“ฮาว ทู เลิฟ” บันทึกรักฉบับ TrueMoney ทำอย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อรัก ลวง หลอก (โอน)

มีคู่รักจำนวนไม่น้อยพบ “รักแท้” และพัฒนาความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์มาสู่การใช้ชีวิตจริงด้วยกัน แต่ก็มีจำนวนมากที่ต้องเจอกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก “ความรัก (อาจ) ทำให้เราตาบอด” ประโยคนี้ไม่เกินความจริงหรือมองโลกในแง่ร้ายเสียทีเดียวยิ่งเราอยู่ในยุคที่โลกหมุนไวตามกระแสอินเทอร์เน็ตที่นับวันจะมีความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้กับเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคนไม่ใช่เรื่องงมเข็มในมหาสมุทรอีกต่อไป เพียงปัดจอโทรศัพท์ไปซ้ายหรือไปขวา ก็จะพบใครบางคนในโลกโซเชียลที่ตรงใจและสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ต่อได้ ตั้งแต่การแชทพูดคุย ส่งรูปภาพหรือเปิดวิดีโอคอลหากันก็รวดเร็วจนบางครั้งคนรุ่นก่อน ๆ ตั้งคำถามให้กับนิยามความสัมพันธ์โรแมนติกของคนรุ่นใหม่ว่า “รัก WiFi (ไวไฟ)”

ซึ่งช่องทางเหล่านี้ก็ตอบรับกับพฤติกรรมคนยุค Gen Y และ Gen Z ที่มีความคิดเป็นอิสระ กล้าหลุดออกจากกรอบ กล้าแสดงออก และชอบที่จะมีชีวิตที่มีสีสันบนโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการมีปฏิสัมพันธ์และแสดงอารมณ์ความรู้สึกและความรักผ่านการใช้เทคโนโลยี จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเมื่อประกอบกับความนิยมเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ ที่พุ่งสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การใช้จ่ายและทำธุรกรรมออนไลน์ที่ทำได้รวดเร็ว เราจึงได้เห็นข่าวเหยื่อความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ที่โดนมิจฉาชีพลวงรักลวงหลอกให้โอนเร็วโอนไวอยู่บ่อย ๆ มากขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลจากงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยอย่างน่าตกใจว่าการหลอกลวงแบบโรมานซ์สแกม หรือภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงินนั้นมีมูลค่าความเสียหายถึง พันล้านบาท สูงเป็นอันดับสองรองจากการหลอกลวงเป็นผู้รับเงินทางอีเมล และช่วงมิถุนายน ปี 2561 – พฤษภาคม ปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีดังกล่าวมากกว่า 300 ราย เสียหายกว่า 190 ล้านบาท โดยช่องทางยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือล่อลวงเหยื่อ ได้แก่ โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์หาคู่ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ขั้นตอนที่มิจฉาชีพใช้ก็มีหลากหลาย แต่ทุก “วงจรการหลอกลวง” ท้ายที่สุดนั้นก็นำไปสู่จุดประสงค์หลักในการ “หลอกเอาเงิน” หรือ “หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อไปทำธุรกรรมทุจริต” นั่นเอง โดย ขั้นตอน รัก ลวง หลอก (โอน) ผ่านธุรกรรมออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ส่วนใหญ่มักผ่าน วงจร ดังนี้

Step 1
แปลงโฉมเพื่อสืบเสาะเข้าหา หรือล่อเหยื่อเข้ามา
สร้างโปรไฟล์ปลอมบนโลกออนไลน์ บางรายใช้ภาพที่ผ่านการตัดต่อเรียบร้อยแล้ว มีโพสต์ภาพกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ชื่อเว็บไซต์บริษัท/สถานที่ทำงาน หรือใช้รูปปลอมและข้อมูลโปรไฟล์ปลอมที่ขโมยคนอื่นมาแทนเป็นตัวเอง เพื่อสร้างภาพให้สวย หล่อ บุคลิกดี มีอาชีพมั่นคง มีฐานะร่ำรวย หลอกล่อคนที่เข้ามาเห็นให้เกิดความประทับใจแบบ First Impression

