ทีมแพทย์ “ศูนย์วิจัย” จุฬาฯ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

วัคซีน “Chula Cov19”
จะเป็นวัคซีนที่ “ช้าหน่อย แต่ชัวร์” ด้านคุณภาพและความปลอดภัย ในบรรดาวัคซีนโควิด-๑๙ ที่มีอยู่ตอนนี้!
ยิ่งกับปัญหา….
ไวรัสแปลงร่างเป็น “สายพันธุ์ใหม่” เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ที่ทั่วโลกปวดหัวอยู่ตอนนี้ด้วยแล้ว
ช้า-ด้วยคิดค้น วิจัย-พัฒนา ของทีมวิจัยทางการแพทย์ จุฬาฯนี่แหละ เป็นช้า “ได้พร้าเล่มงาม”
“ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม”
ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกวานซืน (๑๔ มิย.๖๔)

“เตรียมความพร้อมพัฒนา-ทดลองวัคซีนรุ่นที่ ๒ กับสัตว์ทดลองควบคู่ไปกับรุ่นแรกแล้ว
รองรับเชื้อดื้อยาหรือ “เชื้อกลายพันธุ์” ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล เช่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ เป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผน….
คาดว่าสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกัน “เชื้อกลายพันธุ์” ที่ดื้อวัคซีนได้ เพื่อทดสอบในอาสาสมัคร ภายในไตรมาสสี่ของปีนี้”

เป็นไง….
เจ๋งมั้ย “ทีมแพทย์ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ”
“ไตรมาส ๔ ปีนี้” หมายถึงภายใน ตุลา-ธันวา.ปี ๖๔ นี้แหละ

วัคซีนสูตรปราบ “เชื้อกลายพันธุ์” โดยทีมแพทย์ไทยเผลอๆ จะเป็น “สูตรใหม่-ตัวใหม่” แกะกล่องในตลาดโลก
ถ้าสำเร็จตามแผน
จะเข้าตำรา “มาที่หลัง-กลายเป็นก่อน” แถมดังกว่า!

วันนี้ มาคุยกันถึงเรื่องวัคซีน Chula Cov 19 เป็นการกระชับความมั่นใจยิ่งขึ้นอีกซักหน่อย
ถึงวันนี้ การพัฒนา วิจัย ต่อยอด คิดค้น ผลิตวัคซีน รับมือไวรัสต่างๆ ของจุฬาฯ โดยเฉพาะกับเชื้อโควิด
ถึงยังไม่ ๑๐๐% เพิ่งเข้าสู่การทดลองระยะ ที่ ๑ ที่ ๒ ในมนุษย์ ไปหมาดๆ เมื่อ ๑๔ มิย.นี้ ก็ตาม

แต่ “แต่ละย่างก้าว” จนมาถึงขั้นทดลองในมนุษย์ พูดได้ ว่า สร้างความมั่นใจในผลสำเร็จ จะใช้คำว่า ๙๙% ก็ไม่ผิด!
คือความ “สัมฤทธิ์ผล” ในทางปฎิบัติการน่ะ ๙๙

อีก ๑%
ต้องรอ WHO “องค์การอนามัยโลก” หรือ NIH “สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ” เขาพยักหน้าก่อน
Chula Cov19 แม้จากการคิดค้น พัฒนา ออกแบบ โดยทีมแพทย์ไทยล้วนๆ

แต่ก็ต้องให้เครดิต Prof. Drew Weissman แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผู้คิดค้นเทคโนโลยีด้านนี้ของโลก ด้วย
ท่านอยู่ในความสำเร็จนี้ …….

ในฐานะผู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตลอด!
ลงรายละเอียดขั้นตอนทดสอบทั้ง ๒ ระยะกันนิด ว่าพิถิพิถันกันขนาดไหน?
ทดสอบระยะที่ ๑ จำนวน ๗๒ คน แยกเป็น

“กลุ่มแรก” อาสาสมัคร ๓๖ คน อายุ ๑๘-๕๕ ปี
“กลุ่มที่สอง” อาสาสมัคร ๓๖ คน อายุ ๖๕-๗๕ ปี

ใน ๒ กลุ่มนั้น แบ่งเป็นกลุ่มย่อย “ฉีดทดสอบ” เพื่อหาค่าลงตัวในปริมาณ
คือ ฉีดวัคซีน ๑๐ ไมโครกรัม, ๒๕ ไมโครกรัม และ ๕๐ ไมโครกรัม เพื่อดูว่า
วัคซีน ChulaCov19 มี “ประสิทธิภาพสูงสุด” ที่ปริมาณเท่าไร?

