SCG “ผู้ปิดทองหลังโควิด”

เปลว สีเงิน

วันนี้…คุยกันสบายๆ ตามประสา “โควิดรักโลก” ละกัน!

เมื่อวาน (๒๒ มค.๖๔) รัฐบาลออนไลน์ข่าว
“ขึ้นทะเบียน อย.แล้ว วัคซีน แอสตราเซเนกา”ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดี สำหรับวัคซีน COVID-19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา ที่ผลิตในประเทศอิตาลี
ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว
เพื่อใช้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน โดยมีระยะเวลาการขึ้นทะเบียน 1 ปี

ในระยะแรก บริษัทฯ จะจัดส่งวัคซีน จำนวน 50,000 โดส จะถึงประเทศไทยในเดือน ก.พ.นี้

ส่วนที่เหลืออีก 150,000 โดส จะตามมาในเดือน มี.ค. และ เม.ย.

โดยในขั้นตอนต่อไป……
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะสุ่มตรวจคุณภาพวัคซีนทันที ก่อนนำไปฉีดให้ประชาชน
#ไทยคู่ฟ้า #รวมไทยสร้างชาติ #ร่วมต้านโควิด19

ต้องบอกว่า ที่มาถึงวันนี้ วันที่จะได้วัคซีนมาจิ้มแขนกัน ผู้ควรได้รับคำขอบคุณอันดับแรกจากคนไทย คือ SCG

เพราะความสำเร็จทั้งหมดนี้
SCG คือผู้อยู่เบื้องหลัง!

ก็พอได้ยินกระเซ็นกระสายกันมาบ้างในเรื่องนี้ อย่างเมื่อวาน “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” บอกว่า

“ในการจองแต่ละครั้ง ต้องมีการวางมัดจำและการวางมัดจำนี้ ถ้าวัคซีนผลิตไม่สำเร็จ เงินจำนวนนี้ ก็จะไม่ได้คืน

แม้กระทั่งการวางมัดจำกับบริษัท Astra Zeneca ก็ไม่สามารถใช้เงินหลวงไปวางมัดจำได้

จึงจำเป็นต้องใช้เงินของ “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยฯ” ไปวางมัดจำ เพราะช่วงดังกล่าว ไม่มีหลักค้ำประกันได้เลย ว่าจะได้วัคซีนตัวไหน?”

นั่นก็แค่ “หนังตัวอย่าง” เต็มๆ เรื่องที่ SCG ประสงค์ช่วยประเทศแต่ไม่ประสงค์ออกนาม มันอะไร-อย่างไรกันบ้าง?

เมื่อวาน อาจารย์ “สมเกียรติ โอสถสภา” โพสต์ ตอบโจทย์ลงตัวพอดี ผมมิพักช้า ลอกลงตัวพอดีโดยพลัน
……………………………..

สมเกียรติ โอสถสภา
เรื่องนี้เริ่มต้นจากกลุ่มวิศวะ จุฬา ที่อยากช่วยประเทศด้านวัคซีน
กลุมวิศวะ จุฬาระดมกันช่วยทำอุปกรณ์การแพทย์สู้กับโควิดตั้งแต่รอบแรก
สร้างเครื่องมือเยอะแยะ โรบอทเป็นพัน ทำห้องอะไรต่างๆ นานา ระดมทุนความชำนาญของทุกบริษัท พี่น้อง เพื่อนฝูงมาช่วยกัน แบบทุ่มศักดิ์ศรีปราสาทแดง

คือพวกวิศวะนี่ เน้นการทำเพื่อสังคมด้วย มีค่าย “ยุววิศวกรบพิธ” มายาวนาน
เด็กสวนกุหลาบที่ไปเรียนรุ่นหลังๆ ก็มาแนวนี้ ทำค่ายอะไรเยอะแยะ
เอาว่าผมรู้จักวิศวะ รู้จักคน รู้ว่าเค้าคิดอะไร เป็นพวกคิดไว ทำไว ผมชอบไปฟังแผนงาน โครงการที่หอประชุมวิวะมาแต่ยังเด็ก

ผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เข้าใจเรื่องที่เขาพูดกัน
รู้จักวิศวะทุกสถาบัน เหมือนรู้จักโรงเรียนสวนกุหลาบ มันซ้อนๆ กันอยู่ ไปเรียนวิศวะมาร่วมสองหมื่นได้ รู้แบบรู้ใจกัน
อ่านเรื่องที่น้องๆ เค้าพูดกัน ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่จะช่วยประเทศไทย แค่นั้น
เค้าสรุปเรื่องราวไว้ชัดเจน คุยกันแบบพี่น้อง เข้าใจง่ายครับ
……………………………
Traipop Srikeawnit Reporter Journey Club
ได้ไปฟังวิศวะจุฬาเขาคุยกัน ถึงเบื้องหลัง SCG ไปดีล AZ (Astra Zeneca) เพื่อเอาวัคซีนมาให้ไทยเป็นฐานการผลิตไดั
ซึ่งเขาคุยจบกันตั้งแต่ ธ.ค. 63 ก่อนที่ทอนจะมาตั้งคำถาม (ด่าก่อนถามทีหลัง) ในช่วง ม.ค. 64

(ข้อมูล จาก รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย (SCG))
ประเด็นหลัก ๆ คือ

1.ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เราต้องไปง้อ AZ ไม่ใช่เขามาง้อเรา เพราะ AZ เสียผลประโยชน์ และโอกาสทำธุรกิจใน SEA ทั้งหมด (South East Asia-เปลว)
ไหนจะขายของเองไม่ได้ แถมต้องให้เทคโนโลยีแก่ไทยด้วย ไม่ใช่เรื่องปกติในการซื้อขายวัคซีน

