กระจกสภา “ชุมพล จุลใส”

“ธรรมศาสตร์” เดี๋ยวนี้ เปิดสอนคณะใหม่ๆเก๋ไก๋จัง

นอกจาก “คณะไสยศาสตร์สามสัส” แล้ว
ยังเปิด “คณะสถุลศาสตร์การเมือง” ขึ้นมาอีกคณะ! บัณฑิตรุ่นแรกที่ขึ้นหน้า-ขึ้นตา เห็นจะไม่มีใครเกินนางสาวปนัสยา หรือ “รุ้ง”
เมื่อวาน เธอโพสต์เฟซถึงประธานรัฐสภา “ท่านชวน หลีกภัย” และสว.ทุกท่าน ด้วยการให้ “จำปียักษ์”
ทำเอาบรรดา “กุมารา-กุมารี” ผู้มีจำปียักษ์ทัดอยู่ในซอกใจ สนองตอบด้วยแต่ละจริต กรี๊ดกร๊าดสนั่นเมือง

ก็อยากบอกนางสาวรุ้งด้วยหวังดีซักนิด
วัยเธอเพิ่งฉีกผ้าอ้อมไม่นาน อาจเข้าใจผิด เที่ยวทึกทักว่าจำปียักษ์ คือประชาธิปไตยที่ฝันถึงและใฝ่หา ซึ่งมันไม่ใช่
อย่าไปสับสน…..

แล้วหลงใหลไคล้คลั่งจนขึ้นสมอง-คล่องปากอย่างนั้นเชียวนะ!
เดี๋ยวคนเขาประเมินตัวเธอและชาติตระกูลผิด ซึ่งก็เป็นผิดที่อาจใกล้เคียงความจริงอยู่บ้างก็จริง

แต่ที่เขาพลอยประเมินธรรมศาสตร์ผิดไปด้วย นี่ซี….
มันเสียหายต่อ “สถาบันศึกษา” อันเป็นส่วนรวมนะเธอ!

ถ้าอยากเป็นนางเอกประชาธิปไตยเอ็มวีเต็มตัวละก็ ที่ไล่แจกจำปียักษ์ท่านประธานรัฐสภาและสว.นั่นน่ะ
แค่นี้ ด้วยแบรนด์หมูกระทะ….
เธอก็แซง “น้องแน็ต” ขึ้นอันดับ ๑ ติดแฮชแท็กในหมู่คนล่มชาติ-ล้มสถาบัน ใต้คอนโทรลคณะสามสัสแล้ว!

แต่ถ้าเธอยังปักใจเชื่อว่าจำปียักษ์ คือประชาธิปไตย ก็สุดแต่ใจปรารถนา ด้วยเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ เธอก็ไขว่คว้าของเธอไป

แต่แหม…
เพื่อไม่ให้บ่งถึงธรรมศาสตร์โลว์คลาสมากไป ถ้ายังหมกมุ่นทางนั้น ก็ไม่ควรถ่อยสถุลทั้งดุ้นทั้งเปลือกเต็มคำแบบนั้น

จะสอนการใช้กลซ่อนอักษรเกษมสำราญให้จำไปใช้นะ คนรุ่นเก่าสมัยผม ถ้าจะให้อะไรกันพรรค์นั้น เขาจะใช้ลีลากลอักษรภาษา ประมาณว่า

“คนวิ่งยิงถูกอกไก่”

ก็จำไปใช้นะรุ้ง มันค่อยถึงศาสตร์-ถึงศิลป์ทางจินตภาพ ค่อยบ่งถึงชั้นปัญญาบัณฑิตชนหน่อย!

การถกเถียง ด้วยเห็นต่างในรัฐสภา เมื่อเสียงข้างมากชี้ขาด เขาเรียกมติ ประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้ จะถูกใจ-ไม่ถูกใจ อันผู้เจริญแล้ว ก็ต้องยึดถือปฏิบัติตามนั้น

ไม่ถือเป็นแพ้-ชนะ แล้วนำไปสู่การทะเลาะ แตกแยก และปฏิบัติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
การเอาแต่ที่ตนเองต้องการ เมื่อไม่ได้ ก็ยกพวกปิดล้อมรัฐสภา ตะโกนด่า มุ่งร้าย ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น แบบที่ทำกันนั้น
ไม่ใช่ Democracy แต่มันเป็น Demagogue

พวกป่าเถื่อน อันธพาล ผีร้ายในคราบประชาธิปไตย ไม่ว่าคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ หรือรุ่นไหนๆ ที่มีสำนึกในผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เขาไม่ทำกัน

ยิ่งตะโกนจ้วงจาบ จ้องอาฆาต มุ่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นแกนหลักสังคมชาติ อย่างที่ทำกัน
ไม่ต้องพูดถึงผิด-ถูกด้านกฎหมายหรอก ถ้าเป็นสมัยก่อนละก็ ไม่แค่ อานนท์ เพนกวิน ไมค์ รุ้ง หรอก

ทั้ง ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ ด้วย ไม่ได้อยู่กวนบั้นท้ายเท้าสังคมชาติถึงวันนี้หรอก!

