เอื้องเค้ากิ่ว – มณฑา สุดยอดสารสกัดเพื่อสุขภาพผิว นักวิจัยจุฬาฯ ชู สมุนไพรฟื้นเศรษฐกิจไทย

Dendrobium signature white and yellow flower

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบใหม่ สารสกัดจากเอื้องเค้ากิ่วและดอกมณฑา เล็งต่อยอดพืชเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติผลงานวิจัยล่าสุดจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมความงามในอนาคต ภายหลังการค้นพบสารกลุ่ม “ฟีนอลิก” ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากเอื้องเค้ากิ่วและดอกมณฑา ที่หวังนำมาต่อยอดผลิตเครื่องสำอางคุณภาพสูง

Egg magnolia flower (Magnolia liliifera) blooming in the garden.

“พืชทั้งสองสายพันธุ์มีสารสำคัญกลุ่ม ฟีนอลิก ที่มีโครงสร้างค่อนข้างซับซ้อน สามารถเข้าจับกับอนุมูลอิสระทั้งในและนอกเซลล์ได้ดีมากกว่าสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ความงามในท้องตลาด เมื่อสกัดและแยกเอาสารบริสุทธิ์มาทดสอบกับเซลล์ปกติของมนุษย์ (Normal cell) แล้ว พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์”

ประจักษ์ ขุมพลอย นิสิตปริญญาโท หนึ่งในทีมวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยสรรพคุณของสารบริสุทธิ์ที่พบจากพืชสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย

“ปัจจุบัน เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีให้เลือกมากมายในท้องตลาด แต่หากมีสารสกัดจากธรรมชาติที่ผ่านการวิจัยมาแล้วอย่างดี มีความน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัย ลดอันตรายจากผลข้างเคียงในการใช้งานได้มากขึ้น” ประจักษ์ กล่าวเสริมถึงที่มาของงานวิจัย ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา พุดหอม

ประจักษ์อธิบายว่าสารในกลุ่มฟีนอลิกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและบรรเทาอาการอักเสบได้ถึงระดับเซลล์ ซึ่งในเอื้องเค้ากิ่วประกอบด้วยสารสำคัญในกลุ่ม ไบเบนซิน ฟลาโวนอยด์ เทอร์พีนอยด์ ส่วนในดอกมณฑาพบสารสำคัญในกลุ่ม อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ลิกแนน นีโอลิกแนน และเทอร์พีนอยด์ ยิ่งกว่านั้น สารชนิดนี้อาจมีผลยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน ซึ่งจะได้มีการลองทดสอบในอนาคตต่อไป

นอกจากฟีนอลิกแล้ว ทีมวิจัยยังพบสารสกัดชนิดใหม่ในกลุ่มเซสควิเทอร์ปีนแลคโทน (Sesquiterpene Lactone – SLs) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ มีความเป็นพิษต่อเซลล์น้อยถึงแทบไม่มีเลย ซึ่งสามารถนำมาใช้เสริมประสิทธิภาพการออกฤทธิ์กับสารตัวอื่นๆ ได้

“เรายังไม่ได้ระบุชื่อสารสกัดตัวนี้อย่างเป็นทางการ ต้องรอจนกว่างานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่ได้ตีพิมพ์เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ถ้างานวิจัยได้รับการตีพิมพ์แล้ว เราจะนำสารชุดนี้ไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยสารที่มีประสิทธิภาพดีจะถูกขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ครีมและส่งทดสอบการซึมผ่านผิว เป็นต้น”

ประจักษ์ และ ศ. ดร.ขนิษฐา กล่าวว่า “ในอนาคตอาจมีการต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้การดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นวัตถุดิบ (Active Ingredient) สำหรับบริษัทอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ขึ้นกับโอกาสและความน่าสนใจในการพัฒนา”

“คนไทยเราวิจัยพบสารใหม่ๆ จากสมุนไพรอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่เราต้องไม่นำพืชมาใช้เพียงชนิดเดียวทื่อๆ แต่ต้องวิจัยทดลอง หาสารสกัดและสูตรที่เสริมฤทธิ์ระหว่างกัน” ศ. ดร.ขนิษฐา แนะ พร้อมกล่าวถึงศักยภาพของพืชสมุนไพรไทยในการนำมาสกัดทางเคมี เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเป็นพืชเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม

“ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องความหลากหลายของพืชสมุนไพร เทคโนโลยีและความสามารถของคนไทยก็พร้อม เราสามารถเป็นฮับ (hub) ของพืชสมุนไพรในภูมิภาคได้เลย น่าจะขยายผลสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ” ศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวส่งท้าย

Written By
More from pp
ในพระเมตตา เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ประทานข้าวสารอาหารแห้ง ที่มีคณะศรัทธาบริจาคตามพระดำริ
ประกาศสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชที่ ๒/๒๕๖๔ เรื่องประทานพระดำริให้วัดที่มีศักยภาพร่วมมือกับทางราชการในการช่วยเหลือประชาชนด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) มีความรุนแรงมากขึ้นอีกระลอกก่อให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนอย่างกว้างขวาง
Read More
0 replies on “เอื้องเค้ากิ่ว – มณฑา สุดยอดสารสกัดเพื่อสุขภาพผิว นักวิจัยจุฬาฯ ชู สมุนไพรฟื้นเศรษฐกิจไทย”