เสรีภาพไร้มารยาท-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

            ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ๙๘๖ จุด

            ฉีดไป ๑๔๓,๑๑๖ ราย

            บางคนบอกว่าน้อยไป เป็นแบบนี้อีก ๑๐ ปีถึงจะครบ

            ใจเย็นๆ ครับ วัคซีนเพิ่งจะเริ่มทยอยออกมาล็อตแรกๆ  จำนวนไม่มากนัก

            หลังจากนี้สยามไบโอไซเอนซ์ จะติดเทอร์โบ ผลิตสำหรับประเทศไทยเดือนละ ๑๐ ล้านโดส ภายในไม่เกิน ๕  เดือนได้ฉีดกันเกือบครบทุกคน

            แต่เบื้องต้น คุณหมอโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไทม์ไลน์วัคซีน ฟังแล้วชัดเจน ไม่ต้องไปเดากันอีกต่อไป

            ขณะนี้มีวัคซีนจำนวน ๓.๕๔ ล้านโดส

            เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ๒.๐๔ ล้านโดส และซิโนแวค  ๑.๕ ล้านโดส

            จะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบไปทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

            โดยสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีน ๘.๔  แสนโดส

            สัปดาห์ที่ ๔ อีก ๒.๕๘ ล้านโดส

            ในภาพรวมตลอดเดือนมิถุนายน จะมีวัคซีน ๖ ล้านโดส

            ตามแผนที่ ศบค.กำหนด และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปทั้งหมด ๑๐ ล้านโดส

            สรุปคือในเดือนมิถุนายนจะมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องตามที่นัดหมายกันไว้

            ไม่ใช่ฉีดวันที่ ๗-๘ แล้วหยุดตามที่พวกจิตไม่ว่างในโซเชียลปล่อยข่าวให้คนด่ารัฐบาลกัน

            ครับ…เรื่องวัคซีนคงได้คุยกันเรื่อยๆ แต่วันนี้ขอคั่นด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ ที่คิดจะเขียนถึง มาหลายรอบแล้ว แต่ความคิดมันวนๆ เพราะไม่ได้สัมผัสกับคนกลุ่มนี้โดยตรงสักเท่าไหร่

            โชคดีครับ มีผู้สัมผัสโดยตรงเขียนบอกเล่าให้อ่าน จะเรียกว่าเป็นการชำแหละคนรุ่นใหม่ บางคน บางกลุ่ม ก็ไม่ผิดนัก

             รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดชุดใหญ่ ในเฟซบุ๊ก  Puangthong Pawakapan ลองอ่านดูครับ

            “….ข้างล่างนี้เป็นข้อความที่เพิ่งส่งถึงนิสิตปี ๒ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี

                ๓ วันที่ผ่านมาทำเอาเส้นความอดทนขาดลง เพราะมีนิสิต ๓ คน inbox มาหาหลังเที่ยงคืนด้วยเรื่องคะแนน….  ต่อไปนี้จะเริ่มคลาสด้วยการแปะข้อความนี้ก่อนทุกครั้ง

                ลูกชายเราบอกว่าถ้าแม่ไม่บอกเรื่องพวกนี้ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยมีใครสอนเขา

                ในขณะที่โรงเรียนไทยให้ความสำคัญกับเครื่องแบบ  การกราบไหว้ครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่กลับไม่สอนมารยาทพื้นฐานในการมีชีวิตในโลกยุคใหม่ให้กับเด็ก

                นิสิตคะ

                เราเข้าใจว่าสมัยคุณเป็นนักเรียนมัธยม ไม่มีใครบอกคุณเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่การติดต่อส่วนใหญ่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้พวกคุณแยกแยะไม่ออกว่าการติดต่อระหว่างเพื่อน ระหว่างนิสิตกับอาจารย์  นิสิตกับเจ้าหน้าที่ นิสิตกับบุคคลภายนอก

                เช่น การสมัครงาน การสมัครเรียน ฯลฯ พึงมี code  of conduct อย่างไร ฉะนั้น ทุกปีทั้งอาจารย์ และบุคคลภายนอกที่ต้อง deal กับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ จะบ่นเรื่องเด็กไม่มีมารยาทกันบ่อยมาก

                ฉะนั้น อาจารย์ถือเป็นหน้าที่ที่ควรจะต้องบอกให้พวกเราได้รับรู้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อไปภายหน้า

                ยกเว้นกับเพื่อนและคนในครอบครัวของคุณแล้ว ความสุภาพยังเป็นสิ่งสำคัญ การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาทและการให้เกียรติแก่กันและกัน  สองอย่างนี้ควรดำเนินไปด้วยกันเสมอ และอันนี้ไม่เกี่ยวกับ  ‘ความเป็นไทย’ หรืออนุรักษนิยม

                ในสังคมฝรั่ง ความสุภาพเป็นสิ่งสำคัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน แน่นอนว่าความสุภาพของแต่ละสังคมมีระดับต่างกัน

                สิ่งที่อาจารย์เรียกร้องจากคุณคือ ‘ขั้นพื้นฐาน’ ที่มนุษย์ควรมีต่อกัน เช่น ทักทายกันด้วยคำว่า ‘สวัสดี’ หรือ ‘เรียน’ ก็พอ ไม่ต้องถึงกับ ‘กราบเรียน’