ถ้ามีเหตุ-มีผล ไม่ต้องมาก เอาแค่ที่ “ความเป็นคน” พึงมีก็พอ ก็จะเข้าใจว่า ที่รัฐสภามีมติ ให้เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งกมธ.๓ ฝ่ายร่วมกันศึกษาให้ตกผลึกก่อน แล้วค่อยเอามาโหวต นั้น
เป็นผลดีมากกว่าโหวตตอนนั้นเลย ถ้าโหวตตอนนั้น ๙๙.๙๙% ตกทุกร่างชัวร์ เสียงสว.ที่จะเห็นด้วย ไม่ถึง ๘๔ คนแน่นอน

แก้น่ะ…โอเค.แก้ได้
แต่จะแก้แบบไหน ก็เอาไปคุยนอกรอบให้ตกผลึกร่วมกันก่อนไม่ดีกว่าหรือ จะแบบรายมาตรา ก็กำหนดให้ชัดว่าหมวดไหน มาตราไหน แก้ในรัฐสภานั่นแหละ
หรือจะแก้แบบตั้งสสร.ก็คุยกัน ว่าจะแก้แบบไหน ถ้าจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ กรอบอยู่ตรงไหน ต้องทำประชามติก่อนมั้ย?
มันเป็นเรื่องต้องตกลงนอกรอบกันก่อนทั้งนั้น เมื่อตกลงกันแล้ว เปิดสภาเดือนพย.ค่อยโหวต

แบบนี้ ๙๙.๙๙% เป็นไปได้ที่ สส.-สว.จะร่วมกันรับหลักการ
แต่ไม่คิด-ไม่ตรองกัน จ้องแต่หาช่องสร้างเหตุก่อกวนบ้านเมือง ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าซีกไหน ตอนนี้ เขาทุเรศพวก “รุ่นใหม่สมองหมู” กันทั้งบ้าน-ทั้งเมือง

เอาหละ ย้อนไปคุยเรื่องญัตติ “แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตั้งสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับ” ซักนิด

ประเด็นแก้ ๒๕๖ ตั้งสสร. “เขียนใหม่” ทั้งฉบับ ญัตติฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านเป็นแนวทางเดียวกัน
พรรคร่วม นอกจากพรรคลุงกำนัน “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว
ยังมีสส.ประชาธิปัตย์อีกท่าน “นายชุมพล จุลใส” หรือสส.ลูกหมี จังหวัดชุมพร ไม่เห็นด้วยกับการแก้

อภิปรายด้วยเหตุผลประกอบข้อมูลเป็นมาตรฐานวุฒิภาวะสส.ได้น่ารับฟังมาก ผมจะนำมาให้อ่านกัน ดังนี้

“ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับประชาชนจำนวน ๑๖ ล้าน ๘ แสนคน ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอยู่แล้ว เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศขณะนี้

โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลพิเศษ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่พรรคการเมืองได้กลั่นกรองแล้ว

เสนอชื่อให้ประชาชนพิจารณา ก่อนจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ประชาชนได้รู้จักประวัติ-ผลงานต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

การเลือกตั้งที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยความตั้งใจที่จะให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ​
คนที่ไปใช้สิทธิในวันนั้น ตัดสินใจ ๒ แนวทาง คือ “เอาประยุทธ์” กับ “ไม่เอาประยุทธ์”

ถ้ารัฐธรรมนูญไม่บัญญัติบังคับไว้ แม้เลือกตั้งผ่านไป ประชาชนก็ไม่รู้ ส.ส.ในสภาจะเลือกใครเป็นนายกฯ ต้องลุ้นจนถึงวันประชุมสภา เพื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ
ผมมีประสบการณ์ในบรรยากาศลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทน เพื่อเลือกนายกฯ มาแล้วหลายครั้ง เช่น การเลือกตั้งทั่วไป ปี ๒๕๕๐

การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งเดียว มีเหตุให้สภาชุดนั้นเลือกนายกฯ ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกสภาผู้แทนลงคะแนนเสียงข้างมากเลือก “นายสมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกฯ

หลังจากนั้น มีการเลือกนายกฯ ขึ้นมาใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนเสียงข้างมาก เลือก “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์”

และครั้งต่อไปเลือก “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ตามลำดับ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ ๓ เกิดปัญหา คือ “ฝ่ายแพ้ไม่ยอมแพ้” อ้างว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายอภิสิทธิ์ไม่ชอบธรรม

ทั้งที่เป็นสภาและ ส.ส. ชุดเดิม เป็นผู้ลงคะแนนเลือกนายกฯ เหมือนกันทั้ง ๓ ครั้ง!
หลังจากนั้น เกิดเหตุจลาจลในบ้านเมือง มีการปิดล้อมรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
นำกำลังติดอาวุธออกมาเข่นฆ่าประชาชน ทำให้ประเทศเสียหายอย่างรุนแรง
และประสบการณ์ครั้งล่าสุด ได้ร่วมกับ ส.ส.ในสภานี้ ลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯคนปัจจุบัน

