“อลงกรณ์” เผยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ คืบหน้าเตรียมสรุปเสนอ “รัฐมนตรีเฉลิมชัย” หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลเจาะตลาดโลก 2 พันล้านคน ตอบโจทย์ยุคโควิด

“อลงกรณ์”เผยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ คืบหน้าเตรียมสรุปเสนอ “รัฐมนตรีเฉลิมชัย” หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลเจาะตลาดโลก 2 พันล้านคน ตอบโจทย์ยุคโควิด พร้อมเปิดตัวระเบียงเศรษฐกิจลิมอร์ดาซาร์เวอร์ชั่นใหม่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 5/2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (18 ก.ย.) ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่วางเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก รวมทั้งเป็นฮับของสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาล

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลมีคณะอนุกรรมการ 4 คณะเพื่อขับเคลื่อนได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” 2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” 3. คณะอนุกรรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และ 4. คณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งการประชุมในวันนี้คณะอนุกรรมการได้รายงานผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าอย่างมากโดยเฉพาะโครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลซึ่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนฯแจ้งว่ารูปแบบโครงการและแนวทางการลงทุนเสร็จแล้วกำลังคัดเลือกพื้นที่ของโครงการ3แห่งที่เสนอมาใน3จังหวัดภาคใต้โดยตนจะลงไปดูพื้นที่ด้วยตัวเองในต้นเดือนหน้าก่อนสรุปเสนอรายงานต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับชุมชนเกษตรในพื้นที่ทั้งการผลิตพืชปศุสัตว์และประมงเพื่อสร้างงานสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจใน3จังหวัดภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฮับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาลมุ่งเจาะตลาดมุสลิมกว่า 2พันล้านคนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง อาเซียนและจีน

นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”และกรอบแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมเช่นกัน ทุกคณะอนุกรรมการฯพยายามเร่งรัดดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มที่

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังให้เริ่มขับเคลื่อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจลิมอร์ดาซาร์ (Limor Dasar)เวอร์ชั่นใหม่5-5-5บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของ5จังหวัดใต้สุดของไทย(ปัตตานี-นราธิวาส-ยะลา-สตูล-สงขลา) กับ 5 รัฐทางเหนือของมาเลเซีย (กลันตัน-เคดะห์-เปรัค-เปอร์ลิส-ปีนัง) ในความร่วมมือ 5 สาขา คือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลเป็นการรื้อฟื้นโครงการนี้ที่เคยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง3ปีในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ระหว่างปี2551–2554

ซึ่งในการขับเคลื่อนครั้งนี้จะผนึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล (Halal Institute)ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือศูนย์AIC หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์โลจิสติกส์ สมาพันธ์เอสเอ็มอี สมาคมท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน อปท. จังหวัดและศอบต.


นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมว่าปัญหาได้คลี่คลายลงจนน่าพอใจแต่ยังให้สืบสวนสอบสวนและเฝ้าระวังการค้าออนไลน์หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือ10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการค้าธุรกิจไทยมุสลิมเดินหน้า 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่

1) มาตรการสื่อสารเตือนภัยผู้บริโภค 2) มาตรการป้องปรามผู้ค้า 3) มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิด โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยกว่า 13 แห่ง และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวกให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4) มาตรการส่งเสริมมาตรฐานฮาลาล และ 5) มาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Tracebility) จากโรงฆ่าสัตว์ถึงผู้บริโภค ดำเนินการตามเป้าหมาย 300 แห่งทั่วประเทศแล้ว

Written By
More from pp
ม.รังสิต จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2564
มหาวิทยาลัยรังสิต จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2564 ในวันเสาร์ที่ 22 (ฝึกซ้อม) และ วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565...
Read More
0 replies on ““อลงกรณ์” เผยโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ คืบหน้าเตรียมสรุปเสนอ “รัฐมนตรีเฉลิมชัย” หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลเจาะตลาดโลก 2 พันล้านคน ตอบโจทย์ยุคโควิด”