ที่ลูกค้ามาซื้อของ แต่ต้องสอนงาน ให้ความรู้ แถมมาเป็นคู่แข่งในอนาคตอีกด้วย
แต่ SCG และ Siambiosci ทำได้ (บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด-เปลว)

2.จุดเริ่มต้นมาจาก SCG !!
เพราะได้มีความร่วมมือด้านวิจัยกับ Oxford มากว่า 10 ปี จึงใช้จุดนี้ทำ CSR เข้าหา AZ ได้ง่ายขึ้น
Oxford ก็ยังถามว่า บริษัทปูนมายุ่งอะไรกับวัคซีน คำตอบคือ CSR เพื่อคนไทยล้วน ๆ

3. ความบังเอิญ
Siambiosci ได้ซื้อเครื่องจักรสายการผลิตตัวเดียวกันกับ AZ เข้ามาพอดี จึงทำให้เจรจากับ AZ ง่ายขึ้น
กอรป SCG มีความใกล้ชิดกับ สยามไบโอไซน์ อยู่เป็นทุนเดิมจึงติดต่อกันง่ายขึ้น

4. การเตรียมความพร้อม
SCG ใช้งบ CSR 100 ล้าน พร้อมพนักงาน 50 – 60 คน เข้าไปรุมช่วย สยามไบโอไซน์ และรัฐบาลให้งบ 500 ล้าน ในการปรับปรุงโรงงานให้พร้อมผลิตชีววัตถุ ในรูปแบบ Viral vector vaccine เป็นครั้งแรกในไทย
เพื่อให้ทาง AZ เห็นว่าไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเซียน และพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย Siambiosci ต้องตอบแทนรัฐบาลมาเป็นวัคซีนให้ประชาชน


5. สรุป จะเห็นได้ว่า กว่าที่ไทย (Siambiosci) จะได้เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในอาเซียน และทำให้ไทยได้วัคซีน พร้อมองค์ความรู้ และ manpower ที่มีคุณภาพได้
มันไม่ได้เริ่มต้นมาจาก AZ อยากเข้ามาที่ไทย และต้องมาเปิดประมูลหาผู้รับเหมา เหมือนโครงการอื่น ๆ ทั่วไป
และในภาวะวิกฤติ ที่วัคซีนเป็นของขาดแคลน ความต้องการสูง แต่ผลิตได้น้อย

จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ประเทศกำลังพัฒนา ขนาดกลางอย่างไทย จะไปแข่งขันเพื่อแย่งวัคซีนมาได้ง่าย ๆ

ดังนั้น การจะได้วัคซีนมา…..
มันจึงต้องอาศัยเส้นสาย อิทธิพล หรือการช่วยเหลือของเอกชน ไม่ว่าจะ SCG ที่เป็นคนริเริ่มติดต่อ Oxford และ AZ และ SCG ที่ไปดึงสยามไบโอไซน์มา

พร้อมทั้งดวงดี ที่ …..
สยามไบโอไซน์ ซื้อเครื่องจักรเข้ามา ไหนจะประวัติของบริษัท ที่เน้นทำขายยาตัดราคา ทำให้ถูก จึงทำให้เห็นว่า บริษัทนี้ เน้น ช่วยเหลือมากกว่า สร้างผลกำไร มานานแล้ว

องค์ประกอบเล็กๆ ทั้งหมดนี้
ไม่ว่าจะ SCG, Siambiosci หรือรัฐบาลเองก็ตาม จึงทำให้ไทย จะได้วัคซีน 26 ล้านโด๊สของ AZ ใน พ.ค. 64 นี้

เท่านั้นไม่พอ ด้วยกำลังการผลิต 200 ล้านโด๊สต่อปี จะทำให้ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้รับวัคซีนตัวเดียวกันนี้ ได้อีกด้วย

และนั่นหมายถึง ไทยจะลดความเสี่ยง ที่เพื่อนบ้านจะนำเชื้อเข้ามาแพร่อีกด้วย
ย้ำอีกครั้ง AZ เลือกไทย ไม่ใช่เพราะว่า ไทยน่าสนใจและอยากเข้ามาเปิดประมูล
แต่เป็นเพราะความร่วมมือภาคเอกชน ที่อาศัยเส้นสายจนเขายอมรับ และยอมเสียผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อทำให้อุดมการณ์ของ Oxford เป็นจริง
นั่นคือ การกระจายวัคซีนให้มากที่สุด และถูกที่สุดเท่าทีจะทำได้

ครับ………
ก็กระจ่างแจ้งทุกขั้นตอน ไงก็ขอบคุณธนาธรที่ช่วยเป็นเสียงหมาเห่า ปลุกให้สังคมตื่น และค้นหาจนเห็น
SCG คือ ผู้ “ปิดทองหลังโควิด”!



Written By
More from plew
ตรรกะ “ตลบตะแลง” ของธร
ผมไม่เห็นว่า “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นบุคคลอันตรายต่อสังคมประเทศมาก่อน แต่ตอนนี้…..”เห็นแล้ว”! จากคลิปในโซเชียลมีเดีย เมื่อวาน(๘ กย.๖๒) ขณะที่ คนทั้งบ้าน-ทั้งเมือง สาละวน...
Read More
0 replies on “SCG “ผู้ปิดทองหลังโควิด””