หยุดเน็ตฟลิกซ์คือทางรอด? – สันต์ สะตอแมน

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

สี่ซ้าห้าวันก่อน..

เห็นข่าว โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ได้จำหน่าย “ตั๋วหนัง”แก่คนเข้าดูในราคาเพียง 29 บาทรวดทุกที่นั่ง ทุกเรื่อง ทุกรอบ และทุกโรง..

ไม่เว้นกระทั่ง “โรงไอแมกซ์” ที่ปกติค่าตั๋วจะแพงลิ่ว เลยทำให้คอหนังไทย-เทศ ทั้งได้เฮ ทั้งอึ้งกิมกี่ไปตามๆ กัน

บางคนดูหนังจบ กลับเข้าบ้านระบายความรู้สึกผ่านโซเชียลฯ.. “ไอแม็กซ์ 29 บาท เรามาถึงขั้นนี้แล้ว…ห่อเหี่ยว ถึงเวลาล่มสลายของหนังฉายโรง”

บางราย.. “หรือว่าโลกเรามันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว?”  ด้านแฟนหนังสายวัดท่านหนึ่งคอมเมนต์ว่า.. “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” แต่ไม่ได้ขยายความ ต้องการปลอบหรือให้ปลงในความอนิจจัง!

อีกคนก็ว่า.. “จริงๆ ก็แค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศดูหนังไอแม็กซ์ ธรรมดาก็ไม่ไปดูหนังฉายโรงอยู่แล้ว คนเขาดูหนังใหม่ที่บ้านกัน ที่โรงฉายคือหนังเก่า คนเขียนถึงแต่หนังเน็ตฟลิกซ์แล้วจะเหลือใครอยากไปดูหนังฉายโรง”

หนังเก่าและเล็ก” ความเห็นของอีกคน.. “ตัวอย่างหนังก็มีหนังอย่างกะหนังฉายโทรทัศน์ คือว่ามันไม่น่าสนใจ ไม่น่าดึงดูดให้คนออกจากบ้านกลับไปดูหนังในโรงได้เลย”

ส่วนความเห็นจากผู้กำกับหนังไทยบางท่านก็ว่า.. “การลดราคาตั๋วเหลือ 29 บาท มุมหนึ่งก็มองได้ว่า เป็นการกระตุ้นให้เกิดกระแสดึงคนดูกลับมาหาหนังฉายโรง

แต่ถ้ามองในมุมวิเคราะห์ นี่น่าจะเป็นอะไรที่ส่อถึงสิ่งที่น่าวิตก คืออนาคตของธุรกิจภาพยนตร์ในรูปแบบเดิม มันเดินมาถึงไทม์โซนของมันแล้ว น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไม่ใกล้ไม่ไกล

อย่างในบ้านเรา จำนวนโรงฉายลดลงแน่ นี่ไม่ต้องพูดถึงการผลิตหนังเพื่อฉายโรง เพราะเหลือบริษัทสร้างอยู่แค่ 2-3 รายเท่านั้น และไม่ได้สร้างแบบเป็นล่ำเป็นสัน  

ซึ่งก็เป็นอาการแบบเดียวกับฮอลลีวู้ด ที่สตูดิโอต่างๆ ย่ำแย่กันหมดแล้ว ดูได้จากการประกาศรายชื่อหนังยอดเยี่ยม 10 เรื่องของ AFI (สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน) ประจำปี 2020

ก่อนที่ AMPAS หรือสถาบันศิลปการภาพยนตร์และสรรพวิทยาการ ซึ่งจัดงานรางวัลออสก้าร์ทุกปี จะประกาศรายชื่อหนังโนมินีเข้าชิงออสการ์ มีหนังจากบริษัทอิสระมากกว่าหนังจากบริษัทบิ๊กเนม

ในสิบเรื่องที่ AFI ได้ประกาศให้เป็น “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม”นั้น เป็นหนังของ “เน็ตฟลิกซ์” ถึง 4 เรื่อง มีหนังของบริษัทในกลุ่มเมเจอร์แค่เรื่องเดียวจากวอร์เนอร์ บราเธอร์

 นี่..บ่งบอกว่า อนาคตของหนังฉายโรงกำลังจะเหลือไว้เพียงความทรงจำ โดยจะมีการแพร่ภาพแบบ “สตรีมมิ่ง” เข้ามาแทน

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยที่จะทำให้หนังฉายโรงกลายตำนาน นั่นคือ “โควิด-19” ซึ่งจากการระบาดทำให้เป็นโอกาสทองของเน็ตฟลิกซ์ในการแทรกเข้าไปแย่งแฟนหนังแฟนละครทั้งจากจอใหญ่และจากทีวี

และไม่เฉพาะแต่โรงหนังที่จะตาย โทรทัศน์ก็มีการคาดหมายกันว่า น่าจะไม่รอดเช่นกัน คือตายให้สตรีมมิ่งหมด และก็เป็นสตรีมมิ่งที่พะยี่ห้อ “เน็ตฟลิกซ์” นี่แหละ”

ครับ..ฟังแล้วก็วังเวง จะหยุดเน็ตฟลิกซ์ได้อย่างไร?

Written By
More from pp
รองโฆษกรัฐบาลเผย ความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยาประกันสังคม รัฐบาลเดินหน้าจัดตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ม.40
1 ธันวาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา...
Read More
0 replies on “หยุดเน็ตฟลิกซ์คือทางรอด? – สันต์ สะตอแมน”