เชิญชมแสงสีเสียงสื่อผสมยิ่งใหญ่ ตำนานพระเวสสันดร ณ บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 

ประเพณีบุญผะเหวด  ถือเป็นงานบุญเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวจังหวัดร้อยเอ็ด มานานกว่า ๑๐๐ ปี  ระบุในคำขวัญของจังหวัด เรื่องงานบุญเดือน ๔ ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวอีสาน กิจกรรมสำคัญ คือ การแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง พระเวสสันดรชาดกที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดีในนาม เทศน์มหาชาติภาษาอีสานเรียกว่า เทศน์ผะเหวดปีนี้ จ.ร้อยเอ็ด ยังได้ทุ่มงบยิ่งใหญ่ในการจัดแสดงแสงสีเสียง สื่อผสม 4 ตำนานพระเวสสันดร มหาชาดก ชาติที่ 10 มหาชาติ พระสัพพัญญู ชมเรื่องราวแฝง กุศโลบาย ได้อรรถรสแบบเต็มๆ ในคืนวันที่ 6-7 มี.ค.  ณ บริเวณลานสาเกต และเกาะกลางบึงพลาญชัย 

ก่อนชมแสงสีเสียง รายละเอียดเกี่ยวกับมหาชาดกเรื่องดัง ได้รวบรวมมาให้ไว้ ดังนี้

พระเวสสันดร เรื่องจริง หรือ เรื่องแต่ง

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดกที่ทรงเล่านั้นมีหลายร้อยเรื่อง ว่าทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่าทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่องพระเวสสันดรนี้ว่า มหาเวสสันดรชาดก

มหาเวสสันดรชาดก เป็นชาดกเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “มหาชาติชาดก” ในการเทศนา เรียกว่า เทศน์มหาชาติ”เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ได้รับการนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา อีกทั้งมีการสร้างเป็นเทป ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสารคดี เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน

สอดคล้องกับประเพณีอีสาน

ภาคอีสาน  ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีงานบุญตลอดทั้งปี  ทำให้ชาวอีสานมีประเพณีที่มากที่สุดในประเทศไทย  แสดงถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนา ชาวอีสานจึงถือปฏิบัติเป็นประเพณี 12 เดือน เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีสานที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน

ฮีตสิบสอง” มาจากคำ คำ คือ ฮีต กับ สิบสอง  ฮีต มาจากคำว่า จารีต”  หมายถึงสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน เรียกว่า จาฮีต หรือ ฮีตสิบสอง ในหนึ่งปี  คองสิบสี่  หมายถึง ครองธรรม 14 อย่าง เป็นกรอบหรือแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างกัน ของผู้ปกครองกับ  ผู้ใต้ปกครองของพระสงฆ์ และ ระหว่างบุคคลทั่วไป เพื่อความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง

จังหวัดร้อยเอ็ดยึดถือ ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นแนวทางปฏิบัติทั้งปีและมีงานบุญครบทุก 12 เดือน งานบุญที่ยิ่งใหญ่ถือเป็นงานประเพณีประจำจังหวัด คือ ฮีตเดือนสี่ หรือบุญเดือนสี่ งาน มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ  คำว่า ผะเหวด เป็นสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า พระเวส หมายถึง  พระเวสสันดร

ตำนาน ความเชื่อ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหล

มูลเหตุแห่งการทำบุญผะเหวด  มีกล่าวไว้ในหนังสือมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยให้ไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะได้จุติกาลลงมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  ทราบความประสงค์ของมนุษย์จากพระมาลัยแล้วจึงสั่งความกับพระมาลัยว่

“หากใครต้องการจะพบและเกิดในสมัยพระศรีอาริย์  ให้ทำแต่ความดี อย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณชี  พราหมณ์ ครูอาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า อย่ายุยงสงฆ์ให้แตกกัน  และต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียว  ท่านทั้งหลายจะได้เกิดร่วมและพบพระองค์”  ด้วยเหตุนี้เอง ชาวร้อยเอ็ดจึงได้ยกเอา ฮีตเดือนสี่  บุญผะเหวด” ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ภายใต้ชื่องาน มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด ถือได้ว่าเป็นงานบุญมหาชาติที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ความหมายของคำว่า “กัณฑ์” คืออะไร?

กัณฑ์” (แปลว่า ส่วนวรรคตอนหมวด) หมายถึง ข้อความส่วนหนึ่ง วรรคหนึ่ง ตอนหนึ่ง หรือ หมวดหนึ่ง ปกติใช้กับการเทศน์ คือข้อความธรรมะที่เทศน์อธิบายจบเรื่องโดยสมบูรณ์ในตอนเดียว เรียกว่ากัณฑ์ เรื่องที่มีเนื้อความยาวซึ่งถูกแบ่งออกเป็นตอนๆ แต่ละตอนก็เรียกว่ากัณฑ์ เช่น เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ถูกแบ่งเป็น 13 ตอน เรียกว่ามี 13 กัณฑ์ 1000 พระคาถาคือ กัณฑ์ทศพร มี 19 พระคาถา กัณฑ์หิมพานต์ มี 134 พระคาถา กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี 209 พระคาถา กัณฑ์วนประเวศน์ มี 57 พระคาถา กัณฑ์ชูชก มี 79 พระคาถา กัณฑ์จุลพน มี 35 พระคาถา กัณฑ์มหาพน มี 80 พระคาถา กัณฑ์กุมาร มี 101 พระคาถา กัณฑ์มัทรี มี 90 พระคาถา กัณฑ์สักกบรรพ มี 43 พระคาถา กัณฑ์มหาราช มี 69 พระคาถา กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี 36 พระคาถา กัณฑ์นครกัณฑ์ มี 48 พระคาถา

