ม.๑๑๒ กับ ‘เจตนา’

ผักกาดหอม

มีประเด็นน่าสนใจ

            วานนี้ (๒๖ มกราคม) ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.๓๐๔๙/๒๕๖๒

  คดีนี้พนักงานอัยการคดีอาญา ๗ เป็นโจทก์ฟ้องนายจือเซง แซ่โค้ว หรือนามปากกา “สมอลล์ บัณฑิต อานียา”  อายุ ๘๐ ปี

            เป็น นักเขียนนิยาย แนวร่วมคนเสื้อแดง เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

            “….ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว พยานโจทก์เห็นว่าคำว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้า มาจากคำราชาศัพท์ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

            ขณะที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่าฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป มีความแตกต่างจากคำว่าฝ่าละออง และไม่ได้เอ่ยชื่อผู้ใด ซึ่งอาจตีความแตกต่างกัน การใช้คำพูดดูหมิ่นหรือไม่ต้องพิจารณาภาพรวม โอกาส สถานที่ เป็นการใส่ความยืนยันหรือไม่ หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะหรือไม่

            ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่มีข้อความสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นข้อความสามัญไม่ใช่ราชาศัพท์

            ประกอบกับจำเลยเบิกความเป็นคนจีน คำว่าคุณค่าแห่งความเป็นคน จำเลยต้องการสื่อให้คุณค่าความเป็นคนสูงขึ้น คำว่าฝุ่นละอองมาจากหนังสือที่จำเลยอ่านใช้คำว่าใต้เท้า ไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ พยานโจทก์มีหลักฐานสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙  หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง….”

            คดีนี้อุทธรณ์ต่อหรือไม่ต้องจับตาดู

            แต่ในเชิงวิชาการมีประเด็นให้ถกเถียง

            ในอดีต จือเซง แซ่โค้ว หรือนายบัณฑิต เคยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๑๘ จากการทำสัญลักษณ์ธงแดง

            ถูกจับโดยตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ได้รับการปล่อยตัว เพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขามีอาการทางจิต

            ต่อมาโดนอีก ๒ คดี

            คดีแรกคือ กรณีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานประชุมสัมมนาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง”

            พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. (ขณะนั้น)  แจ้งความกล่าวหาบัณฑิตว่า พูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ

            คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ให้จำคุก ๔ ปี รอลงอาญา ๓ ปีเนื่องจากเห็นว่าบัณฑิตมีอาการทางจิตเภท

            อาการทางจิต เป็นไปตามคำเบิกความของนายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

            กล่าวโดยสรุป นายบัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บปวด ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีกแต่ก็สามารถตอบโต้คำถามแบบคนทั่วไปได้

            แต่สามารถต่อสู้คดีได้!

            อีกคดีเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗ เมื่อวันที่  ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ บัณฑิตไปแสดงความเห็นที่งานเสวนาระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปของพรรคนวัตกรรม  คดีนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร


            ตุลาคม ๒๕๕๙ หลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ บัณฑิตเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่า ถูก “ล่าแม่มด”  โดยถูกด่าทอและคุกคามเอาชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย

            จากนั้นไม่กี่วันตำรวจและทหารได้คุมตัวเขาจากห้องพักไปยัง สน.หนองค้างพลู โดยระบุว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ

            อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นเป็นเพียงการตักเตือนและทำข้อตกลงกับนายบัณฑิตว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกและบัณฑิตได้รับปากเจ้าหน้าที่โดยดี

            นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุว่า หากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินการดำเนินคดีตามมาตรา ๑๑๒  ให้ถึงที่สุด

            และสุดท้าย ๑๒ กันยายน ๒๕๕๘ มีการจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

            นายบัณฑิตแสดงความคิดเห็นกล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาตอนหนึ่งว่า คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน


            ศาลพิพากษายกฟ้องตามที่เกริ่นข้างต้น

            ผมเข้าไปหาข้อมูลของ จือเซง หรือนายบัณฑิต พบประเด็นที่น่าสนใจ

            เว็บไซต์ต่อต้านสถาบันพูดถึง นายบัณฑิต เยอะพอควร

            เช่น….

            “…ตอนนี้คุณบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ยังขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับฟ้องร้องกลับคดี ม.๑๑๒ ทั้งในไทยและ UN  อีกทั้งยังต้องรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ฯลฯ อีกด้วย แต่ไม่ใช่โรคจิตอย่างแน่นอนเพราะคุณบัณฑิตยืนยันอย่างแข็งขันว่าเขามีสุขภาพจิตดีเกินร้อยด้วยซ้ำไป…”

            “…คุณบัณฑิตยืนยันมีสุขภาพจิตดี มีหน้าที่ลุยฟ้อง  UN ต่อ…”

            นายบัณฑิต มีผลงานเขียนหลายสิบเล่ม

            ที่เด่นน่าสนใจ อาทิ…

            ทักษิณ ชินวัตร

            จดหมายถึงทักษิณ

            ทักษิณสู้เพื่อชาติ

            บทภาพยนตร์เรื่อง คณะประชาชนปฏิวัติ

            บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า

            นักแสดงละครกับพระเจ้าแผ่นดิน

            โดยเฉพาะเรื่องหลังหมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างยิ่ง

            นั่นคือนายบัณฑิต ที่ถูกระบุว่า มีอาการทางจิตเภท

            แต่ยืนยันกับแฟนคลับในการระดมทุนว่า สุขภาพจิตดีเกินร้อย

            คำว่า “ฝุ่นละอองใต้เท้า” โดยบริบทแล้วความหมายจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง หากคนพูดมีพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน

            และต้องไม่ใช่ความคิดฉาบฉวย

            แต่เป็นความคิดจากความเชื่อที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

            ครับ…คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด

            หากถึงที่สุดแล้ว และเป็นบรรทัดฐานว่า “ข้อความสามัญ” ไม่ใช่ “ราชาศัพท์” อาจเกิดปัญหาใหญ่หลวงขึ้นมาในอนาคตได้

            เพราะการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์นั่นเอง

            มันอยู่ที่เจตนา

            ว่าเล็งเห็นผลอย่างไร.



 

Written By
More from pp
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.ลำพูน พร้อมทั้งรายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้ เติมกำลังใจให้ชีวิต
20 มีนาคม 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.ลำพูน ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้...
Read More
0 replies on “ม.๑๑๒ กับ ‘เจตนา’”