เพราะปัจจุบัน “โมเดอร์นา” ใช้วัคซีนปริมาณ ๑๐๐ไมโครกรัม ส่วน “ไฟเซอร์” ใช้ ๓๐ ไมโครกรัม

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.รพ.จุฬาฯ และคณบดีแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับศ.นพ.เกียรติ
ร่วมให้ความรู้ประเด็นนี้ ว่าที่แยกเป็นกลุ่มๆ เช่นนี้ เพราะต้องศึกษา ว่า

“คนไทยหรือเอเชียเหมาะกับการฉีด ๑๐ หรือ ๒๕ หรือ ๕๐ ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง”

เมื่อทดสอบระยะที่ ๑ แล้ว
จะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ ๒ ใช้อาสาสมัคร จำนวน ๑๕๐-๓๐๐ คน
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เริ่มต้นทดสอบระยะที่ ๒ ได้ประมาณ “สิงหาคม ๒๕๖๔” เป็นต้นไป

ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า……
“ต้องใช้ระยะเวลาและทยอยฉีดตามลำดับ ใช้หลักการเหมือนกันทั่วประเทศ ถึงจะทราบข้อมูลจากผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่

หากองค์การอนามัยโลกหรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า
“วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร” ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้

สมมติว่า เกณฑ์วัคซีนโควิด-19 ที่ดี ต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 IU (International Unit)
ถ้าหาก วัคซีน Chula Cov19 กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าค่านี้ แสดงว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ก็สามารถ “ยกเว้น” การทำทดสอบทางคลินิก “ระยะที่ ๓” ได้

และวัคซีนนี้….
“อาจได้รับอนุมัติ” ให้ผลิต เพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ ภายใน “ก่อนกลางปีหน้า”

นั่นหมายความว่า กลางปี ๒๕๖๕ ถ้าเป็นไปตามแผน ไทยจะเป็นประเทศ “ผลิตวัคซีน” ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ใช้ปราบโควิด-๑๙ ได้ด้วยตัวเอง อีกประเทศหนึ่งในโลก

และในปี ๒๕๖๕ เช่นกัน……..
วัคซีนสูตรปราบ “เชื้อกลายพันธุ์” ที่ทดสอบในอาสาสมัคร ตอนปลายปี ๖๔
เผลอๆ จะก้าวล้ำ-นำหน้า มีผลใช้รับมือ “ไวรัสกลายพันธุุ์” ให้ฮือฮากันไปทั้งโลกก็เป็นได้!

เห็นมั้ย….
ไม่ต้องวุ่นวายขายกระจาดไปกับแค่วัคซีน “นัดแล้วไม่มา” หรือ “มา…แต่มาสาย” หรอก
เราผลิตไม่ได้เอง ต้องพึ่งเขา ก็ต้องกินทัมใจหรือบวดหายไปก่อน รออีกนิดเถอะน่า

Chula Cov19 ของเรา “คิดเอง-ทำเอง” ผลิตออกมาได้ละก็ ทีนี้แหละ ไม่ต้องงอนง้อ รอใคร ผองอาเซียนสบายไปด้วยกันทั้งหมด
ต้องเข้าใจนะ ใช่ว่า ฉีด ซิโนแวค-แอสตร้า เซนเนก้า หรือ ซิโนฟาร์ม หนเดียวแล้วคุ้มไปทั้งชาติ

ต่อไปนี้ มันต้องฉีดกันชนิด ต้นปี-กลางปี-ปลายปี เลยแหละ พอมันกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดแล้ว มันก็จะอัพเกรดเป็น “พันธุ์ใหม่” มาเล่นงานเราอีก

คนคิดค้นวัคซีน ก็ต้องคิดค้นเป็นอาวุธไล่ตามมันไปเรื่อยๆ ฉีดกันไปเรื่อยๆ เป็นไปอย่างนี้จนกว่า “โลกแตก”
ทีนี้ ก็มาดูซิ ว่าโครงสร้างของวัคซีน Chula Cov19 เขาออกแบบยังไง ศ.นพ.เกียรติ แจงพอสังเขป ว่า….

“ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด)
เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะสร้างเป็นโปรตีน ที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein)
และปุ่มหนามนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ

พอวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้ จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ทดลองในลิง-ในหนู มาแล้ว พบว่าสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง

หนูฉีด ChulaCov19 ครบ ๒ เข็ม ห่างกัน ๓ สัปดาห์ จากนั้น ให้หนูได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก
ปรากฏว่า สามารถป้องกันหนูไม่ให้ป่วยและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย ๑๐ ล้านเท่า

เมื่อทดสอบ “ความเป็นพิษ” ก็พบว่าปลอดภัยดี
ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีน จะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน ๓-๕ วัน
และ “ทุกตัว” มีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูกและปอด เป็นจำนวนมาก

สรุป “จุดเด่น” ของวัคซีน ChulaCov19 คือ

  • อยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น(๒-๘ องศาเซลเซียส)ได้นาน ๓ เดือน
  • เก็บในอุณหภูมิห้อง(๒๕ องศาเซลเซียส)ได้นาน ๒ สัปดาห์ ทำให้จัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น
  • วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด

วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อ ก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน ๔ สัปดาห์ มีวัคซีนใช้ทดสอบในหนูได้

การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่

นอกจากนี้ เมื่อเกิด “เชื้อกลายพันธุ์” สามารถ “สังเคราะห์วัคซีน” ได้เร็ว

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ “ตบมือ” กันซิครับ

ขอบคุณ “ทีมแพทย์ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ”
ขอบคุณ “ประเทศไทย” และ “คนไทย”ทุกคน!

Written By
More from plew
“ไก่กับควาย” เลี้ยงอะไรดี?-เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน วันนี้ ปวดคอ ปวดไหล่ ปั่นป่วนลงไปถึงในท้อง ก็ไม่อยากตายคาจอเหมือนพระเอกในหนัง เลยบอก “หัวหน้าข่าว” ประจำวัน ว่า วันนี้...
Read More
0 replies on “ทีมแพทย์ “ศูนย์วิจัย” จุฬาฯ – เปลว สีเงิน”