เมื่อคำวินิจฉัย “ไม่ตรงใจ” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ไม่น่าเชื่อ….
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ๔ บรรทัดครึ่ง ประเด็น “รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่” ซึ่งคำตอบ เคลียร์คัท-ชัดเจน ขนาดนั้น
แต่นักการเมือง นักวิชาการ บอก..งง อ่านแล้วไม่เข้าใจ!?

ผมว่า ไม่เข้าใจเพราะ “ไม่ตรงใจ” ดังที่อยากทำและกำลังทำอยู่ตอนนี้มากกว่า

เหตุนั้น เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ผมเลยมึน
มึนจากการฟัง-ดู-อ่าน ที่พวกเขาแสดงโวหารวาทะกัน เข้าลักษณะ

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว”

นี่…สุภาษิตอังกฤษ ที่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แห่งอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส แต่ถอดความเป็นภาษาไทย ด้วยกาพย์ยานี ๑๑ สวยงามสุดหาใดเปรียบ

ก็อยากบอกให้ทราบไว้นิด …..
หนังสือแบบเรียนภาษาไทย “ดรุณศึกษา” ที่ยังใช้เรียนกันทุกวันนี้ ไม่ใช่คนไทยแต่ง
หากแต่ “คนฝรั่งเศส”ผู้แต่ง คือ ท่าน ฟ.ฮีแลร์ นี่แหละ!

กลับมาเข้าเรื่อง….
นักการเมือง-นักวิชาการพวกหนึ่งบอก เปิดรัฐสภา ๑๗ มีนา.โหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระ ๓ ได้เลย ไม่ขัดคำวินิจฉัย

อ้าง แค่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ มาตราเดียว ไม่ใช่การ “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ”

อีกพวกบอก….
ไม่ได้ ต้องพักไว้ก่อน แล้วย้อนกลับไปเริ่มตามขั้นตอนที่ตุลาการศาลฯ มีคำวินิจฉัย
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาจากความเห็นชอบของประชาชน ด้วยเสียงส่วนใหญ่

เมื่อจะจัดทำใหม่ มีการแก้ไข หมวด ๑๕ ก็ต้องกลับไปทำประชามติ ถามประชาชนก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?

ถ้าเป็นประชามติออกมา “ให้จัดทำฉบับใหม่ได้” รัฐสภาค่อยดำเนินการตามขั้นตอน สู่การจัดทำฉบับใหม่

เสร็จแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลกล้าฯ ก็ต้องทำประชามติ ถามประชาชนอีกครั้งว่า โอเค.กับเนื้อหาในฉบับที่ร่างใหม่นี้มั้ย?
ถ้า โอเค.จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้แทนฉบับปัจจุบันได้

นี่…….
ปะรืนนี้ ก็จะเปิดรัฐสภาแล้ว แต่ถึง ณ วินาทีนี้ ก็ยังหาข้อสรุปเป็นที่ลงตัวไม่ได้ว่า
๑๗ มีนา.ประธานรัฐสภา จะนำสมาชิก “ลุยไฟ”?

หรือจะ “รั้งม้าริมผา” เลื่อนโหวตวาระ ๓ กลับไปทำตามขั้นตอนที่ศาลฯมีคำวินิจฉัย ถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้มีฉบับใหม่ไหม

ถ้าโอเค.ค่อยกลับมาโหวตวาระ ๓ ไปตั้งสสร.เขียนกันใหม่ทั้งฉบับ เอาให้หยดย้อยสมใจ
เอาสัมภเวสีกลับเมืองไทยอย่างเท่ๆ ชนิดไร้ราคีคดีความใดๆ ให้ได้!

หน่อแนวที่แก้มาจนถึงวาระ ๒ พูดกันแบบไม่เกรงใจ ที่ อ้างไม่แตะหมวด ๑ หมวด ๒ เท่ากับไม่ได้แก้ทั้งฉบับ นั่นน่ะ
มันแนวเดียวกับนิทานอีสปเรื่อง “ม้าอารี”

ขอเอา “หัว” ซุกเข้าคอกก่อน
พอหัวเข้าไปได้ ค่อยๆ ดันคอคือ “สสร.” เข้าไป พอตั้งสสร.เสร็จ เท่ากับดันทั้งตัวเข้าไปอยู่ในคอกเสร็จสรรพ

ตานี้แหละ….
หมวด ๑ หมวด ๒ ที่บอกไม่แตะ ก็ไม่แตะ แต่เขียนใหม่เลย จาก “ประเทศไทยอันเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
เผลอๆ กลายเป็น “ประเทศไทยอันเป็นสาธารณรัฐ”

และจาก “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
เขียนใหม่เป็น….
“ระบอบประชาธิปไตยอันมีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งเป็นประมุข”

ทำไมจะทำไม่ได้ เขาจะอ้างว่า ก็ในเมื่อสสร.ประชาชนเลือกให้มาเป็นตัวแทนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้น จะเขียนใหม่เป็นร่างยังไงก็ได้

“เอา-ไม่เอา” ไปวัดกันตอนทำประชามติอีกที!
มันไปสู่จุดนี้ เพราะพวกสส.เขารู้ทาง “ประชาชน” ซื้อไม่ได้ แต่ “เสียง” ซื้อได้
ซึ่งต้อง “ยอมรับ” ในความช่ำชองประสบการณ์ของเขา

มัน “ไก่เห็นตีนงู-งูเห็นนมไก่” กันอยู่ ในประเด็น แก้เพื่อตั้งสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับ

