ตั้งครรภ์แฝด หนึ่งในภาวะครรภ์เสี่ยงสูง

การมีลูกแฝดอาจเป็นเรื่องที่คู่สมรสหลายคู่มองว่าน่ารัก ตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่ได้ลูกถึง 2 คน แต่รู้หรือไม่ว่าการตั้งครรภ์แฝด ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง  มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับคุณแม่และลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ

แพทย์หญิงจิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า การตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง คือการตั้งครรภ์ที่แม่และลูกมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตสูงกว่าการตั้งครรภ์ทั่วไป มีหลายปัจจัยที่ทำให้การตั้งครรภ์กลายเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูงได้ เช่น เคยแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป, คุณแม่มีโรคประจำตัว, ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี, การตั้งครรภ์แฝด, ตั้งครรภ์มีรกเกาะต่ำ มีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น 

ในปัจจุบันพบว่าการตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีปัจจัยหลัก 2 ประการ ที่จะทำให้เกิดครรภ์แฝดได้ ได้แก่ ประวัติครอบครัวมีครรภ์แฝดมาก่อน และเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น การใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก และการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ การตั้งครรภ์แฝด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งแบ่งเป็น

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับคุณแม่ ได้แก่ 

  • มีโอกาสแท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ช่วงไตรมาสแรกมากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • พบภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการตกเลือดก่อนคลอด หรือหลังคลอดมากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ไปจนถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะซีด
  • มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าครรภ์เดี่ยว
  • มีโอกาสคลอดธรรมชาติน้อยกว่าครรภ์เดี่ยว เพราะเด็กแฝดอาจไม่อยู่ในท่าที่เหมาะสมต่อการคลอดเองตามธรรมชาติ
    ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับลูก ได้แก่ 
  • ทารกมีโอกาสเกิดความพิการแต่กำเนิด และเกิดความผิดปกติทางโครโมโซมมากกว่าครรภ์เดี่ยว ซึ่งการตรวจพบความพิการจากการอัลตราซาวนด์ ทำได้ยากกว่าปกติ
  • ความเสี่ยงจากภาวะแฝดที่ใช้รกร่วมกัน หรือที่เรียกกันว่าแฝดไข่ใบเดียวกัน ซึ่งค่อนข้างตรวจวินิจฉัยได้ยากในไตรมาสแรก ยกเว้นรายที่มีภาวะถ่ายเลือดระหว่างกันอย่างรุนแรง (TTTS : Twin – Twin Transfusion Syndrome) ส่วนใหญ่จะเริ่มตรวจพบความเสี่ยงเมื่อเข้าไตรมาสที่ 2 เช่น ปริมาณน้ำคร่ำของทารกแต่ละถุงต่างกัน, การมองไม่เห็นกระเพาะปัสสาวะของทารกที่ถ่ายเลือดไปให้ทารกอีกคน, ทารกคนหนึ่งมีภาวะซีดและตัวเล็ก ในขณะที่อีกคนเริ่มมีหัวใจโตและลิ้นหัวใจรั่ว, ทารกเสียชีวิตจากภาวะซีดรุนแรงและอีกคนเสียชีวิตจากภาวะบวมน้ำหรือหัวใจวาย เป็นต้น
  • มีโอกาสเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth retardation) ได้มากกว่าครรภ์เดี่ยว ความเสี่ยงอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ทารกเสียชีวิตจากภาวะสายสะดือพันกัน กรณีตั้งครรภ์แบบทารกอยู่ในถุงน้ำคร่ำเดียวกัน

“อย่างไรก็ตาม คุณแม่ครรภ์แฝดควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ซึ่งอาจมีการนัดอัลตราซาวนด์ถี่กว่าคุณแม่ทั่วไป โดยเฉพาะกรณีครรภ์แฝดที่ใช้รกร่วมกัน เพื่อได้รับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างเข้มงวด”  แพทย์หญิงจิตรนพินกล่าว

แพทย์หญิงจิตรนพิน ดุลยเกษม 

สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
โรงพยาบาลเวชธานี

Written By
More from pp
ฮอตสุดๆ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 5 วันเดียวแห่จองห้องพักแล้ว 2.79 แสนสิทธิ
ฮอตมากจริงๆ! เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วันเดียวแห่จองห้องพักแล้ว 2.79 แสนสิทธิ นายกรัฐมนตรีมั่นใจมาตรการจะช่วยหนุนความต่อเนื่องการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว รวม 5 เฟสสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 6...
Read More
0 replies on “ตั้งครรภ์แฝด หนึ่งในภาวะครรภ์เสี่ยงสูง”