อเมริกาประชาธิปไตย?

วานนี้ (๗ มกราคม) สภาคองเกรสสหรัฐประกาศรับรอง “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีแล้ว

แต่เกิดอะไรขึ้น…กับประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างอเมริกา

                ดินแดนแห่งเสรีภาพ ถูกย้อนเกล็ดด้วยเสรีภาพ เปิดศักราชหน้าใหม่ แสดงให้เห็นถึงระบอบประชาธิปไตยอเมริกามีปัญหา

                และต้องซ่อมแซมโดยด่วน

                มวลชนของ “โดนัลด์ ทรัมป์” บุกยึดอาคารรัฐสภา

                ผลคือตายไป ๔ ศพ

                ถูกจับ ๕๒ คน ในจำนวนนี้หลายคนถูกจับข้อหาพกพาอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาต หรือพกพาอาวุธปืนต้องห้าม

                นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา

                แต่กระเทือนไปทั้งโลก!

                วันก่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ๑๐ คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ เพิ่งร่วมลงนามในบทความแสดงความคิดเห็นเผยแพร่ทางวอชิงตันโพสต์ 

                เป็นบทความชี้ให้เห็นถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ว่ามีความถูกต้องแล้ว

                และชี้ให้เห็นว่า การเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ในหลายรัฐ ตลอดจนความล้มเหลวในการฟ้องร้องต่อศาลนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แพ้การเลือกตั้ง

                บทความนี้ระบุว่า “เวลาของการตั้งคำถามต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้จบลงแล้ว ขณะที่เวลาของการนับจำนวนคณะผู้เลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกำลังมาถึง”

                นอกจากนี้ยังมีการเตือนถึงการใช้อำนาจของกองทัพ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งว่าจะทำให้ประเทศเข้าสู่ “ภาวะอันตราย ไร้กฎหมาย และละเมิดรัฐธรรมนูญ”

                และ “เจ้าหน้าที่ทหารหรือพลเรือนคนใดก็ตามที่สั่งการให้มีการกระทำในลักษณะนั้นจะต้องรับผิดชอบ รวมถึงอาจถูกลงโทษทางอาญา สืบเนื่องจากผลของการกระทำดังกล่าวต่อประเทศนี้”

                ก่อนหน้านี้ ผู้บัญชาการทหารระดับสูงหลายคนของกองทัพสหรัฐ รวมทั้งพลเอกมาร์ก มิลลีย์ ประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วม ออกมากล่าวอย่างเปิดเผยว่า กองทัพไม่มีบทบาทใดๆ ในการตัดสินผลการเลือกตั้ง

                พร้อมยืนยันความจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ

                ไม่ใช่ผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดก็ตาม

                อดีตรัฐมนตรีกลาโหมทั้ง ๑๐ คน อาทิ ดิก เชนีย์, วิลเลียม แพร์รี, โดนัลด์ รัมส์เฟลด์, ลีออน พาเนตตา, ชัค เฮเกล, แอช คาร์เตอร์, เจมส์ แมททิส และมาร์ก เอสเปอร์ เตือนถึงอันตรายของการขัดขวางไม่ให้มีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารอย่างราบรื่นและสมบูรณ์

                ก่อนนี้ โจ ไบเดน ออกมาวิจารณ์ความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเพนตากอน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้แต่งตั้ง ว่าเป็นความพยายามในการขัดขวางกระบวนการถ่ายโอนอำนาจการบริหารรัฐบาลสหรัฐ

                และยังระบุถึงภัยคุกคามจากศัตรูต่างชาติ ที่อาจฉกฉวยประโยชน์จากความไม่แน่นอนและความเปราะบางในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารของสหรัฐได้

                ทั้งหมดนี้ยืนยันให้เห็นถึงความเปราะบางของประชาธิปไตยอเมริกา แสดงให้เห็นแล้วว่า ลึกๆ แล้วมีปัญหาไม่ต่างจากประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่

