ห่วง ฝุ่น PM 2.5 กระทบชีวิตในโรงเรียน ชาร์ป ไทย จับมือ ม.สวนดุสิต ร่วมเยียวยาเยาวชน ปลุกความตระหนัก เรียกร้องสิทธิหายใจ…ที่หายไป

กรุงเทพฯ ประเทศไทย (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563) –  บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด หวั่นภัยฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพเด็กและเยาวชน เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม ในโครงการ “Write to Breathe” ครั้งที่ 2

มอบเครื่องฟอกอากาศให้โรงเรียนและมูลนิธิเด็ก 15 หน่วยงาน ใน จ.กาญจนบุรี พร้อมจับมือศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และตระหนักภัยฝุ่น PM 2.5 หวังขยายผลไปยังครอบครัวและชุมชน ผ่านเสียงของเด็กๆที่เรียกร้องสิทธิหายใจด้วยอากาศบริสุทธิ์

ด้วยปณิธานที่ว่า เด็กไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ เพราะลมหายใจของเด็กคือลมหายใจของสังคม บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด จึงได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการ “Write to Breathe” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2  โดย คุณมณีนภา ดวงดารา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศในระดับวิกฤต ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่นี่น่าเป็นห่วง นอกจากการมอบเครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้เด็กๆ มีอากาศที่สะอาดหายใจในระหว่างการเรียนการสอนและทำกิจกรรม เรายังร่วมมือกับทาง ม.สวนดุสิต มาสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับพิษภัยของฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนวิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัย ทั้งยังเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ส่งเสียงเรียกร้องสิทธิที่เด็กและเยาวชนไทยควรได้รับ นั่นก็คือสิทธิในการได้อยู่ท่ามกลางอากาศที่สะอาดและได้หายใจอย่างเต็มปอด ผ่านการเขียนระดมความคิดจากความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรม เพื่อสะท้อนไปยังผู้ใหญ่ในสังคม ให้ร่วมกันรักษาสิทธินี้ให้กับพวกเขา ด้วยการร่วมมือกันช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ Write to Breathe

บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ได้มอบเครื่องฟอกอากาศทั้งสิ้น 42 เครื่อง มูลค่ารวมทั้งสิ้น 629,580 บาท ให้กับโรงเรียนและมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ใน จ.กาญจนบุรี  ทั้งสิ้น 15 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ โรงเรียนอนุบาลกาญจนบุรี โรงเรียนท่าม่วงราษฎร์บำรุง โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงเรียนด่านมะขามเตี้ยวิทยาคม โรงเรียนวัดโพธิ์ศรีสุขาราม โรงเรียนพนมทวนพิทยาคม โรงเรียนบ้านห้วยตลุง โรงเรียนวัดบ้านเก่า โรงเรียนบ้านหนองจอก โรงเรียนบ้านดอนตาอิฐ โรงเรียนบ้านโคราช โรงเรียนบ้านเด็ก-มูลนิธิเด็ก และสถาบันเพาะกล้า

 

พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้โดย ศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สวนดุสิต ให้กับเด็กๆกว่า 150 ชีวิต จากโรงเรียนต่างๆใน จ.กาญจนบุรี ที่ออกแบบให้ครอบคลุมความรู้พื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่เด็กๆควรรู้ มีทั้งสิ้น 6 ฐาน ประกอบด้วย

ฐานที่หนึ่ง PM 2.5 คืออะไร ให้เด็กๆได้มองดูฝุ่นผ่านกล้องจุลทรรศน์และเทียบขนาดฝุ่นกับเส้นผม 

ฐานที่สอง วัฏจักรของ PM 2.5 ไขข้อข้องใจให้เด็กๆ ได้ทราบว่าทำไมต้องเผชิญปัญหาฝุ่นอยู่ทุกปี 

ฐานที่สาม การก่อมลพิษ PM 2.5 ไฮไลท์อยู่ที่การสอนให้ดูแผนที่ของนาซ่าและกรมป่าไม้ เพื่อเห็นถึงจุดที่มีการเผาไหม้และทิศทางของฝุ่น  

ฐานที่สี่ การป้องกันตนจากมลพิษ PM 2.5 สอนวิธีการดูแลตนเอง โดยเฉพาะการเลือกใช้และสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี 

ฐานที่ห้า การเฝ้าระวังมลพิษ PM 2.5 สอนการใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนและวิธีการอ่านค่าต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นด้วยตนเอง

และ ฐานที่หก การตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 นำเอาเครื่องมือตรวจวัดของจริงมาให้น้องๆได้เรียนรู้กลไกการทำงาน

ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ปรึกษาของกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ ความคุ้นชิน ไม่ตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่อาการหรือโรคที่รุนแรงเฉียบพลัน แต่เป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง บั่นทอนสุขภาพลงไปทีละนิด ทำให้ผู้คนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบจัดการ อาจนำมาสู่การละเลยที่จะป้องกันตนเองในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันตนเองด้วยการใส่มาสก์ หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศ ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งการจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะการเผาในการเกษตร การจราจรขนส่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย บนกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวด”