อีกแบบคือแอบตามดูโปรไฟล์ของเหยื่อที่หมายตาในโลกโซเชียล จ้องหาโอกาสจากทุกสิ่งที่เหยื่อแสดงหรือบอกความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปแปลงโปรไฟล์ตัวเองให้ตรงใจหรือความชอบของเหยื่อและเข้าหาโดยอาจจะแชทไปทักทำความรู้จัก อีกทั้งมองหาข้อมูลของเหยื่อที่บอก “ฐานะทางการเงิน” และ “ข้อมูลที่สามารถใช้ยืนยันตัวตน” เพื่อเก็บไปใช้ในภายหลัง

Step 2
ปากหวานให้ตายใจ
เมื่อติดต่อกันแล้ว ก็จะเริ่มเข้าตำราคารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง ไม่ก็สวยหวาน ออดอ้อน หลอกล่อ โดยการหว่านล้อมในรูปแบบต่าง ๆ จะมาแบบเป็นชุด ทั้งส่งข้อความทักทายและใช้คำพูดที่หอมหวาน ตื๊อเช้าตื๊อเย็น เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยพยายามสานสัมพันธ์อย่างรวบรัด เร็วสุดตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนกระทั่งการอดทนนานเป็นปี ๆ ค่อยออกลาย
Step 3
ร้อยเล่ห์เพทุบาย
เมื่อเหยื่อเริ่มติดและแสดงให้เห็นแล้วว่าตายใจก็จะเข้าสู่ขั้นตอน “สร้างสถานการณ์” ให้เหยื่อเกิดความสงสาร ความเห็นใจ และสร้างความหวังว่าจะได้พบกันเพื่อร้องขอเงิน เช่น  มีปัญหาทางการเงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ ค่าเล่าเรียน ธุรกิจถูกโกง/มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุ ซื้อตั๋วเครื่องบิน/ทำวีซ่าเพื่อเดินทางมาพบกัน เป็นต้น

บางรายก็ใช้วิธีหลอกล่อว่าส่งสิ่งของ/ทรัพย์สินมาให้ แต่ติดปัญหาที่กรมศุลกากร สนามบิน หรือสถานีตำรวจ ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อรับสิ่งของ/ทรัพย์สินเหล่านั้น อาจมีผู้ร่วมขบวนการแสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรมาแจ้งค่าธรรมเนียมต่าง  ๆ หรือชักชวนให้ร่วมลงทุนสร้างธุรกิจเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันก็มี

ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้ หากเป็นคนแปลกหน้าที่รู้จักกันในโลกโซเชียล ไม่เคยเจอตัวจริง หลายคนอาจจะไหวตัวทัน แต่ถ้าเป็นการปลอมแปลงโดยไปเอาโปรไฟล์คนรู้จักของเหยื่อ แล้วทักมาในช่องทางอื่น ๆ แบบไม่เห็นตัวและสร้างสถานการณ์ที่น่าสงสารหรือตกใจ หลายคนก็ตายใจโอนให้แบบไม่มีคำถาม

ซึ่งช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้ล่อเหยื่อให้โอนเงินมาก็มักเป็นธุรกรรมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นทางโมบายแบงค์กิ้งหรืออีวอลเล็ท เพราะไม่ต้องเจอตัวกันจริง ๆ หรือต้องไปที่ไหนที่เสี่ยงกับการถูกกล้องวงจรปิดจับภาพ หรือถูกจดจำได้จากคนที่เจอ

ซึ่งคนที่ไม่ไหวตัวในทีแรก เมื่อโดนหลายรอบและยอดเงินพุ่งสูง เหยื่ออาจเริ่มตาสว่าง มิจฉาชีพก็มักหายตัวไปหาเหยื่อใหม่ ๆ ซึ่งเมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ ความยากในการติดตามคือ บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเบอร์เจ้าของบัญชีที่ดูเหมือนมีตัวตนจริง ๆ นั้น เป็นเหยื่อที่โดนมิจฉาชีพไปเอาข้อมูลมาสร้างโปรไฟล์ปลอมมาหรือเปล่า