ไฮไลท์แสงสีเสียงภายในงาน วันที่ 6-7 มี.ค. ณ บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด

งาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด จัดขึ้นวันศุกร์เสาร์อาทิตย์   วันที่ 6-7-8 มีนาคม 2563 บริเวณบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ไฮไลท์ ร้อยเอ็ด เมืองธรรม เส้นทางสายบุญ กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศมหาชาติการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม 4 ตำนานพระเวสสันดร  ปีนี้นำเสนอชุดการแสดงภายใต้ชื่อ  มหาชาดก ชาติที่ 10 มหาชาติ พระสัพพัญญู นอกจากนั้นยังมี การแห่ข้าวพันก้อน บูชาพระคาถาพัน ทำบุญตักบาตร ขบวนแห่ ฯลฯ

เรื่องย่อของมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์

กัณฑ์ที่๑ “ทศพร” เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ภาคสวรรค์ พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญ ท้าวสักกะเทวราชสวามีทรงทราบจึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร ๑๐ ประการ คือ ให้ได้อยู่ในประสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้คิ้วดำสนิท ขอให้พระนามว่า ผุสดี ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลายและมีใจบุญ ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม และข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้

กัณฑ์ที่๒ หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชาชนสีพีโกรธแค้นจึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกตพระนางผุสดีได้จุติลงมาเป็นพระราชธิดาพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ ๑๖ ชันษาจึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัย แห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า “เวสสันดร”ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงนำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมีให้มีนามว่า “ปัจจัยนาค” เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาก็ยกสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชบิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรส ๑ องค์ชื่อ ชาลี ราชธิดา ชื่อ กัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อพระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกาลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัย จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร

กัณฑ์ที่๓ ทานกัณฑ์” เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลี และกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสาสรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ ๗๐๐

กัณฑ์ที่๔ “วนประเวศน์” เป็นกัณฑ์สี่กษัตริย์เดินดงบ่ายประพักตร์สู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับพักหนาศาลาพระกษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ และเมื่อเสด็จถึงถึงเขาวงกตได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤๅษีพำนักในอาศรมสืบมา

กัณฑ์ที่๕ “ชูชก” เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตตามาเป็นภรรยาและหมายจะได้โอรส และธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชก พนักในบ้านทุนวิฐะ เที่ยวขอทานในเมืองต่างๆ เมื่อได้เงินถึง ๑๐๐ กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมีย แต่ได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัวเมื่อชูชกมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพราหมณ์เจตบุตรผู้รักษาประตูป่า

กัณฑ์ที่๖ “จุลพน” เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงชูชก และชี้ทางสู่อาศรมอจุตฤๅษี ชูชกได้ชูกลักลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของเจ้ากรุงสญชัยจึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี

กัณฑ์ที่๗ “มหาพล” เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกหล่อจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดรแล้วก็รอนแรมเดินไพรไปหา เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกหล่อนจนอจุตฤๅษี ให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่๘ กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงได้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพรากรุ่งเช้าเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้วชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารจึงพากันลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระพระเวสสันดรจึงลงเสด็จติดตามสองกุมาร แล้วจึงมอบให้แก่ชูชก

กัณฑ์ที่๙ กัณฑ์มัทรี” เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรม แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรส พระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ จึงออกเที่ยวหาโอรสและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบส จึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษพระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบนางจึงได้ทรงอนุโมทนา

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ เป็นกรรณที่พระอินทร์เจ้าจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วสลบลงเมื่อได้พบท้าวสักกะเทวราชเสด็จแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรีพระเวสสันดรจึงพระราชทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกะเทวราชในร่างพราหมณ์จึงฝากนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป ตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ

กัณฑ์ที่๑๑ “มหาราช” เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์องค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมารก่อนเสด็จนิวัติถึงมหานครสีพี เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้เหล่าเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร จนเดินทางถึงกรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายยังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพากุมารน้อยสองพระองค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ดับชีพตักษัยด้วยเพราะเดโชธาตุไม่ย่อย ชาลีจูงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครกลิงคะได้โปรดคืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี

กัณฑ์ที่๑๒ “ฉกษัตริย์” เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้า ณ อาศรมดาบสที่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วัน จึงเดินถึงเขาวงกต เสียงโห่ ร้องของทหารทั้ง ๔ เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนนครสีพี จึงชวนนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขาพระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดา ได้ทรงตรัสทูลพระเวสสันดรและเมื่อหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน ท้าวสักกะเทวราชจึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และหวยหาญได้หายเศร้าโศก

กัณฑ์ที่๑๓ “นครกัณฑ์” เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัติพระนครททพระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา พระเจ้ากรุงสัญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรีและเสด็จกลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชนท้าวโกสีห์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนขนเอาตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าคลังหลวง ในการต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ

0 replies on “เชิญชมแสงสีเสียงสื่อผสมยิ่งใหญ่ ตำนานพระเวสสันดร ณ บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 ”