ชาวบ้านต้นต้องโชว์ผลงานชุมชน จัดการอยู่หมัดไฟป่า-หมอกควัน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นางภาวิณี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่บ้านต้นต้อง ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อเยี่ยมชมแนวทางการจัดการไฟป่าและหมอกควัน โดยมี นายมานิตย์ อุ่นเครือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย และประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดลำปาง พร้อมผู้แทนชุมชน ร่วมเป็นวิทยากรให้ข้อมูลการจัดการไฟป่าและสาธิตการทำแนวกันไฟป่าของหมู่บ้าน

นายมานิตย์ กล่าวว่า ชุมชนบ้านต้นต้องเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งป่าชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมจนกลายเป็นป่าที่เขียวขจี รวมทั้งมีกระบวนการบริหารจัดการภายในชุมชนเพื่อป้องกันไฟป่าและหมอกควันที่มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านปลอดการเผาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

โดยสาเหตุที่ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกัน เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ไฟป่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ทุกคนต้องคิดป้องกันเพื่อไม่ให้ภัยมาถึงตัว ซึ่งในระยะแรกชุมชนพยายามหาวิธีจัดการหลายหนทางมาก แต่เวลาเกิดไฟป่าขึ้นมาจริง ๆ ก็ไม่เคยเอาอยู่ จนกระทั่งมีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้แการจัดทำแนวกันไฟของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าอย่างได้ผล เวลาเกิดไฟลามจากป่าลึกมาถึงแนวกันไฟ มันจะหยุดได้ทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านได้เห็นประโยชน์และคิดว่าจะต้องทำแนวกันไฟกันตลอดไป โดยเมื่อถึงเดือนมกราคมของทุกปี ชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมแนวกันไฟรอบ ๆ ป่า ซึ่งวัดเป็นระยะทางได้ประมาณ 10 ก.ม. และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชุมชนรอดพ้นจากไฟป่ามานานหลายปี รวมทั้งสามารถพลิกป่าชุมชนที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนักให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ได้

นายมานิตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากทำแนวกันไฟแล้ว ชาวบ้านยังได้ร่วมกันตั้งชุดลาดตระเวนควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากยังคงมีพวกมีอิทธิพล เช่น กลุ่มค้าไม้ หาของป่า ที่ลักลอบเข้ามาจุดไฟหลังแนวกันไฟ โดยในจุดใหญ่ ๆ จะมีการสร้างกระท่อมไว้และสับเปลี่ยนเวรยามกันเข้ามาดูแล ดังนั้นเวลามีใครเข้ามาในป่าเราจะรู้หมด แล้วคนที่เข้ามาในป่าไม่ว่าจะเข้ามาเพื่อทำอะไร เมื่อเห็นเราเขาก็จะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ดี

“ประเด็นเรื่องการจัดการป่าเป็นเรื่องที่ต้องดูให้ดี เพราะบริบทของป่าในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ป่าที่ติดกับชุมชนก็ควรพยายามให้ชุมชนเข้ามาดูแล ดึงเขาให้มามีส่วนร่วม ให้เขารู้คุณรู้โทษของไฟป่าหรือแม้แต่พิษภัยของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมากับไฟป่า ถ้าเราสร้างกระบวนการเข้าใจเหล่านี้ให้กับชุมชน และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับพวกเขา ก็เชื่อว่าทุกคนร่วมมือแน่นอน ส่วนป่าที่อยู่ห่างชุมชนออกไป เจ้าหน้าที่จึงค่อยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปดูแล”

นายมานิตย์ กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ชุมชนบ้านต้นต้องดำเนินการเรื่องการจัดการและป้องกันไฟป่าในปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงจะทำให้ชุมชนสามารถสกัดกั้นการเกิดไฟป่าและหมอกควันอย่างได้ผลเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมากมาย เช่น การเกิดแหล่งน้ำ โดยแต่ก่อนบ่อน้ำตื้นของแต่ละครัวเรือนแทบจะไม่มีน้ำ แต่ปัจจุบันไม่เคยต้องมาเดือดร้อนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ยังไม่นับรวมกับสัตว์ที่เพิ่มขึ้น อาหารการกินก็เยอะขึ้น หรือแม้แต่ของป่าอย่างเห็ดกับไข่มดแดง ซึ่งเมื่อก่อนถูกไฟป่าเผาไปเกลี้ยง แต่เดี๋ยวนี้บางคนเก็บเห็ดวันหนึ่งได้เป็นสิบ ก.ก. หรือเก็บไข่มดแดงไปขายได้วันละเป็นพันบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่เมื่อชาวบ้านเห็นก็พากันสนับสนุน และรัฐสามารถนำไปขยายผลเป็นบทเรียนให้กับชุมชนอื่น ๆ ทำตามเพื่อสร้างประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาล

Written By
More from pp
เริ่มแล้ว…งานศิลปหัตถกรรมภาคกลางและภาคตะวันออก บรรยากาศสุดคึกคัก
นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69  ปีการศึกษา 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ โดยมี นางศิวพร...
Read More
0 replies on “ชาวบ้านต้นต้องโชว์ผลงานชุมชน จัดการอยู่หมัดไฟป่า-หมอกควัน”