รู้ไว้ใช่ว่า พฤติกรรมแบบใดเข้าข่ายตกเป็นเหยื่อ รัก ลวง หลอก (โอน)จากสถิติพบว่า ผู้หญิง ตกเป็นเหยื่อ มากกว่า ผู้ชาย ที่สัดส่วน 86% ต่อ 11% ที่เหลือเป็นเพศทางเลือก ราว 3% แต่หลากหลายกรณีที่ผู้ชายตกเป็นเหยื่อแล้วมักเปย์เสียหายหนักกว่าหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นเพศไหน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ก็อาจตกเป็น “เหยื่อ” ได้เช่นกัน

  • เผยตัวตนบนโลกโซเชียลเป็นประจำ
  • ชอบแชร์เรื่องราวส่วนตัว อารมณ์ ความรู้สึก
  • โพสต์รูปถี่ ๆ ว่าไปไหนมาไหนมาบ้าง (3 นาที 4 สเตตัส)
  • ขี้เหงา ขี้สงสาร อ่อนไหวง่ายกับประโยคหวาน ๆ คำคม รูปภาพสวย ๆ และคลิปวิดีโอออดอ้อน
  • โลกสวย คิดบวกเข้าข้างตนเองเสมอ
  • เชื่อใจคนง่าย ต้อนรับทุกคนเป็นเพื่อน
  • เข้าแอปฯ หาคู่ ปัดซ้าย-ปัดขวา เป็นประจำ
  • กดติดตาม กดไลค์ หนุ่มหล่อ สาวสวย หุ่นดี โปรไฟล์หรู
  • สถานะโสด เป็นหม้าย แสดงตนเป็นสายเปย์
  • อัธยาศัยดี บริหารเสน่ห์ไปเรื่อยบนโซเชียล

จากสารพันกลโกงที่กล่าวมา TrueMoney ในฐานะผู้ให้บริการ e-Wallet ตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่ผู้ทำธุรกรรมออนไลน์และผู้ใช้อีวอลเล็ทต้องพบเจอ จึงมีข้อแนะนำ “ฮาว ทู เลิฟ” ให้ไม่โดนหลอกโอนฉบับ TrueMoney มาให้เพื่อรับเทศกาลแห่งความรักที่กำลังจะมาถึง ดังนี้

อย่าปล่อยให้ “อารมณ์” มีอำนาจเหนือ “สติ” ภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย รัก โลภ โกรธ หลง ล้วนมีพลังทำลายล้างที่สูงมากต่อ “สติ” ที่เราพึงมี หากใครก็ตามที่ปล่อยให้อารมณ์ “รัก” อยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้องแล้วล่ะก็ อาจจะนำภัยมาหาตัวเองก็เป็นไปได้ ในทางกลับกัน การเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์มากเกินไป เพราะต้องการให้คนมารักมาสนใจ ก็อาจนำพามาซึ่งความเสี่ยง โดย ข้อนี้คือข้อมูลส่วนตัวชั้นดีที่เหล่านักต้มตุ๋นใช้ในการคัดเลือก “เหยื่อ” รายต่อไป

  • การใช้ชื่อ-นามสกุลจริงแบบเต็ม ๆ
  • สถานะความสัมพันธ์ “โสด”
  • รสนิยมทางเพศ
  • ID ในโปรแกรมสนทนาต่าง ๆ
  • e-mail address หรือเบอร์โทรศัพท์
  • ที่อยู่ออนไลน์ของบริการอื่น ๆ ใน social network หรือ blog
  • สิ่งที่เราสนใจ หรือกิจกรรมที่เราชื่นชอบ
  • รูปภาพของเรา
  • วิดีโอของเรา

การมองโลกความเป็นจริง ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย ทำตัวเป็น “เจ้าหนูจำไม” และใช้ทักษะในการตรวจสอบ Search Search Seach สืบเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่เข้ามาขายขนมจีบกับคุณและหัดตั้งคำถามกับตัวเองและคนที่เข้ามาคุยด้วยอย่างจริงใจตรงไปตรงมาเพื่อวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น