ดังนั้น ทั้งที่ รัฐสภาเอง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองแท้ๆ แต่เมื่อศาลฯตีความออกมาแล้ว “ไม่ตรงใจ”
คนรัฐสภาก็เล่นบท “วิญญูชนตาใส”
เพราะต้องการไปในทางที่ “ตั้งธง” จะไปไว้แล้ว จึงทำบ้องแบ้ว ๔ บรรทัดครึ่งคำ

วินิจฉัย “ลึกล้ำ-พิสดาร” เกินเข้าใจ ต้องรอคำวินิจฉัยกลาง
ฉะนั้น ระหว่างรอ “ต้องโหวต” วาระ ๓ เพราะบรรจุเข้าวาระไว้แล้ว
อีกอย่าง “รัฐสภา” มีอำนาจหน้าที่ “จะทำอะไรก็ได้” เพราะเป็น ๑ ใน ๓ อำนาจใหญ่ของประเทศ ใครจะมาเหนือ?

นี่สรุปท่าทีและปฏิกริยาคนการเมืองและนักวิชาการต่อเรื่องนี้
จับทิศได้ว่า แม้ ๑๗ มีนา.เปิดรัฐสภา ก็ยังไม่แน่ จะได้โหวตวาระ ๓ หรือขึ้นอยู่กับการหารือกันก่อนวันนั้น?

สมมติ รัฐสภาหักด่าน โหวตวาระ ๓ เลย
ผมเชื่อ ได้เสียงโหวต “เกินกึ่งหนึ่ง” แน่
แต่ไม่เชื่อ ในเสียงเกินกึ่งหนึ่งนั้น จะมีเสียงสว.รวมอยู่ “ถึงเกณฑ์” รัฐธรรมนูญกำหนด

นั้นคือ ยังไงๆ ร่างนี้ ๑๗ มีนา. “ไม่ผ่าน”!
ฟังเสียงประชาชนผ่าน “โซเชียลสังคม” บ้าง หนาแน่นไปทางเดียว ประชามติวันไหน “คว่ำวันนั้น” คือ “ไม่ต้องการ”

คำว่า “ไม่ต้องการ” หมายถึง” ไม่ต้องการให้จัดทำฉบับใหม่”
แต่ถ้าแก้ไขเป็น “บางมาตรา” จับความได้ว่า…….

ประชาชน โอเค.และต้องการให้เป็นแบบนี้มากกว่า ก็แก้กันในรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภานั่นแหละ จะแก้มาตราไหน แก้ไปเลย

จะต้องกระแดะตั้งสสร.ให้เรื่อง-มากความ เปลืองเงินภาษีไปทำไม ตั้งสสร.เหมือน…ลากลงไปกินในน้ำ!
ทั้งที่ ทำกันเอง จะเอาเลือกตั้งแบบไหน จะให้นายกฯ มาจากไหน ได้อยู่แล้วเต็มที่ ก็ทำไปซี

กลับไม่ยอมทำในที่แจ้ง
จะลากไปขม้ำกันในที่ลับอย่างเดียว นอกจากให้สงสัยในเจตนาและพฤติกรรมแล้ว ยังทำให้สงสัยอีกว่า
ก็จ้างพวกคุณมาทำหน้าที่รวมแล้วเป็นพัน-เป็นหมื่นล้าน ดันไม่ทำ เสือกไปจ้างคนนอก คือพวกสส.ร.ทำแทน

แล้วแทนที่จะจ่ายเงินเอง …….
กลับโยนมาให้ประชาชนจ่ายแทนอีกร่วม ๒ หมื่นล้าน เพื่องานเอาพ่อมึงกลับมาแบบเท่ๆ คนเดียว!?

ดู สส.-สว.เขาซิ ว่ามีเงินเดือนกันคนละเท่าไหร่?

-ประธานสภาฯ เงินเดือน 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท

– รองประธานสภาฯเงินเดือน 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท

– ประธานวุฒิสภา เงินเดือน 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวม 119,920 บาท

– รองประธานวุฒิสภา เงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 119,920 บาท

– ผู้นำฝ่ายค้าน เงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท

– ส.ส.เงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

– ส.ว.เงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

ส.ส. กับ ส.ว.มีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนๆ ละ 24,000 บาท

ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนๆละ 15,000บาท และผู้ช่วย ส.ว.5 คน มีเงินเดือนๆ ละ15,000 บาท แล้วยังค่ารถ ค่าเรือ ค่ารักษาพยาบาล เงินบำนาญ อีกเยอะแยะ

เรียกว่า แต่ละปี ประชาชนต้องจ่ายเงินให้พวกสส.มาถ่วงความเจริญ มาตุกติกกับประเทศชาติในสภาไม่รู้กี่หมื่นล้าน แต่มีงาน กลับไม่ทำ

เอาเงินหลวงไปจ้างคนอื่นมาทำแทน ทั้งที่งานนั้น เป็นงานที่ประโยชน์พวกมันจะได้โดยตรง!?

เวร…เวรจริงๆ กับประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา “หน้ากากโจร”!
มันอ้าง “ประชาชนเลือกมา” ชำเราประเทศแบบได้ใจ
ถึงเวลา “ประชาชน” ต้องยำมันจริงๆ บ้างแล้ว!

Written By
More from plew
เรือดำน้ำกับทีท่ากรรมาธิการฯ
เรื่อง”เรือดำน้ำ”………. ถูกทำให้กลับมาเป็นข่าวอีก! โฆษกคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ ปี ๖๓ “นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลง เมื่อศุกรที่ ๖ ธค.๖๒...
Read More
0 replies on “เมื่อคำวินิจฉัย “ไม่ตรงใจ” – เปลว สีเงิน”