                โดยเฉพาะกรณีกองทัพแทรกแซงการเมือง

                มีคนถามว่า เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก หายหัวไปไหนหมด

                ทำไมไม่ออกมาประณาม

                “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” มาตามนัดครับ

                ออกแถลงการณ์ จั่วหัวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ยุยงให้เกิดความรุนแรง พร้อมกับปฏิเสธไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง”

            ในการกล่าวปราศรัย การพูดในวิดีโอ และในทวีต ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับผลเลือกตั้งในสหรัฐ และยุยงผู้สนับสนุนของเขา จนเกิดการบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ต่อกรณีนี้ บ๊อบ กู๊ดเฟลโลว รักษาการผู้อำนวยการบริหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐ แถลงดังนี้ 


            “การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสงบ ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงภัยต่อสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยของประชาชน และหลักนิติธรรมในสหรัฐ การยอมรับความเห็นของกลุ่มขาวสุดโต่งและกลุ่มสุดโต่งอื่นๆ ของประธานาธิบดี ยิ่งช่วยกระพือไฟแห่งความโกลาหลและความรุนแรง ดังที่เราเห็นกันในวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐทุกคนต้องเคารพ คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นผลซึ่งสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิที่จะปลอดจากความรุนแรง การข่มขู่ และการเหยียดผิว 

            “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มุ่งทำงานให้เกิดโลกที่ผู้มีอำนาจทุกคนเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน และต้องรับผิดหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ในระดับโลก เราได้ประจักษ์ถึงความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จเสียเอง และยุยงให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองและการเหยียดผิว เพื่อรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ คนทั้งโลกจับตามองอยู่ เช่นเดียวกับผู้สนับสนุนและสมาชิกของเรากว่า ๑๐ ล้านคน 

            “เป็นจุดที่คนในสหรัฐต้องใคร่ครวญสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ยุยงให้ผู้สนับสนุนของเขาก่อความรุนแรงและความวุ่นวายมาตลอด มันไม่ใช่การทำหน้าที่ของผู้นำ แต่เป็นของผู้ยุยงปลุกปั่น เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องประณามคำพูดของประธานาธิบดี”

                แถลงการณ์ดูดีมีสกุลครับ แต่ทำไมวิจารณ์กรณีนี้อย่าง “แคบ”

                ยกตัวว่ามุ่งให้เกิดโลกที่ผู้มีอำนาจทุกคนเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน กลับมิได้เรียกร้องให้โลกรุมประณามทรัมป์

                บอกแต่ว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องประณามคำพูดของประธานาธิบดี

                แต่สิ่งที่แอมเนสตี้ทำกับไทยนั้นต่างออกไป

                ยกมาหนึ่งตัวอย่าง


                ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า ๘ ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายถึงลุงตู่

                เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุม ๓ นิ้ว จำนวน ๓๑ คน

                ให้รัฐบาลยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชน โดยอ้างว่านั่นคือการปิดปากประชาชน

                ถึงขั้นแทรกแซงกฎหมายไทย โดยการจี้ให้ทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

                ซึ่งก็คือ ม.๑๑๒ นั่นเอง

                แอมเนสตี้ทำเป็นมองไม่เห็นกลุ่มสุดโต่งในประเทศไทย ทั้งที่กลุ่มนี้ต้องการล้มล้างระบอบการปกครอง

                แต่แอมเนสตี้ให้การสนับสนุน

                ขณะที่กลุ่มอเมริกันขวาจัดที่หนุนทรัมป์ก็เป็นกลุ่มสุดโต่ง แอมเนสตี้กลับมองว่าเป็นภัยคุกคามของสหรัฐ

                ก็ไม่ต้องสรุปอะไร

                องค์กรเสือกพวกนี้ เปลือยตัวเองหมดแล้ว.



0 replies on “อเมริกาประชาธิปไตย?”