    • ทักษะการเป็นนักสืบจะมีประโยชน์มากเพราะจะทำให้คุณสังเกตโปรไฟล์อย่างเจาะลึก เช่นว่าคนนั้นมีเพื่อนเยอะแค่ไหน ใคร “แท็ก” หรือคอมเมนต์รูปบ้าง วันเกิดมีเพื่อนมาอวยพรหรือแท็กรูปไหม การตั้งข้อสังเกตทำให้เรายั้งไว้ทัน ไม่หลงคารมอะไรของใครง่าย ๆ
    • ลองเอาชื่อโปรไฟล์ไปเสิร์ช “กูเกิล” แล้วได้ผลลัพธ์มาดูว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หรือเซฟรูปจากโซเชียลมีเดียไปค้นหาใน “กูเกิล” เลือก “ค้นรูป” อาจโป๊ะแตกเจอเจ้าของภาพตัวจริงที่ถูกสวมรอยมาก็ได้
    • มิจฉาชีพออนไลน์มักไม่ชอบเผชิญหน้า ถึงแม้เป็นญาติมิตรคนรู้จักติดต่อมาขอให้โอนเงินให้ ลองชวนเปิดกล้องขอ VDO Call เลยว่ากล้าไหม หรือลองบอกว่าจะส่งของไปให้ จากนั้นก็ขอที่อยู่ ถ้าอิดออดไม่ยอมให้ อ้างโน่นนี่สารพัดสิ่ง ให้มั่นใจเลยว่า “ปลอมชัวร์”

พิจารณา ไตร่ตรอง คำตอบว่า Make sense หรือไม่ หากยังมีเพียงแค่ 0.01% ที่ไม่มั่นใจอาจจะเป็นเพราะ sense คุณกำลังทำงาน ให้ลองตั้งคำถามใหม่และไตร่ตรองอีกครั้ง เพราะบางครั้งคำตอบที่ได้มาจากคนที่เรา (หรือเพิ่ง) พบกันในโลกออนไลน์อาจจะไม่เหมือนที่เคยบอกเรามา หรือสร้างความประหลาดใจให้เรากับคำถามใหม่ก็เป็นได้เช่นตอบเป็น pattern เดิม  ๆ หรือตอบเหมือนหุ่นยนต์ chatbot 

จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ให้บริการธุรกรรมออนไลน์หรืออีวอลเล็ทจะพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าของข้อมูลหรือบัญชีหละหลวมในการเฝ้าระวังและเชื่อคนง่ายก็จะเป็นผู้เปิดกระเป๋ายื่นทรัพย์สินที่มีให้กับมิจฉาชีพเองกับมือ แต่การจะแก้ปัญหาบอกว่างั้นเลิกใช้เทคโนโลยีพวกนี้ทั้งหมดก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะข้อดีของเทคโนโลยีก็ยังมีมาก อีกทั้งไม่ได้แก้ที่รากของปัญหา ซึ่งก็คือพฤติกรรมและความรู้ความเข้าใจในการใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเศรษฐกิจแบบดิจิทัลนั่นเอง

ทรูมันนี่ห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ใช้บริการทุกท่าน กรณีพบพิรุธหรือความผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีของคุณ สามารถติดต่อ TrueMoney Customer Care เบอร์ 1240 หรือ Call Center ธนาคารเจ้าของบัญชีท่านได้ตลอด 24 ชม. หรืออ่านเงื่อนไขการให้บริการเพิ่มเติมที่ https://www.truemoney.com/terms-conditions/

Written By
More from pp
“ซิกน่าประกันภัย” ชูพนักงานคือกำลังสำคัญ เน้นสร้างความผูกพันแก่พนักงานทั่วโลก เพื่อการเติบโตในระยะยาว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ซิกน่ามีการออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส และลดการสัมผัสระหว่างคนในองค์กร ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเดินหน้ามอบประสบการณ์แบบไร้รอยต่อที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า
Read More
0 replies on ““ฮาว ทู เลิฟ” บันทึกรักฉบับ TrueMoney ทำอย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อรัก ลวง หลอก (โอน)”