“ค่ารถ” ถ้าแพงขึ้นก็เดือดร้อน

หลายคนคงเคยใช้บริการรถสาธารณะที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนนทั้งรถเมล์ รถตู้ รถสองแถวกันอย่างแน่นอน…

คงเป็นเพราะรถพวกนั้นมีค่าบริการที่ถูกและเหมาะสมสำหรับที่จะใช้เดินทางระหว่างวัน สำหรับผู้ใช้บริการที่อยู่ในฐานะปานกลางของสังคม ด้วยความสะดวกและประหยัดทำให้ความนิยมมีมาก ครั้นจะมานั่งรถที่มีค่าบริการแพงๆ  หรือผ่อนรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทาง ก็ต้องกลับมาคำนวณรายได้กับรายจ่ายของแต่ละเดือนก่อนว่าไหวหรือเปล่า

เพียงแค่จะนั่งออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาดมาทำกินก็น่าจะเลือกโบกรถสองแถวที่ผ่านปากซอยไปดีกว่า ส่วนใครที่อยากจะเดินทางข้ามเขตแดนออกไปต่างจังหวัดหน่อย ถ้าไม่นั่งรถทัวร์ แล้วเลือกนั่งรถเมล์ก็แสนไกลกว่าจะถึงคงหัวหมุน คงต้องหันมาใช้บริการรถตู้น่าจะดีที่สุด

ต้องยอมรับว่าค่าบริการรถสาธารณะพวกนี้อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้และเหมาะสมกับคนในสังคม ไม่ใช่ว่าแพงเวอร์ ไม่งั้นคงได้มีโวยกันบ้าง!

เพราะถ้าเป็นรถเมล์ไหนจะต้องแย่งชิงกันให้ได้ที่นั่งในช่วงที่เป็นเวลาแออัด พวกเวลาก่อนเข้าทำงานหรือหลังเลิกงาน หรือถ้าเป็นรถตู้ก็ต้องยืนรอจนคิวยาวกว่าหางว่าวอีก ถ้าจะเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ในช่วงเวลาเร่งด่วนก็มีสิทธิ์ถูกปฏิเสธแบบไม่เหลือเยื้อใยเหมือนกัน

ที่กล่าวอ้างมาไม่ได้บอกว่าระบบขนส่งของประเทศไทยไม่ดีนะ มันก็เป็นไปตามวงจรของมัน ถ้าไม่เอาไปเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

เดี๋ยวนี้องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลรถสาธารณะก็เริ่มมีการปรับตัวพัฒนาบริการให้ดีขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว ทั้งตัวรถเอง หรือสถานที่ให้บริการเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนถือว่าเดินหน้ามาได้สวยเลย

แต่ประเด็นที่จะพูดก็คือราคา ที่ยังได้รับการควบคุมไม่ให้สูงเกินไปได้อย่างดี แม้จะมีการร้องเรียนจากหลายหน่วยงาน หลายสมาคมให้ขึ้นค่ารถก็ตาม และอีกส่วนที่ยังมีการกำกับได้อย่างดีคือราคาเชื้อเพลิง อันนี้ต้องชมที่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ที่มีมาตรการออกมาแบกรับราคาค่าเชื้อเพลิงสำหรับรถสาธารณะ

ทำมาตลอด 8 ปีใช้เงินไปเป็นหลักแสนล้านบาทเพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อนเพิ่มขึ้น “น่ายกย่อง”

ล่าสุด มาตรการนี้ก็มีอย่างต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 63 เพราะที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด ปตท. ยังมีความเห็นอกเห็นใจประชาชนในสังคมไทย เลยส่งผลให้พวกรถสาธารณะทั้งกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้ร่วม ขสมก. รถสองแถว และ รถตุ๊กตุ๊ก รวมกว่า 46,120 ราย และกลุ่มรถบัสโดยสารร่วม ขสมก. รถตู้ร่วม บขส. และรถโดยสารร่วม บขส. กว่า 13,941 ราย ก็ยังได้สิทธิ์ลดราคาก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัมอยู่เหมือนเดิม ถือว่าถูกกว่าราคาขายปลีกอยู่หลายบาทเหมือนกัน ถ้าเติมเยอะๆ ก็ลดต้นทุนไปได้บ้าง

และการที่รถสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือต่างจังหวัด ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงก็เห็นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาที่จะกระทบต่อสุขภาพไปอีกหน่อย

แถมในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบนี้ สภาพเศรษฐกิจซบเซา การสนับสนุนแบบนี้ ก็ถือว่าทำให้ประชาชนไม่ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ไม่งั้นเดือดร้อนหนักแน่ๆ ถึงจะเป็นเงินไม่กี่บาท ก็ต้นทุนเหมือนกัน…

 

Written By
More from pp
ผู้ทุพพลภาพ ปลื้ม “สุชาติ” ส่ง “คณะที่ปรึกษา” เยี่ยมถึงบ้านพักอำเภอไทรน้อย
25 พฤษภาคม 2565 – นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ดร.จำลอง ช่วยรอด คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย...
Read More
0 replies on ““ค่ารถ” ถ้าแพงขึ้นก็เดือดร้อน”