พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องศาล รธน. ขอส่งถ้อยคำความเห็นประกอบการวินิจฉัยกรณีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม รธน.

3 มีนาคม 2564 แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นของตัวแทนนักการเมืองฝ่ายค้านในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ รวม 6 คน

ประกอบด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และนายนิคม บุญวิเศษ

โดย นายประเสริฐได้กล่าวว่า วันนี้ได้มายื่นเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกคือบันทึกทั่วไปเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับบันทึกถ้อยคำในการแสดงความเห็นของตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน และฉบับสองคือ เอกสารบันทึกถ้อยคำพร้อมรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว และต้องรอ 15 วันก่อนจะลงมติได้ในวาระ 3 ซึ่งถ้าไม่ติดขัดก็น่าจะพิจารณาวาระ 3 ได้ประมาณวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ แต่มีสมาชิกรัฐสภายื่นคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญได้ขอฟังความเห็นนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้รวม 4 ท่าน เมื่อมีการเปิดให้รับฟังความเห็น

พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอโอกาสยื่นความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน โดยหวังประโยชน์ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาของการมายื่นบันทึกให้ถ้อยคำในวันนี้

“ผมขอยืนยันว่าอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งของรัฐสภา คือสามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การกระทำใดๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ถือว่าเป็นการกระทำของตัวแทนพี่น้องปวงชน ดังนั้น จึงสามารถทำได้ และเราคาดหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จะผ่านตามที่ประชาชนเรียกร้อง” นายประเสริฐ กล่าว

Written By
More from pp
ออมสิน เร่งเครื่องกระแสรักษ์โลกออกสินเชื่อ GSB Green Biz สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม เปิดตัวครั้งแรกในงาน Money Expo 2023
ธ.ออมสิน จัดโปรโมชันสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ในงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2023 Bangkok โดยจัดทำแคมเปญสินเชื่อ “GSB Green Biz” เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Read More
0 replies on “พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องศาล รธน. ขอส่งถ้อยคำความเห็นประกอบการวินิจฉัยกรณีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม รธน.”