ไม่มีอะไรลับใน ‘วัคซีน’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถือว่าดีขึ้น….

            ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ นับแต่วันที่ ๒๔ เมษายน เป็นต้นมา เริ่มมองเห็น “ขาลง” ของการระบาดรอบ ๓ แล้ว

            ๒๔ เมษายน ๒,๘๒๗ คน

            ๒๕ เมษายน ๒,๔๓๓ คน

            ๒๖ เมษายน ๒,๐๓๘ คน

            ๒๗ เมษายน ๒,๑๗๔ คน

            ๒๘ เมษายน ๒,๐๐๑ คน

            ๒๙ เมษายน ๑,๘๖๔ คน

            ๓๐ เมษายน ๑,๕๗๙ คน

            หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังลดลงเรื่อยๆ แบบนี้ คลัสเตอร์สงกรานต์และผลพวงจากคลัสเตอร์สงกรานต์ น่าจะจบได้ไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคม ที่ยังเหลือประปรายน่าจะเอาอยู่ในสิ้นเดือน

            ก็เริ่มมีการตั้งคำถามใหม่….ถ้าฉีดวัคซีนเร็วกว่านี้  “น้าค่อม” คงไม่ตาย

            มันก็จริงครับ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คงไม่มีใครตาย หรือตายจากโควิดน้อยที่สุด

            แต่ความจริงกับสิ่งที่อยากให้เป็นนั้น ใช่ว่าจะไปด้วยกันเสมอไป

            ประเด็นสำคัญคือ อย่าเอาความรู้เกี่ยวกับวัคซีนหรือสถานการณ์ของวัคซีนในปัจจุบันไปตัดสินว่าทำไม ไม่จัดการเรื่องวัคซีนให้จบตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

            ลองจินตนาการไปข้างหน้า……โลกอนาคตน่าจะวุ่นวายกว่าโลกปัจจุบันหลายเท่าตัว

            ปัจจุบันมนุษย์สามารถสื่อสารกันโดยไม่ต้องเห็นหน้า ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน การตอบโต้ แสดงความเห็น ใส่ความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าเหตุผล

            เราเห็นหลายกรณี ไร้ซึ่งข้อเท็จจริง ไร้หลักฐานรองรับ ฉะนั้นตัวชี้วัดว่าอนาคตจะหายนะหรือไม่คือ “ความรับผิดชอบ”

            ดูกรณี “จาตุรนต์ ฉายแสง” เป็นตัวอย่าง

            คาบเฟกนิวส์ว่าไฟเซอร์ เคยมาเจรจาให้ไทยเอามาฉีดก่อน จ่ายเงินทีหลัง แต่ไทยปฏิเสธทั้ง ๔ ครั้ง มาเผยแพร่ในโซเชียล ก็ได้ผล บรรดาสาวกเชื่อตามๆ กันไป

            แถมยังขยายความต่อ ด่ากราดไปทั่ว ถามว่าข้อเท็จจริงที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปนั้น จะมีสักกี่คนสนใจ

            คำถามเฉพาะกรณีวัคซีนไฟเซอร์ ทำไมรัฐบาลไม่จัดหาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำไมผูกขาดวัคซีน ทำไมๆๆๆ

            ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อาจารย์ในวงการแพทย์ อดีตอธิการบดี มศว เขียนเอาไว้ เป็นความรู้ที่คนตั้งคำถามทำไมๆๆๆ ควรอ่าน

—————

            ….ทำไมจึงเกิดข้อตกลง!! การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ๑๐  ล้านโดสในช่วงนี้

            จากข่าวที่ปรากฏทั่วไปแล้วว่า ทางการไทยกับบริษัทไฟเซอร์บรรลุถึงข้อตกลงร่วมกันในหลักการที่จะมีการจัดส่งหรือนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โดส เพื่อฉีดให้กับคนไทย โดยจะทยอยส่งให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ๒๕๖๔ นั้น คงจะต้องมาทำความเข้าใจในหลักการ และข้อมูลบางประการ เพื่อจะได้เข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

            วัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกา มีจุดโดดเด่นมาก ในเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงถึง ๙๕% ซึ่งเป็นการทดลองในเฟสสาม มีจำนวนอาสาสมัคร ๔๐,๐๐๐ คนเศษ (แต่เมื่อมีการฉีดในประชาชนจริงนับล้านคน ประสิทธิภาพก็ลดลงมาเป็น ๙๑%)

            แต่ด้วยข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของวัคซีนในช่วงแรก จึงทำให้ประเทศไทยต้องใช้เวลา ในการติดตามข้อมูลต่างๆ  เพื่อพิจารณาความเหมาะสม ได้แก่

            ๑) วัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ใช้เทคโนโลยีใหม่เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนชนิดใดในโลกมาก่อนเลย ไม่มีใครสามารถรับประกันความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีแบบนี้ได้ แม้มีการทดลองฉีดกับอาสาสมัครเฟสสามก็เพียงจำนวนหลักหมื่นคน เมื่อฉีดจริงกับคนนับล้านคน จะมีผลระยะสั้นระยะยาวเป็นอย่างไร ไม่มีผู้ใดทราบ หรือให้การรับประกันได้ ทางบริษัทเองก็จะไม่รับประกันผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

            ๒) การเก็บรักษาวัคซีนยุ่งยาก เนื่องจากวัคซีนซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัสที่บอบบางมาก รักษาคุณภาพให้คงที่ไว้ได้ยาก จึงต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก ระดับ -๗๐ องศาเซลเซียส ต้องใช้ตู้เย็นที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ ราคาสูงนับล้านบาท จะทำให้การกระจายวัคซีนไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อที่จะคงคุณภาพสูงเท่ากับที่ออกมาจากโรงงานเป็นไปได้ยาก

            ๓) ราคาวัคซีนในช่วงแรกค่อนข้างสูง ประมาณ ๒๐  เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เราจะผลิตเองอยู่ที่ราคาเพียง ๕ เหรียญสหรัฐ ส่วนวัคซีนของ  Sinovac ราคา ๑๗ เหรียญสหรัฐ ก็สั่งเข้ามาเป็นจำนวนเพียงพอที่จะฉีดก่อนที่วัคซีนแอสตร้าฯ จะได้รับในเดือนมิถุนายน จึงสั่ง ๒.๕ ล้านโดส

            แต่เมื่อเวลาผ่านไปหกเดือน ก็มีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลหลายอย่าง ซึ่งทำให้วัคซีนไฟเซอร์มีความเหมาะสมและน่าสนใจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่

            ๑) ผลข้างเคียงของวัคซีนจากเทคโนโลยีใหม่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่า อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ คือในช่วงแรก พบการแพ้ที่รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) ในสหรัฐอเมริกา ๑๑ รายต่อ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เข็มการฉีด และได้ลดลงเหลือ ๔ รายต่อ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เข็มการฉีด และไม่มีผู้เสียชีวิต ตลอดจนสามารถพิสูจน์ได้ว่า การเสียชีวิตของผู้สูงอายุในนอร์เวย์ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ๓๓ ราย ไม่ได้เกิดจากวัคซีนโดยตรง

            ๒) บริษัทไฟเซอร์ได้เร่งพัฒนา ทำให้วัคซีนสามารถดูแลเก็บรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเก็บที่ -๗๐  องศาเซลเซียสอีกต่อไป หากแต่สามารถเก็บในระดับ -๒๐  องศาเซลเซียส เหมือนวัคซีนของบริษัท Moderna ได้ ซึ่งประเทศไทยมีตู้เก็บที่อุณหภูมิ -๒๐ องศาเซลเซียสอยู่จำนวนมากพอสมควร

            ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทยังพัฒนาจนได้ข้อยุติว่า วัคซีนที่เก็บ -๒๐ องศาเซลเซียสได้เป็นปีนั้น เมื่อนำออกมาเก็บในตู้เย็น ๒-๘ องศาเซลเซียส ก็ยังสามารถรักษาคุณภาพได้นาน ๑-๓ เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงพอที่ประเทศไทยจะนำไปฉีดในจังหวัดต่างๆ ได้

            ๓) ราคาวัคซีนมีแนวโน้มขยับมาสู่ผู้ซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาที่มีการตกลงกันในเบื้องต้นลดลงอย่างมาก น่าจะครึ่งหนึ่ง        และที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นคือ ขณะนี้บริษัทไฟเซอร์อาจจะเป็นบริษัทแรกในโลก ที่มีผลการศึกษาทดลองอย่างเป็นทางการว่า สามารถฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไปได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดระบุให้ฉีดได้เลย เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากกรณีที่บริษัทไฟเซอร์ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลอิสราเอล ให้ทดลองฉีดในเด็กอายุ ๑๒ ปีขึ้นไปด้วย เพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวบริษัทเอง และกับประชากรโลก

            เพื่อแลกกับการที่อิสราเอล จะได้รับวัคซีนจำนวนมากและรวดเร็วก่อนประเทศอื่น

            ทั้งนี้ต้องรับเงื่อนไข ราคาวัคซีนซึ่งสูงกว่าราคาตลาดไปด้วยพร้อมกัน

            และในขณะนี้อิสราเอล ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของบริษัท ที่จะให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุห้าขวบขึ้นไปด้วย

            จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ทางการของประเทศไทย สนใจวัคซีนไฟเซอร์มากขึ้น มีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมดังกล่าว โดยที่ได้มีการประสานกันมาหลายเดือน ในที่สุดก็ได้ข้อยุติที่จะดำเนินการในหลักการที่จะจัดหาวัคซีน เหลือแต่การดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

            หลักการดังกล่าวได้แก่

            ๑) วัคซีนที่จะดำเนินการคือ ๑๐ ล้านโดส

            ๒) ราคาวัคซีนนั้นจะต่ำกว่าราคาในอดีตคือ ๒๐  เหรียญสหรัฐ

            ๓) ทางบริษัทจะทยอยจัดส่งวัคซีน เริ่มต้นตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ ๓ (ก.ค.-ส.ค. ๒๕๖๔) และให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี  ๒๕๖๔

            ก็เป็นเหตุเป็นผล เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ที่มีพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงไป ของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ จนกระทั่งมีความเหมาะสม

            ๑) มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

            ๒) มีความสะดวกที่จะกระจายวัคซีนที่สามารถคงคุณภาพไว้ได้

            ๓) ฉีดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไปได้

            และสามารถนำมาเสริมวัคซีนของ AstraZeneca ๖๑  ล้านโดส วัคซีนของ Sinovac ๒.๕ ล้านโดสได้ และเป็นการเสริมคู่ขนานไปกับวัคซีนของรัสเซีย (Sputnik V) ๑๐  ล้านโดส

            และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะมีวัคซีนที่จะเจรจาของ Johnson & Johnson และ Sinopharm รวมแล้วประมาณ ๑๐-๒๐ ล้านโดส ซึ่งก็น่าจะเพียงพอในสิ้นปีนี้ สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราต่อไป…..

———–

            ครับ…ข้อเท็จจริงมีอยู่ทั่วไป อยู่ที่สนใจหรือเปล่า.

Written By
More from pp
“แกร็บ ประเทศไทย” เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายล่าสุดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab ในจังหวัดเชียงใหม่
สืบเนื่องจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ภายหลังการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายล่าสุดในจังหวัดเชียงใหม่
Read More
0 replies on “ไม่มีอะไรลับใน ‘วัคซีน’ – ผักกาดหอม”