พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงต่อสื่อมวลชน

ถึงมติคณะรัฐมนตรีผ่าน พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวถึง พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

โดยจะใช้ดูแลเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถรักษาระดับการจ้างงาน สร้างงานในระดับท้องถิ่นเพื่อเป็นการต่อยอด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการล็อคดาวน์ทั่วประเทศและหลายจังหวัดพื้นที่สีเขียวสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแล้ว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักลงทุนต่างชาติว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

ในโอกาสนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณจาก พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

แบ่งออกเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 555,000 ล้านบาท และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ช่วงที่ผ่านมีการโอนวงเงินจากแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้แผนงานด้านการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม จะทำให้วงเงินแผนงานด้านการเยียวยาประชาชนมีวงเงิน 685,000 ล้านบาท และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจมีวงเงิน 270,000 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาได้การอนุมัติการใช้วงเงินผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอมา ในแผนงานด้านสาธารณสุข อนุมัติวงเงินแล้ว 25,825 ล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดซื้อการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดทำห้องความดันลบ เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล ทำให้มีวงเงินคงเหลือ 19,174 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมนำเสนอโครงการเพื่อใช้งบประมาณที่เหลือในการจัดซื้อหาวัคซีนเพิ่มเติม สำหรับแผนงานแผนงานด้านการเยียวยาประชาชนได้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 666,243 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการเราไม่ทิ้งกัน

และแผนงานช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง พร้อมอนุมัติวงเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมกว่า 210,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน และแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 125,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการระดับจังหวัดกว่า 200 โครงการ คงเหลือ 144,846 ล้านบาทเศษ

ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการอื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่จะเร่งดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติย้ำว่ากรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาทมีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว และมีเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 817,000 ล้านหรือเกือบร้อยละ 80 ช่วยให้มีการจ้างงานแล้วกว่า 163,628 คน มีการฝึกอบรมทักษะเกษตรกรกว่า 90,000 คน  ช่วยเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นประมาณร้อยละ  2

โดยรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยภายใต้  3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การส่งออกที่จะนำไปสู่การลงทุนในภาคเอกชน การลงทุนในภาครัฐที่จะเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงาน การช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาที่จบใหม่ด้วย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการประกาศ พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งเป็นไปตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โดยกำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะ มีความจำเป็นเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศและไม่สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีได้ทัน โดยเป็นการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยต้องใช้จ่ายใน 3 แผนงาน

ได้แก่ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท กรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินแผนงานหรือโครงการภายใต้ 3 วัตถุประสงค์ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยเสริมแผนงานตามพ.ร.ก. ฉบับที่ 1

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเป็นห่วงถึงภาคธุรกิจ SMEs และ Micro SMEs รวมทั้งที่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่าง ๆ และเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ในตอนท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่ากรอบวงเงินดังกล่าวมีความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการทางด้านการคลังเพื่อดูแลด้านสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยาตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทย 2564-2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากกรณีฐานถึงร้อยละ 1.5 และยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการออกตราสารหนี้ในช่วงเวลาที่ได้ประโยชน์แก่ประเทศมากที่สุด

Written By
More from pp
พรรคภูมิใจไทย เปิดนโยบายคนพิการ จัดเต็ม! เพิ่มอัตราการจ้างงานคนพิการในภาครัฐ 10,000 อัตรา และปรับเพิ่มให้คนพิการกู้ยืม รายบุคคล 60,000 บาท รายกลุ่ม 2,000,000 บาท
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ คณะทำงานยุทธศาสตร์ ด้านส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สมัครส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นางสาวชนม์ทิดา อัศวเหม...
Read More
0 replies on “พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”