                ในกรณีจดหมายทางการ ใช้คำว่า ‘เรียน’ เท่านั้น

                หากอาจารย์วิชาใดให้คุณส่งงานทางอีเมล จะต้องมีข้อความในอีเมลด้วย เช่น สวัสดีครับ/เรียน อาจารย์… ผมขอส่งรายงานวิชา…. ด้วยความนับถือ…. ลงชื่อ (เขียนเหมือนจดหมายปะหน้า พวกคุณเรียนการเขียนจดหมายกันแล้วใช่ไหม)

                อย่าส่งงานโดยไม่มีข้อความใดๆ ติดไปด้วยโดยเด็ดขาด คนรับจะรู้สึกเหมือนนิสิตโยนงานใส่หน้า อย่าทำแบบนี้ในเวลาที่คุณไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย

                อย่าทำแบบเดียวกันนี้ในการสมัครงาน หรือสมัครเรียนโดยเด็ดขาด

                อย่าติดต่ออาจารย์ผ่านทาง messenger หรือ  line หากเขาไม่ได้อนุญาตให้คุณทำ ยกเว้นมีเรื่องสำคัญมากจริงๆ เช่น คุณต้อง withdraw แล้วเป็นวันสุดท้ายแล้ว คุณติดต่อไปทางอื่นก่อนหน้านี้แล้วแต่อาจารย์ไม่เห็น — ในความเป็นจริง คุณควรจะติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ภาค และให้เขาติดต่ออาจารย์เอง แต่นี่หมายความว่าคุณต้องมีเวลาเผื่อล่วงหน้า ไม่ใช่วิ่งเต้นแก้ปัญหาให้ตัวเองในวันสุดท้าย

                ที่เลวร้ายมากคือ ส่งข้อความมาหลัง ๔ ทุ่ม หลายคนส่งมาหลังเที่ยงคืน

                หากเขาไม่ได้อนุญาตไว้ก่อน อาจารย์ฝรั่งจะถือมาก  หากคุณติดต่อเขาผ่าน inbox ของ social media  เขาถือว่าคุณละเมิด privacy ของเขา

                วิชานี้มี TA คุณสามารถติดต่อสอบถามเขาก่อน

                การขอให้อาจารย์ช่วยแก้คะแนนให้ หรือขอทำงานแก้ตัวใหม่ ไม่ควรกระทำเด็ดขาด โอกาสในชีวิตหลายๆ อย่างผ่านไปแล้ว ก็จะไม่ผ่านมาอีก ถ้าพลาด ก็ถือเป็นบทเรียน —  ยกเว้นในกรณีที่อาจารย์ได้บอกข้อยกเว้นไว้แล้ว เช่น  อนุญาตให้เฉพาะคนที่ติด probation หรือเสี่ยงกับการติ ด probation

                หากนิสิตมีปัญหาส่วนตัว เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือสภาพที่บ้านเป็นอุปสรรคต่อการเรียน คุณควรแจ้งให้อาจารย์ทราบแต่เนิ่นๆ ผ่านทางอีเมล อาจารย์ก็อาจจะหาทางออกที่เป็นไปได้ ไม่ใช่แจ้งหลังจากผลคะแนนออกแล้ว เพราะจะแก้ไขอะไรยากมาก และไม่แฟร์กับคนอื่นค่ะ

                แค่นี้ก่อนแล้วกัน ถ้าใครมีคำถามอะไรก็ถามมาได้ค่ะ…”

            ครับ…ผมเห็นด้วย การมีเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้แปลว่าไม่ต้องมีมารยาทและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  สองอย่างนี้ควรดำเนินไปด้วยกันเสมอ

            ปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ ใช้เสรีภาพไม่เป็น

            ไม่เข้าใจเสรีภาพดีพอ

            ความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะในแง่รากเหง้า วัฒนธรรม เป็นตัวบ่งบอกตัวตนของสังคม

            ขณะที่วัฒนธรรมนั้น ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพ

            แต่ลองสังเกตดีๆ คนรุ่นใหม่มักอ้างว่าเสรีภาพต้องอยู่เหนือวัฒนธรรมเสมอ เพราะวัฒนธรรมคือสิ่งล้าหลัง โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาติตนเอง       

            การใช้เสรีภาพโดยไม่มีมารยาทในรั้วมหาวิทยาลัย อาจกระทบในวงไม่กว้างนัก

            แต่เสรีภาพที่ไร้มารยาทวันนี้มันพบเห็นได้ทั่วไปนอกมหาวิทยาลัย  

            การไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้เกียรติ เกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน

            และพบเห็นได้ง่ายในโลกโซเชียล

            ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนหนึ่งมีตัวเร่งมาจากการใช้เสรีภาพแบบไร้มารยาท ทั้งจากคำพูด ข้อเขียนในโซเชียล และการกระทำ

            ชาชิน จนความหยาบคายคือเรื่องปกติที่ใครๆ ก็แสดงออกกัน

            โควิดยังมีวัคซีนให้ฉีดป้องกันเชื้อ ลดการตาย ในสองสามเดือน

            แต่หยาบคายไร้มารยาทมันติดทนนานเป็นรุ่นคน

 

Written By
More from pp
กระทรวง อว. นำโดย “รมว.ศุภมาส” ร่วมผนึกกำลังกองทัพบกพัฒนาทักษะกำลังพลของกองทัพผ่านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ RTA Thai MOOC เริ่มปี 67 เผย เรียนจบได้ใบรับรองทักษะ (Skill Transcript) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนหรือผู้ว่าจ้างหลังปลดประจำการ
25 มกราคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวง อว.กับ...
Read More
0 replies on “เสรีภาพไร้มารยาท-ผักกาดหอม”