การสื่อสารเพื่อซ้ำเติมในภาวะวิกฤติ?

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน..

นี่.. “ศรคีรี ศรีประจวบ” อดีตนักร้องลูกทุ่งดังเคยบอกไว้ในเพลงที่ชื่อ “น้ำท่วม” จากผลงานการประพันธ์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เมื่อครั้งกระนู่นนน-ปี 2513

ส่วนผมก็ขออนุญาตที่จะบอกกับท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้ว่า.. “บ้านผมก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน” บางอำเภอ หลายพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี กำลังจมมิดหลังคาบ้านอยู่ในขณะนี้

เว้นก็แต่ที่ “อ.โคกโพธิ์” ..พ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ได้รับความเดือดร้อนลำบากอะไรมากนัก น้ำท่วมแค่ตาตุ่ม..

ไม่ต้องถึงกับ.. “หนีน้ำขึ้นบนหลังตา น้ำตาไหลคลอสายชล”!

จะเป็นเพราะบารมี “หลวงพ่อทวด” คุ้มครอง ช่วยปัดเป่าหรืออย่างไรแล้วแต่จะคิด สำหรับผม..มั่นใจ-ใช่เลย!

พูดไป..ก็ไม่รู้เป็นกรรม-เวรอะไรนักหนาของพ่อแม่พี่น้อง 3 จังหวัดปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ที่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ค่อยจะราบรื่น มีความสงบสุข ร่มเย็นเหมือนเช่นคนในจังหวัดอื่นเค้า

พอเริ่มจะเพลาเสียงปืน-เสียงระเบิด ได้ดำเนินชีวิตเป็นปกติเข้าหน่อย โรคโควิด-19 ก็ดันเข้ามารบกวนความสุขสงบเสียอีก

และแม้ตอนนี้ ปัตตานีจะได้ชื่อเป็น 1 ในจังหวัดที่ “ปลอดเชื้อโควิด” แต่แทนที่ชาวบ้านจะได้มีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ กลับมาต้องเจอกับอุทกภัย-น้ำหลาก-ดินสไลด์..

ดูคล้าย เป็นการซ้ำเติมในวิกฤติ จนให้เกิดคำถาม (ในใจ).. “มันเวรกรรมอะไรกันนัก-กันหนา” ?

ครับ..พูดถึง “ซ้ำเติมในวิกฤติ” วันก่อนอ่านที่น.ส. ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี พูดถึงน.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย โดยช่วงท้ายได้กล่าวว่า..

“จากที่ผ่านมาจึงเห็นว่า การสื่อสารของนักการเมืองที่พยายามปลุกปั่น บิดเบือนนั้นมักเป็นนักการเมืองที่ไม่มีความจริงใจ ไม่ห่วงใยสุขภาพและชีวิตของประชาชน


สิ่งที่พยายามทำนั้นเพื่อซ้ำเติมให้สถานการณ์วิกฤติและเลวร้ายยิ่งขึ้น แล้วนักการเมืองที่เอาชีวิตพี่น้องประชาชนเข้าเสี่ยงก็จะนำเอาผลร้ายนั้นมาโทษรัฐบาล แล้วเอามาหากินใช้ประโยชน์ทางการเมือง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดจิตสำนึก เหยียบขึ้นไปสู่อำนาจโดยอาศัยสุขภาพของประชาชนเป็นฐาน ซึ่งเป็นการสื่อสารที่บิดเบือน โดยไม่สน Fact (ข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์) และ Truth (ความจริง)

ซึ่งดูคล้ายกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามเร่งทำคะแนนเพื่อสอบผ่านและได้เกียรตินิยมในวิชา “การสื่อสารเพื่อซ้ำเติมในภาวะวิกฤติ” เสียจริง.”

ก็..ไม่ได้ต้องการอยากจะซ้ำเติม (ในภาวะวิกฤติ) แค่จะถามน.ส.อรุณี..เกียรตินิยมในวิชานี้ ได้ศึกษาเอง-เรียนรู้เอง หรือว่า..

ลอกตำรารุ่นพี่ในสภา (ยุคนี้)..หือ?

Written By
More from pp
รัฐบาลเปิดสถานีกลางบางซื่อแล้ว สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงใน กทม.ที่ถูกเลื่อนนัด โทรแจ้งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อนัดวันเวลาฉีด รองรับ 2,000 คนต่อวัน
วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มี 7 กลุ่มโรคกลุ่มเรื้อรัง...
Read More
0 replies on “การสื่อสารเพื่อซ้ำเติมในภาวะวิกฤติ?”