้องพักราคาพิเศษ เพียง...
Read More
0 replies on “สธ.เผยบริเวณรอบตลาดกลางกุ้ง อัตราติดโควิดลดลง 3 เท่า”