ทั้งนี้ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับวิกฤต มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เคยมีสถิติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากรุงเทพมหานครอยู่หลายครั้ง โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ รายงานค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 97 – 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยวัดได้มากถึง 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันเป็นระดับที่มีกระทบต่อสุขภาพ โดยที่โรงเรียนต่างๆ ในเขต จ.กาญจนบุรี ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่ความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน

น้องวิน ด.ช.ทีปกร ดวงสุวรรณ นักเรียนชั้น ม.2 ร.ร.พนมทวนพิทยาคม เล่าถึงผลกระทบที่เขาต้องเจอว่า “เวลาที่ผมเดินออกมาข้างนอกก็จะรู้สึกคันยิบๆ ตามตัว มีน้ำมูก เวลาที่มองออกมานอกห้องเรียน จากที่เคยเห็นตึกเห็นภูเขาหรือต้นไม้ ก็ถูกฝุ่นบดบังจนมองไม่เห็น ข้างโรงเรียนเป็นไร่อ้อย เวลาที่มีการเผาก็จะมีควันมากและมีเขม่าสีดำตกอยู่ทั่ว ติดตามตัวตามเสื้อผ้า หรือบางทีก็เข้าไปในจมูก ห้องเรียนที่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นห้องพัดลม ไม่ได้ปิดห้องระหว่างเรียน นักเรียนก็ต้องหาหน้ากากมาใส่เอง บางคนที่ฐานะไม่ดีก็ไม่มีเงินซื้อหน้ากากใส่”

ขณะที่ น้องเก่ง น.ส.อภิญญา บ่อวารี นักเรียนชั้น ม.5 ร.ร.กาญจนานุเคราะห์ ผู้ต้องเผชิญกับอาการผื่นแพ้ที่ผิวหนังซึ่งกำเริบมาอย่างต่อเนื่อง ก็แชร์ความคิดเห็นว่า “ถึงจะเรียนอยู่ในห้องแอร์ แต่ก็ต้องเดินเปลี่ยนห้องเรียน วิชาพลศึกษาก็ต้องออกกำลังกายกลางแจ้งหรือในโรงยิม เลี่ยงที่จะเจอฝุ่นไม่ได้เลย หนูคิดว่าเรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าปัญหามันเกิดจากอะไร แต่ก็ไม่มีใครลงมือแก้มันจริงๆ เสียที เรารู้ว่าการเผาไร่อ้อยเป็นสาเหตุหลัก แต่เกษตรกรก็หยุดเผาไร่อ้อยไม่ได้ เพราะมันกระทบกับปากท้องของเขา เขาไม่มีทุนมากพอที่จะจ้างแรงงานหรือใช้เครื่องจักร เขาก็เลยยังต้องเผาอยู่ หนูคิดว่าปัญหาฝุ่นต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย แต่ฝ่ายที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐ เพราะมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่”

ในช่วงเวลาอันแสนวิกฤตนี้ ชาร์ป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาปัญหา ผ่านการให้ความรู้ สร้างความความตระหนัก และช่วยขยายเสียงสะท้อนของเด็กๆ ไปยังทุกฝ่าย เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่จริงจังและเป็นรูปธรรม และหวังว่าเครื่องฟอกอากาศที่มอบให้ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยให้เด็กๆ ใน จ.กาญจนบุรี ได้นั่งเรียนในห้องเรียนอย่างมีความสุข ปราศจากมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ผ่านการทำงานของเทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ที่อยู่ในเครื่องฟอกอากาศชาร์ป อันเป็นเอกสิทธิ์หนึ่งเดียวของชาร์ป ที่สามารถปล่อยอนุภาคไฟฟ้าบวกและลบในแบบเดียวกันกับในธรรมชาติ ให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโรค ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สลายสารพิษ สลายกลิ่นอับชื้น ตลอดจนสลายสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นและละอองเกสรดอกไม้ อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดไฟฟ้าสถิต ผ่านการรับรองจากสถาบันนานาชาติ 26 แห่ง และสถาบันทางการแพทย์ในไทยอีก แห่ง

อย่างไรก็ตาม ‘ชาร์ป’ ยังมุ่งเดินหน้าสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงสิทธิในการหายใจท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของเด็กๆ ผ่านการจัดกิจกรรมและมอบเครื่องฟอกอากาศ ภายใต้โครงการ Write to Breathe ในจังหวัดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังว่ากิจกรรม “Write to Breathe” จะเป็นส่วนหนึ่งที่เยียวยาปัญหา และจุดประกายให้เกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นต่อสิทธิในการหายใจที่ตนเองควรได้รับ กระตุ้นให้ทุกฝ่ายออกมาลงมือแก้ปัญหาหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับคืนมาสู่พื้นที่ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกชีวิตที่อยู่รวมกัน

0 replies on “ห่วง ฝุ่น PM 2.5 กระทบชีวิตในโรงเรียน ชาร์ป ไทย จับมือ ม.สวนดุสิต ร่วมเยียวยาเยาวชน ปลุกความตระหนัก เรียกร้องสิทธิหายใจ…ที่หายไป”