วันนั้น ถ้าจำได้ เป็นการแข่งขันระหว่าง “พลเอก ประยุทธ์” และ “นายธนาธร”
ปรากฏว่า ส.ส.ในสภาเลือก “พลเอกประยุทธ์” เป็นนายกฯ ๒๕๑ คน เลือก “นายธนาธร” ๒๒๔ คน

จากผลลงคะแนน พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ทำให้เกิด “ขบวนการนอกสภา” โจมตีพลเอก ประยุทธ์ คือ “นายกฯเผด็จการ”

นี่ก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นเรื่องของ “ฝ่ายแพ้แล้วไม่ยอมแพ้” ซึ่งเหตุการณ์นี้ เหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต เพราะทั้งนายอภิสิทธิ์และพลเอกประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ตามระบบรัฐสภา

เมื่อเลือกตั้งเสร็จ โหวตเลือกนายกฯ แข่งกัน เมื่อแข่งแพ้ ก็โจมตีฝ่ายชนะว่า “เป็นนายกฯเผด็จการ”

สำหรับการที่เรียกร้องให้ออกมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้ ก็เพราะว่า “แพ้เลือกตั้ง” แพ้ที่ลงคะแนนเลือกนายกฯ ในสภา
หากฝ่ายตนเองชนะการเลือกตั้ง ก็จะไม่พูดว่า “นายกฯ เผด็จการ”

สิ่งที่เกิดเรื่อง สมัยปี ๒๕๕๔ (ยุคยิ่งลักษณ์-เปลว) เป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดที่อยู่ในสภาแห่งนี้มา รัฐบาลในขณะนั้น ได้ใช้เสียงข้างมากในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่ฟังเสียงใคร

ออกมาเพื่อล้างผิดให้ “ทักษิณ ชินวัตร” และพวกพ้องให้พ้นผิด นั่นคือ รัฐบาลเลือกตั้ง ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับหนึ่ง

จนในที่สุด มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงต่อต้าน ยาวนานถึง ๗ เดือน
ผมเป็นคนหนึ่งที่ลาออกจากการเป็น ส.ส.และออกไปเป็นแกนนำต่อสู้ร่วมกับประชาชน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน…..
ร่างขึ้นโดยกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองบ้านเมือง เพื่อแก้ไขไม่ให้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายอีก
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น โดยมีบทบัญญัติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของประเทศ ประชาชน ๑๖.๘ ล้านคน ได้พร้อมใจกันลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
ใช้มา ๓ ปีแล้ว ประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาในประเทศ คือ “แก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภา”


มาวันนี้ จึงมองไม่เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอะไรที่บกพร่อง เสียหาย จนต้องฉีกทิ้ง ยกเลิก และร่างใหม่
หากมีความบกพร่องในทางการเมืองหรือการปกครองในขณะนี้ ก็เป็นเรื่องของคน, นักการเมือง, หรือพรรคการเมือง ไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ

สำหรับในแง่ตัวบทกฎหมาย บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหมวดที่ ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ “อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตราใดมาตราหนึ่ง ไม่ใช่เขียนใหม่ทั้งฉบับ”

จึงเห็นว่า ญัตติให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

ญัตติแก้ไข มาตรา ๒๗๒ เข้าใจว่า มีความประสงค์ไม่ให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกฯ
ข้อเท็จจริง มาตรานี้ เป็นมาตราหนึ่งในบทเฉพาะกาลที่บังคับใช้เฉพาะ ๕ ปีแรกเท่านั้น เมื่อพ้น ๕ ปีแรก ส.ว.ทั้งหลาย หมดสิทธิ์ที่จะเลือกนายกฯ


การเลือกนายกฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๙ คือ ส.ส.เท่านั้น ที่จะสามารถให้ความเห็นชอบ
ซึ่งในทางปฏิบัติ ใครจะเป็นนายกฯได้ ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกินครึ่งของสภาผู้แทน แม้ ส.ว.ลงคะแนนให้ สุดท้าย ก็ต้องใช้เสียงสส.สนับสนุน

หากวันใดที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระแรก มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่ง ก็ต้องลาออก
หากเป็นเช่นนั้น ก็คงเป็นรัฐบาลได้เพียงเดือนเดียว ดังนั้น มาตรา ๒๗๒ จะแก้ไขหรือยกเลิก ไม่ใช่สาระสำคัญ

ครับ…..
นี่คือคำอภิปรายของ “สส.ชุมพล จุลใส” ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่สังกัด ตัวซี้-ตัวสั่น จะแก้เพื่อตั้งสสร.ท่าเดียว

“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” อ่านซะ………
สำนึกภาวะ “หัวหน้าพรรค” จะได้เกิด!

เพิ่มช่องทางรับข่าวสารได้ที่ LineID:plewseengern.com หรือสแกน QR Code 



Written By
More from plew
กลเกม “ในศาล-ในถนน” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน เรามักเข้าใจว่า ….. มีแต่ “สัตว์เดรัจฉาน” เท่านั้น ที่แยกเป็นชนิดๆ ความจริง “มนุษย์” ก็ด้วย ยังมีแยกเป็นชนิดๆ...
Read More
0 replies on “กระจกสภา “ชุมพล จุลใส””